xs
xsm
sm
md
lg

Exclusive! จับตาศึกเลือกตั้งวุฒิสภาญี่ปุ่น วัดศรัทธารัฐบาลอะเบะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


การเลือกตั้งวุฒิสภาของญี่ปุ่น ในวันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคมนี้เป็นหมากก้าวสำคัญอย่างยิ่งเพื่อปูทางสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแผนของนายกฯอะเบะ และยังเป็นการวัดศรัทธาของรัฐบาลครั้งสำคัญที่สุดด้วย

ศึกเลือกตั้งวุฒิสภาของญี่ปุ่นครั้งนี้ดุเดือดยิ่งกว่าครั้งใด ๆ ถึงขนาดที่นักวิชาการและสื่อมวลชนญี่ปุ่น ระบุว่าจะเป็นก้าวสำคัญที่อาจเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่น เนื่องจากรัฐบาลของนายกฯ ชินโซ อะเบะ ตั้งเป้าหมายยึดเสียงข้างมากให้ได้ 2 ใน 3 ของสภาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ญี่ปุ่นมีบทบาททางทหารมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดหลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

พรรค LDP ที่นำโดยนายอะเบะ ร่วมกับพรรคการเมืองอื่น 4 พรรค มีจุดยืนแก้ไขรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น โดยพรรครัฐบาลมีเสียงท่วมท้น 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว และต้องการเสียง 2 ใน 3 ของวุฒิสภาเพื่อผ่านญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะนำไปสู่การลงประชามติของชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศ

การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาญี่ปุ่นมีขึ้นทุก 3 ปี ซึ่งจะเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาครึ่งหนึ่งของสภา จากทั้งหมดที่มีอยู่ 242 ที่นั่ง โดยแบ่งเป็นระบบแบ่งเขตและระบบบัญชีรายชื่อ นายกฯ ชินโซ อะเบะ ประเทศว่า พรรคร่วมรัฐบาลมุ่งจะได้เสียงข้างมาก คือ มากกว่า 61 ที่นั่ง จากที่ชิงชัยกันทั้งหมด 121 ที่นั่ง

พรรคฝ่ายค้านผนึกกำลังต้านรัฐบาลอะเบะ

พรรครัฐบาลได้ใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ผลักดันชุดกฎหมายความมั่นคงจนผ่านสภาเมื่อปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการประท้วงของประชาชนจำนวนมหาศาล และการคัดค้านของนักวิชาการ และนักกฎหมายจำนวนมาก การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ว่าชาวญี่ปุ่นเห็นด้วยกับชุดกฎหมายความมั่นคงหรือไม่?

ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านของญี่ปุ่นได้ทำทุกวิถีทางเพื่อยับยั้งไม่ให้พรรครัฐบาลได้เสียงข้างมากในวุฒิสภา พรรคประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้านถึงกับควบรวมกับพรรคขนาดกลางอีกพรรคหนึ่ง และเปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า”

นอกจากนี้ พรรคฝ่ายค้าย 4 พรรคยังส่งผู้สมัครร่วมกันในหลายเขตเลือกตั้ง เพื่อแข่งกับผู้สมัครของพรรครัฐบาลแบบ “ตัวต่อตัว” ถึงขนาดที่ประกาศว่า “หากต่อต้านรัฐบาลอะเบะ โปรดเลือกผู้สมัครของฝ่ายค้าน”

วัดศรัทธารัฐบาล หลัง “อะเบะโนมิกส์” เสื่อมมนต์ขลัง

นโยบายทางเศรษฐกิจของนายอะเบะที่ใช้มานานกว่า 3ปี และส่อแววว่าไม่อาจจะฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้เหมิอนราคาคุยก็จะถูกพิสูจน์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกส่งผลทำให้ค่าเงินเยนแพงขึ้นทุบสถิติ จนกระทั่งรัฐบาลต้องตัดสินใจเลื่อนกำหนดการขึ้นภาษีผู้บริโภคออกไปอีก 2 ปีครึ่งนั้น

นายชินโซ อะเบะ ได้เริ่มรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งจากคุมะโมะโตะ โดยประกาศว่าจะถ่ายทอดให้ทั่วญี่ปุ่นรับรู้ถึงความมุ่งมั่นในการฟื้นฟูคุมะโมะโตะหลังเหตุแผ่นดินไหว การต่อสู้ครั้งนี้จะชี้ว่าจะเลือกเดินหน้าอะเบะโนมิกส์ต่ออย่างห้าวหาญเพื่อให้ญี่ปุ่นเติบโตและเจริญในทุกภูมิภาค หรือว่าจะย้อนกลับไปสู่เมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งเป็นยุคแห่งความมืดมนและความซบเซา

ด้าน นายคะสึยะ โอะกะดะ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ระบุว่า อะเบะโนมิกส์แทบไม่มีผลใด ๆ หนุ่มสาวจำนวนมากยังคงยากลำบากถึงขนาดที่ไม่สามารถแต่งงานได้ แม้จะมีอายุถึง 30 หรือ 40 กว่าปีก็ตาม มีเพียงบริษัทยักษ์ใหญ่เพียง 0.1% เท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากอะเบะโนมิกส์ แต่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัว

พรรคฝ่ายค้านชี้ว่า การเลื่อนการขึ้นภาษีผู้บริโภค คือ ประจักษ์พยานที่ชี้ชัดว่า นโยบายเศรษฐกิจของนายอะเบะไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นดีขึ้นจริงดั่งราคาคุย

เลือก “หนุน” หรือ “ต้าน” รัฐบาล มากกว่านโยบาย

นักวิชาการและสื่อมวลชนญี่ปุ่น มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้วัดกันที่นโยบายของพรรคการเมือง แต่กลายเป็นเลือกว่าสนับสนุน หรือต่อต้านรัฐบาลของนายอะเบะ เพราะพรรคฝ่ายค้านก็ไม่ได้เสนอนโยบายที่ชัดเจน แต่กลับรณรงค์ให้ประชาชนเลือกผู้สมัครของแนวร่วมฝ่ายค้าน เพื่อสกัดกั้นไม่ให้พรรครัฐบาลได้เสียงข้างมากในวุฒิสภาเท่านั้น

ศึกเลือกตั้งวุฒิสภาครั้งนี้ ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ “ทุ่มสุดตัว” ทั้งกลยุทธ์ทางการเมือง เช่น การยอม ”กลืนน้ำลาย” เลื่อนการขึ้นภาษีของรัฐบาล และการยุบและควบรวมของพรรคฝ่ายค้าน นอกจากนี้ ทุกพรรคการเมืองยังเห็นชอบร่วมกันให้ลดอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 20 ปี เป็น 18 ปี เพื่อหวังคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่อีก 2.4 ล้านคน หากแต่เมื่อสำรวจบรรยากาศก่อนการเลือกตั้ง กลับพบว่าชาวญี่ปุ่นไม่ได้กระตือรือร้นกับการเลือกตั้งครั้งนี้มากนัก จนเหมือน “สิ้นหวัง” กับนักการเมือง ไม่แตกต่างจาก “หมดหวัง” กับเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น