xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นหวังส่งออก “วงไอดอล” บุกไทย...ความฝันบนเส้นทางกันดาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บริษัทบันเทิงของญี่ปุ่นผู้สร้างวงไอดอล AKB48 จนโด่งดัง หวังขยายตลาดต่างประเทศ โดยสร้างกลุ่มศิลปินท้องถิ่นซึ่งในประเทศไทยใช้ชื่อว่า BNK 48 หากแต่เส้นทางความฝันนี้ยากจะประสบความสำเร็จได้

สื่อมวลชนญี่ปุ่นรายงานข่าวการจัดออดิชันคัดเลือกเด็กสาวไทยเพื่อเข้าร่วมในวงไอดอล BNK 48 ซึ่งเป็นกลุ่มศิลปินแนวเดียวกับวง AKB48 ที่ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่น โดยได้รับความสนใจจากเยาวชนไทยเข้าร่วมประกวดจำนวนมาก ซี่งนอกจากที่ไทยแล้ว AKB48 ยังหวังจะสร้าง “วงพี่น้อง” ในไต้หวันใช้ชื่อว่า TPE48 และในฟิลิปปินส์ใช้ชื่อว่า MNL48 ด้วย



AKB48 แตกต่างจากศิลปินในอดีต คือ เป็นกลุ่มเด็กสาวที่ถูกคัดเลือกผ่านการแข่งขันและการโหวต ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำ กลุ่มศิลปินสาวเหล่านี้จึงไม่ได้เป็นที่รู้จักโดยสมาชิกคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่ถูกสร้างขึ้นในลักษณ์ของ “สถาบัน” ที่สืบทอดต่อกันเป็นรุ่น ๆ ความสำเร็จของ AKB48 ไม่เพียงทำให้วงการบันเทิงญี่ปุ่นคึกคักขึ้น แต่ยังสามารถ “ขายแฟรนไชส์” โดยสร้างวงไอดอลแบบเดียวกันตามเมืองต่างๆของญี่ปุ่น

ผู้ปลุกปั้น AKB48 จากญี่ปุ่นจึงหวังว่าจะขยายตลาดมายังต่างประเทศ โดยคาดหวังความสำเร็จแบบเดียวกับศิลปินจากเกาหลี

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการบันเทิงจำนวนหนึ่งประเมินว่า ความฝันที่จะสร้างศิลปินแนวญี่ปุ่นในไทยนั้นยากยิ่งกว่า “เข็นครกขึ้นภูเขา”

บันเทิงญี่ปุ่นหายจากไทยนานกว่า 20 ปี

ในอดีตสื่อบันเทิงจากญี่ปุ่นทั้งการ์ตูน, ละคร และดนตรีเคยได้รับความนิยมในไทย โดราเอมอน, โอชิน, X-Japan, อายูมิ ฮามะซากิ เคยเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทย หากแต่ในช่วงกว่า 20 ปีมานี้ แทบจะไม่มีศิลปินญี่ปุ่นรายใดที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างในประเทศไทยเลย แม้แต่ AKB48 ที่โด่งดังในญี่ปุ่นก็มีกลุ่มแฟนคลับในไทยจำนวนไม่มากนัก ยิ่งเมื่อมีอุปสรรคด้านภาษาด้วยแล้ว การเข้าถึงและเข้าใจศิลปินต่างชาติของคนไทยจึงยิ่งยากลำบากขึ้นไปอีก

แกรมมี่ อาร์เอสยังอยู่ยาก บันเทิงต่างประเทศแทบปิดประตู

ธุรกิจบันเทิงได้เปลี่ยนโฉมอย่างสิ้นเชิง ศิลปินไม่อาจพึ่งพาการ “ขายเพลง” เพียงอย่างเดียว นักร้องล้านตลับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีวันหวนกลับมาอีกแล้ว รายได้ของศิลปินวันนี้จึงมาจากการจัดกิจกรรม,คอนเสิร์ต, ขายเพลง 1 - 2 เพลงผ่านการดาวน์โหลด และขายสินค้าที่ระลึกต่าง ๆ

ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่างแกรมมี่และอาร์เอสยังต้องผันตัวเองสู่ธุรกิจใหม่ คือ สถานีทีวีดิจิตอล แล้วบริษัทต่างชาติที่แทบไม่มีฐานในประเทศไทยเลยจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร?

กรุงเทพฯไม่ใช่โตเกียว

ในญี่ปุ่น ศิลปินยังพอจะขายผลงานได้ เนื่องจากมีการคุ้มครองลิขสิทธิ์อย่างเข้มงวด หากแต่ในประเทศไทยซึ่งเต็มไปด้วยแผ่นผีซีดีเถื่อน จนถึงการดาวน์โหลดฟรีผ่านอินเตอร์เนตทำให้รายได้แทบไม่ตกไปถึงเจ้าของผลงาน

บทวิเคราะห์ในสื่อญี่ปุ่น ระบุว่า ถึงแม้คนไทยชื่นชอบญี่ปุ่นและเดินทางมาเที่ยวญี่ปุ่นจำนวนมาก แต่เป็นคนละเรื่องกับสื่อบันเทิง เพราะการเสพสื่อต้องอาศัย “ความผูกพันทางวัฒนธรรม” มากกว่า

งานออดิชั่น BNK 48 ที่กรุงเทพฯ ถึงแม้จะมีผู้สนใจเข้าประกวดจำนวนหนึ่ง แต่เป็นเพราะเด็กยุคใหม่ชอบการประกวดแข่งขัน เยาวชนจำนวนหนึ่งเดินสายเข้าประกวดในรายการต่าง ๆ ในไทย แต่การประกวดนี้เป็นเพียง “ก้าวที่หนึ่ง” ของเส้นทางวิบากในวงการบันเทิง

การสร้าง BNK48 ในไทยยังถูกวิจารณ์ถึงความไม่เป็นมืออาชีพของทีมงาน ทั้งในส่วนของงานออดิชันและการสื่อสาร ความคืบหน้าต่าง ๆ ล้วนแต่มาจากกลุ่มแฟนคลับทำขึ้นเอง เว็บไซต์ทางการของ BNK48 แทบไม่มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ การสื่อสารโดยแทบไม่อาศัยสื่อมวลชนหลักทำให้การสร้างกระแสทำได้ยากยิ่ง

วัยรุ่นญี่ปุ่นมีรายได้ วัยรุ่นไทยขอตังก์พ่อแม่

AKB48 ถูกออกแบบให้เป็นขวัญใจของกลุ่มเด็กนักเรียนมัธยม และผู้ชายที่เรียกกันว่า “โอตาคุ” คนกลุ่มนี้ยอมทุ่มเงินเพื่อใกล้ชิดกับไอดอลสาวในฝัน หากแต่ในโลกแห่งความจริงแล้ว เหล่า “โอตาคุ” ก็คือกลุ่มคนที่แสวงหาความสุขจากการเพ้อฝัน

ปัจจัยสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับ AKB48 คือ งานอีเวนท์และการขายสินค้าต่าง ๆ ซึ่งวัยรุ่นญี่ปุ่นส่วนใหญ่ทำงานพิเศษ ที่เรียกกันว่า “อะรุไบต์” จึงมีรายได้มากพอที่จะซื้อสินค้า หรือเข้าร่วมกิจกรรมกับเหล่าไอดอลได้ หากแต่เด็กมัธยมไทยยังคงพึ่งพารายได้จากครอบครัวเป็นหลัก

วัยรุ่นญี่ปุ่นสามารถสามารถเดินทางไปชมคอนเสิร์ตตามเมืองต่าง ๆ, ซื้อสินค้า หรือ แม้แต่ยอมเสียเงินเพื่อให้ได้จับมือกับไอดอลสาว หากแต่วัยรุ่นไทยที่หารายได้ด้วยตัวเองนั้นค่อนข้างน้อยมาก

เกาหลีดังเพราะรัฐหนุนเต็มสูบ

ความสำเร็จของศิลปินจากเกาหลีในต่างประเทศเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นหวังจะลอกแบบบ้าง หากแต่ความโด่งดังของศิลปินแดนโสมนั้นได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นระบบจากรัฐบาลและหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลีเพื่อบุกตลาดในต่างแดน ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นต้องต่อสู้อย่างโดดดี่ยว

“กระแส K-POP” ที่ไหลบ่ามานานกว่า 10ปีนั้น ส่วนใหญ่มาจากละครและการท่องเที่ยว ขณะที่ศิลปินนักร้องดังจริง แต่แปรเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินไม่มากมายนัก

สิ้นยุคดาวค้างฟ้า สู่ยุคไอดอลฉาบฉวย

AKB48 ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น หากแต่ความเป็นจริงแล้ว วงไอดอลต่าง ๆ ล้วนอยู่ในสภาพ “คนรักเท่าผืนหนังคนชังเท่าผืนเสื่อ” คือ เป็นที่รู้จัก แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจมากมายนัก

ชาวญี่ปุ่นเห็นว่า วงไอดอลเป็นเพียง “ของเล่นดูสนุก” เท่านั้น เมื่อสมาชิกคนหนึ่งหมดความนิยมก็คัดเลือกคนใหม่ขึ้นมาแทน สมาชิก AKB48 ที่หมดความนิยมไปบางคนหันไปเป็นนักแสดงภาพยนตร์วาบหวิว หรือ AV ก็มี

ความสำเร็จของ AKB48 คือ สามารถต่ออายุความนิยมได้ยาวนาน ทั้งจากการสร้างสมาชิกใหม่ และ “เพิ่มดีกรี” จากวงไอดอลสาววัยใสให้เซ็กซีมากขึ้น จากกระโปรงสั้นสู่ชุดว่ายน้ำ จากสาวหวานสู่สาวหวิว แต่กระแสนี้เป็นเหมือนพลุ ที่ “สว่างไสวเพียงพริบตา” ซึ่งผู้ลร้าง AKB48 เองก็ถูกจับตาว่าจะสามารถต่ออายุวงไอดอลสาวนี้ไปได้นานแค่ไหน?

กำลังโหลดความคิดเห็น