ผลการวิจัยของญี่ปุ่น พบว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายกว่าร้อยละ 50 เลือกใช้วันเกิดเป็นวันจบชีวิตของตัวเอง นอกจากนี้ สถิติผู้ที่เสียชีวิตระหว่างฉลองวันเกิดก็สูงกว่าวันปกติเช่นเดียวกัน
ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยโอซากา พบว่า การฆ่าตัวตายยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะในวันเกิดตัวเองถูกเลือกใช้เป็น “วันบอกลาโลก” มากถึงร้อยละ 50 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายทั้งหมด
ผศ.เทสึยะ มัตสึบายาชิ ได้รวบรวมข้อมูลผู้ที่ฆ่าตัวตายในชีวิตมากกว่า 2 ล้านกรณี ตั้งแต่ปี 1974 ถึงปี 2014 และพบว่า ชาวญี่ปุ่นเลือกใช้วันเกิดฆ่าตัวตายมากที่สุด โดยเป็นอาการที่เรียกกันว่า “ภาวะเศร้าซึมในวันเกิด” เนื่องจากการอยู่ลำพังในวันเกิดของตัวเอง ที่ควรจะเป็นวันเฉลิมฉลองได้ตอกย้ำความโดดเดี่ยวอ้างว้าง จนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป
นอกจากนี้ หลายคนมักใช้วันเกิดตัวเป็น “หลักหมาย” ในการประเมินความก้าวหน้าในชีวิต และเมื่อพบว่าตนเองแก่ลง โดยไม่ได้มีความสำเร็จอะไรจึงรู้สึกว่าตัวเองตกต่ำและไม่มีกำลังใจสู้ชีวิตต่อไป
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีคนที่ฆ่าตัวตาย 20 รายต่อประชากร 1 แสนคน ผู้ที่คุ้นเคยกับญี่ปุ่นคงมีประสบการณ์ที่รถไฟต้องหยุดวิ่ง เพราะมีผู้ที่กระโดดให้รถไฟชนตายซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ผลการศึกษายังพบว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในวันเกิดก็มีมากกว่าวันปกติเช่นเดียวกัน ทั้งอุบัติเหตุจากการจราจร, การพลัดตกจากที่สูง หรือ สำลักอาหาร เพราะเมื่อฉลองวันเกิดมักเพลิดเพลินจนขาดสติ หรือดื่มเหล้าจนเมามาย นำไปสู่การเสียชีวิตได้ง่าย
นักวิชาการชาวญี่ปุ่น หวังว่า ผลการวิจัยนี้จะช่วยให้ครอบครัว, เพื่อนฝูง หรือคนใกล้ชิด รวมทั้งภาครัฐใส่ใจปัญหาการฆ่าตัวตายมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้ “วันที่สุขที่สุด” ต้องกลาย “วันที่เศร้าที่สุด”.