นักกีฬาของญี่ปุ่นไม่เพียงทำผลงานได้น่าประทับใจในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่ ริโอ เดอ จาเนโร แต่เทคโนโลยีของญี่ปุ่นหลายอย่างเป็น “ผู้ชนะ” ตัวจริงในโอลิมปิกครั้งนี้
ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เมืองริโอ เดอ จาเรโน มีการแสดงที่เหล่านักเต้นวิ่งและกระโดดข้ามจากตึกสูงหลายตึกต่อหน้าต่อตาผู้ชม ภาพของตึกสูงที่ผุดขึ้นมาจากพื้นสนามนี้ ถูกสร้างขึ้นอย่างสมจริงด้วยจอโปรเจกเตอร์แบบความคมชัดสูงของบริษัท พานาโซนิก
เทคโนโลยีฉายภาพผ่านจอโปรเจกเตอร์หลายจอต่อเนื่อง หรือ Projection-mapping เป็นนวัตกรรมที่พานาโซนิกภาคภูมิใจ โดยในริโอ โอลิมปิก ครั้งนี้ ทางพานาโซนิกได้ติดตั้งจอโปรเจกเตอร์มากถึง 110 ตัว เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวจากโอลิมปิกที่ กรุงลอนดอน ในปี 2012
พานาโซนิกได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการโอลิมปิกของบราซิล ให้รับผิดชอบระบบแสงสีเสียงในพิธีเปิดและปิดมหกรรมโอลิมปิกครั้งนี้
บริษัทของญี่ปุ่นจำนวนมากได้รับความไว้วางใจ ให้ใช้เทคโนโลยีในมหกรรมโอลิมปิกที่ริโอ เดอ จาเดโร NEC Corp บริษัทอิเลกทรอนิกส์ของญี่ปุ่น ก็ได้สิทธิ์ในการติดตั้งระบบสื่อสารในสนามกีฬาทางน้ำ ทั้งระบบกล้องวงจรปิด, ระบบตรวจจับควันไฟ, ระบบเสียง, ระบบปรับอากาศ รวมทั้งระบบแสงสว่างด้วย
ขณะที่ในสนามฟุตบอล กระจกพิเศษที่ผลิตโดย Asahi Glass Co กว่า 1,300 แผ่น ถูกใช้เพื่อป้องกันจอวิดีโอยักษ์และอุปกรณ์อื่น รวมพื้นที่กว่า 3,400 ตารางเมตร
ด้านระบบคมนาคม เส้นทางรถไฟที่เชื่อมระหว่างสนามกีฬาในกรุงริโอ เดอ จาเนโร กับย่านชานเมือง ดำเนินการโดยเงินสนับสนุนของบริษัท มิตซุย และบริษัท เจอาร์ เวสต์ ผู้ให้บริหารรถไฟของญี่ปุ่น
Bridgestone Corp. ได้สนับสนุนระบบรถเมล์ความเร็วสูง ซึ่งระบบตรวจจับสภาพและปริมาณลมของยางรถได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิง
เทคโนโลยีของญี่ปุ่นนับเป็น “เจ้าเหรียญทอง” ตัวจริงในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่ริโอ เดอ จาเนโร ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญในพื้นที่อเมริกาใต้ ซึ่งปกติแล้วจะนิยมเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา และจีน.