xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อคนญี่ปุ่นรู้เรื่องไทย มากกว่าคนไทยรู้เรื่องญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ก่อนจะมาสอนวรรณกรรมไทย

นับตั้งแต่คอลัมน์ “ญี่ปุ่นมุมลึก” ได้รับการริเริ่มขึ้นด้วยสายตามองการณ์ไกลของบรรณาธิการ วริษฐ์ ลิ้มทองกุล ว่าด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับญี่ปุ่น พอสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ คอลัมน์ก็จะครบ 1 ปีพอดี และเนื่องจากผมยังไม่เคยแนะนำตัวเป็นกิจจะลักษณะ ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะครบรอบปี จึงตั้งใจจะบอกเล่าให้นักอ่านชาวไทยได้ทราบถึงที่มาของตัวเอง และสิ่งที่มีตัวเองมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องในบริบทของญี่ปุ่น โดยเฉพาะเรื่องไทยศึกษา ทว่า การได้ทราบเกี่ยวกับตัวผมในฐานะคนเขียนคงไม่สำคัญเท่ากับการได้ทราบว่า คนญี่ปุ่นรู้อะไรเกี่ยวกับไทย (โดยมีผมเป็นส่วนหนึ่งของสะพานที่เชื่อมโยงช่องว่างนั้น) และนั่นคือ วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการนำเรื่องกึ่งส่วนตัวมาบอกกล่าว

มีคนจำนวนไม่น้อยสงสัยว่าผมทำอะไรอยู่ในญี่ปุ่น จนบัดนี้ก็เกือบ 20 ปีแล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมทำอะไรอยู่ในมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น? คำตอบคือ ผมไปเรียน และในที่สุดก็สอนหนังสือเป็นอาจารย์ประจำอยู่ในมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น, คำถามต่อไปคือ ผมสอนอะไรอยู่ในมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นและสอนใคร คำตอบคือ ตามหน้าที่หลักแล้ว ผมสอนวรรณกรรมไทยและภาษาไทยให้แก่นักศึกษาที่เป็นคนญี่ปุ่น, คำถามต่อไปคือ คนญี่ปุ่นเรียนสิ่งเหล่านั้นจริงหรือ และทำไมถึงเรียน, คำตอบคือ โปรดอ่านต่อไปเรื่อย ๆ

หลายคนที่รู้จักผมเป็นการส่วนตัวทราบว่า ภูมิหลังด้านการศึกษาแรกเริ่มของผมต่างจากสิ่งที่สอนอยู่ในปัจจุบัน ชนิดที่แทบไม่น่าจะเอนเอียงมาเกี่ยวกันได้ คือ เดิม—เศรษฐศาสตร์, ปัจจุบัน—วรรณคดีและภาษา ในระดับปริญญาตรีนั้น ผมเรียนเศรษฐศาสตร์ เป็นเศรษฐศาสตรบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างนั้นเคยเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยวะเซะดะในญี่ปุ่นประมาณ 1 ปี เมื่อจบจากจุฬาฯ แล้ว ผมก็ไปทำงานอยู่ในธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์ ที่นครซูริก เป็นช่วงสั้น ๆ ก่อนจะได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโทที่ญี่ปุ่น ซึ่งผมก็เลือกไปมหาวิทยาลัยวะเซะดะอีก และยังคงเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ โดยเน้นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจญี่ปุ่น
มหาวิทยาลัยวะเซะดะ
มหาวิทยาลัยวะเซะดะ
เมื่อเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน สาขาที่เลือกคือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่จุดเน้นคือ “ไทยศึกษา” และงานดุษฎีนิพนธ์ที่ผมเขียนเพื่อให้จบปริญญาเอกนั้น ออกไปในแนวสังคมและมนุษยศาสตร์ ซึ่งได้แก่ นวนิยายการเมืองของไทย เมื่อมาถึงตรงนี้ คงจะเห็นภาพชัดขึ้นว่า ทำไมคนที่เรียนเศรษฐศาสตร์มาแต่เดิม ถึงได้จับพลัดจับผลูมาสอนวรรณคดีไทย

เดิมผมเป็นคนที่อ่านหนังสือน้อย คิดว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเพื่อน ๆ หลายคนในรุ่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นหนังสืออ่านเรียนหรืออ่านเล่นก็ตาม และเป็นคนที่อ่านหนังสือช้า แต่เมื่อไปเรียนที่ญี่ปุ่น และไม่มีอะไรให้ทำมากนักในช่วงแรก ๆ จึงคิดที่จะเริ่มหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านจริงจัง ครั้นจะอ่านหนังสือเรียนก็หนักหนาสาหัสเหลือเกินเพราะเป็นภาษาญี่ปุ่นแทบทั้งหมด จึงฉวยนิยายมาอ่านคั่นเวลา จากจุดนั้นจึงเริ่มกลายเป็นคนอ่านหนังสือมากขึ้น ผลงานของนักเขียนที่ผมอ่านมากที่สุด คือ ของคุณหญิง วิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี) ทุกนามปากกา ซึ่งก็ส่งอิทธิพลต่อสำนวนการเขียนของผม ดังที่ผู้อ่าน “ญี่ปุ่นมุมลึก” หลาย ๆ ท่านอาจจะรู้สึกได้
คู่กรรม ฉบับภาษาไทย และ คู่กรรม ฉบับภาษาญี่ปุ่น
การเริ่มอ่านนิยายกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความรู้ด้านวรรณกรรมแซงหน้าความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ไปในเวลาไม่นาน จนเมื่อผมเรียนจบจากวะเซะดะ ก็ประจวบเหมาะกับที่ Tokyo University of Foreign Studies รับสมัครอาจารย์เพื่อสอนวรรณกรรมไทยและภาษาไทย ผมจึงได้เข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้

ไทยศึกษา

คงต้องยอมรับตามตรงว่า ผมรู้จัก “ไทยศึกษา” เมื่ออยู่ในต่างประเทศ ก่อนหน้านั้น ไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่ามีคนต่างชาติที่สนใจประเทศไทยอยู่มากมายตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลก และโดยเฉพาะในญี่ปุ่น มีผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษาที่เป็นคนญี่ปุ่นหลายคน ในจำนวนเหล่านี้ มีหลายท่านที่รู้ภาษาไทยแตกฉาน โดยเฉพาะหนึ่งในนั้นได้แก่อาจารย์ของผมเองที่มหาวิทยาลัยวะเซะดะ เช่น ครั้งหนึ่งผมแปลบทความของอาจารย์จากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยโดยแปลลงไปว่า “...เขียนหนังสือ” แต่อาจารย์แก้กลับมาว่า คำที่ถูกต้องคือ “...เกษียนหนังสือ” เพราะอยู่ในบริบททางประวัติศาสตร์

ผมรู้สึกทึ่งที่อาจารย์ทราบถึงขนาดนั้น และรู้สึกชื่นชมที่คนญี่ปุ่นเมื่อศึกษาสิ่งใดก็จะทำอย่างจริงจังและเจาะลึกให้ถึงแก่น ระหว่างอยู่ในญี่ปุ่น ผมได้พบคนญี่ปุ่นหลายคนที่รู้ภาษาไทย และเคยสงสัยมาตลอดว่า คนญี่ปุ่นเรียนภาษาไทยไปเพื่ออะไรทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ภาษาหลักของโลก นอกจากนี้ เมื่อตรวจดูจะพบว่า คนญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญด้านเมืองไทยนั้นมีทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง ประวัติศาสตร์ หรือถ้าจะยกตัวอย่างแบบเจาะจง เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านคนจีนในประเทศไทย ด้านพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ด้านภาษาไทย ด้านรถไฟไทย ด้าน เสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นต้น บางเรื่องรู้ลึกกว่าคนไทยเสียด้วยซ้ำ คำถามคือ ทำไมคนญี่ปุ่นถึงเรียนรู้เรื่องพวกนี้?

ผมสงสัยอยู่นาน จนกระทั่งได้เข้าทำงานในสถาบันที่เน้นการถ่ายทอดความรู้ด้านการต่างประเทศ และยังมีโอกาสได้เข้าไปสอนที่กระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นอีก จากเดิมที่เคยสันนิษฐานคำตอบไว้เองคร่าว ๆ คราวนี้จึงได้รับการยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “คนญี่ปุ่นมีแนวโน้มชอบการรู้ลึก มากกว่าการรู้กว้าง” ญี่ปุ่นมีผู้เชี่ยวชาญแบบเจาะลึกแทบทุกด้าน บางด้านอาจมีมาก บางด้านอาจมีน้อยแตกต่างกันไป แต่เมื่อถามหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มักจะมีเสมอ สำหรับจุดนี้ ผมรู้สึกชื่นชมจากใจจริงว่าสมแล้วที่เป็นประเทศพัฒนา เพราะรู้ลึก รู้จริง และเลือกที่จะรู้ในสิ่งที่ตัวเองสนใจได้โดยไม่ถูกปิดกั้นโอกาสแม้สิ่งนั้นอาจไม่มี “ตลาด” รองรับมากนั้น และการรู้อะไรก็รู้ให้ถึงที่สุดตามลักษณะนิสัยคนญี่ปุ่นนั้นได้นำไปสู่การวิจัยเชิงลึกในระบบการศึกษาของญี่ปุ่น รวมทั้งเรื่องการเรียนภาษาไทยของคนทั่วไปก็เช่นกัน กล่าวคือ รู้จักเมืองไทย แต่แค่รู้และไปเที่ยวยังไม่เพียงพอ ต้องรู้ด้วยว่าภาษาไทยพูดยังไง!

สำหรับผม อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับตามตรง คือ ผมไม่ชอบทำงานวิจัยเท่าไรนัก ชอบเรียนหนังสือมากกว่า ปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ แต่ด้วยอาชีพการงาน ถึงแม้มีบางสิ่งที่ไม่ชอบ แต่เราก็ค่อยๆ เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันได้อย่างสงบ เมื่อบอกอย่างนี้ คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการการศึกษาอาจจะงงอีกว่า “แล้วการวิจัยคืออะไร?”, “ต่างจากการเรียนหนังสืออย่างไร?” ตอบแบบง่าย ๆ คือ การวิจัยคือการค้นหาและค้นให้พบคำตอบใหม่ๆ สำหรับสิ่งที่ยังคลุมเครืออยู่ ส่วนการเรียนหนังสือคือการรับสารหรือความรู้ที่มีอยู่แล้วเข้าสู่สมอง นั่นหมายความว่า การเรียนหนังสือคือการใส่ความรู้พื้นฐานเข้าสู่สมอง เพื่อให้นำไปคิดต่อยอดและศึกษาค้นคว้าให้พบสิ่งใหม่ ๆ ออกมา

จะเห็นได้ว่าการวิจัยยุ่งยากกว่าการเรียนหนังสือ เพราะต้องค้น และคว้าเอามาคิดให้ได้ข้อสรุป คงเพราะเหตุนี้นี่เองผมถึงไม่ชอบการทำงานวิจัย และต้องยอมรับอย่างชื่นชมคนญี่ปุ่นอีกว่า คนญี่ปุ่นเก่งมากในด้านการวิจัย เพราะโดยอุปนิสัย ดูเหมือนคนญี่ปุ่นมีความอึดอยู่ในสายเลือด และมีความสามารถพิเศษในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำ ๆๆๆๆๆ กันไปได้เป็นเวลาเนิ่นนาน ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของนักวิจัย ดังนั้น ต่อให้เป็นเรื่องเล็กขนาดไหน หรือเป็นเรื่องที่ดูเหมือนไม่มีใครสนใจ คนญี่ปุ่นก็จะไปขุดและหยิบขึ้นมาวิจัยจนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นไปเลย ซึ่งผมมองว่าไทยศึกษาก็เป็นหนึ่งในนั้นเมื่อเทียบกับองค์ความรู้สาขาอื่น ๆ

แม้วรรณคดีไทยกับคนญี่ปุ่นอาจดูเป็นเรื่องห่างไกลกัน แต่ด้วยอุปนิสัยส่วนตัวของคนญี่ปุ่นดังที่ผมประมวลข้างต้นบวกกับการมองการณ์ไกลในแง่ที่ว่าญี่ปุ่นกับไทยมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน การเรียนภาษาไทยและเรื่องอื่น ๆ เกี่ยวกับไทย รวมทั้งวรรณคดีและวัฒนธรรมไทยในระดับมหาวิทยาลัย จึงไม่ใช่เรื่องที่อยู่นอกเหนือกรอบความคิดของคนญี่ปุ่น

ผมต่างจากนักวิจัยด้านไทยศึกษาในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ตรงที่ว่า ผมเป็นคนไทย และคงเพราะเหตุนี้ด้วย ผมจึงได้รับมอบหมายให้สอนวรรณกรรมไทยแก่คนญี่ปุ่นที่รักจะเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมไทย ผมเองในฐานะคนสอน ก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่า สักวันจะต้องมาสอนลิลิตพระลอ, พระอภัยมณี, สังข์ทอง, ขุนช้างขุนแผน, โคลงโลกนิติ, “ท่อนแขนนางรำ” ของมนัส จรรยงค์, “ความสุขของกะทิ” ของงามพรรณ เวชชาชีวะ, “น้ำตก” ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์, “เขาชื่อกานต์” ของสุวรรณี สุคนธา, “คู่กรรม” ของทมยันตี, “ข้างหลังภาพ” ของศรีบูรพา, “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ของวีรพร นิติประภา ฯลฯ เป็นภาษาญี่ปุ่นให้คนญี่ปุ่นได้เรียนรู้กัน แต่ทุกครั้งที่เข้าห้องสอน ก็ภูมิใจทุกครั้ง
ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต
สมัยก่อน ผมก็เคยสงสัยว่าเราจะเรียนวรรณกรรมไปเพื่ออะไร? หรือแม้แต่เมื่อเริ่มอ่านนิยายใหม่ ๆ ตอนไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน รู้เพียงว่าอ่านแล้วสนุก (แต่ก็ไม่ทุกเรื่อง) จนกระทั่งได้เริ่มทำงานที่ Radio Japan ของ NHK ระหว่างที่เรียนไปด้วยและได้เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมผู้ใหญ่วัยทำงาน ถึงได้เริ่มรู้ว่า “ทำไมเราต้องเรียนวรรณกรรม”

และเมื่อได้สอนวรรณกรรมด้วยตัวเองอีก จึงบอกนักศึกษาได้ว่า “คุณเรียนวรรณกรรมเพื่อให้รู้ว่ามนุษย์เป็นยังไง” เพราะหลาย ๆ อย่างในชีวิต ไม่มีใครสอนเราได้ โดยเฉพาะเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว แทบไม่มีใครจะมาดุเราได้หรือสอนเราได้แล้ว แต่นิยายได้ย่อโลกลงมาไว้ในหน้ากระดาษ และบอกให้เรารู้ว่าในหัวของมนุษย์ตัวเป็น ๆ นั้น มีความคิดอะไรต่ออะไรที่ซับซ้อนอยู่บ้าง พอหวนกลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง เราก็จะอ่านคนได้กว้างขึ้น และรู้ว่าในหัวของคนแต่ละคน มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน มีความดีความเลว ที่เราต้องปรับตัวอยู่กับมันให้ได้

และนอกจากนี้ “คุณเรียนวรรณกรรมไทยเพื่อให้รู้ว่าคนไทยคิดยังไง” เช่น “ถ้ารักใครชอบใคร คุณจะทำยังไงเพื่อให้ชนะใจอีกฝ่าย” ผมบอกนักศึกษาว่า สำหรับคนไทย นอกจากการชนะใจฝ่ายตรงข้ามด้วยความดี อีกวิธีหนึ่งซึ่งยังคงมีอยู่ในสังคมไทย ดังที่เห็นได้จากพระเพื่อนพระแพงในลิลิตพระลอคือ “ทำเสน่ห์”...นักศึกษาญี่ปุ่นงง แต่นั่นคือเรื่องจริงที่ยังไม่หมดไปแม้ลิลิตพระลอแต่งมาหลายร้อยปีมาแล้วก็ตาม หรืออีกคำถามหนึ่ง ผมถามว่า “คิ้วแบบไหนที่คนไทยมองว่าสวย” คำตอบก็อยู่ในลิลิตพระลอเหมือนกันคือ “คิ้วโก่งเหมือนคันธนู” เป็นต้น
แนะนำ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต เป็นภาษาญี่ปุ่น ในวารสาร pieria ฉบับฤดูใบไม้ผลิ 2016
นั่นคือ พื้นฐานของไทยศึกษาส่วนหนึ่งที่คนญี่ปุ่นได้เรียนรู้ ผมเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ในบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษาชาวญี่ปุ่นที่กำลังถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักศึกษาญี่ปุ่นอย่างจริงจังต่อเนื่อง และผมกล้าบอกได้เลยว่าคนญี่ปุ่นรู้เรื่องไทยลึกกว่าที่คนไทยคาดคิด ในทางกลับกัน จะด้วยเหตุผลทางด้านภาษาหรือด้านเศรษฐกิจก็แล้วแต่ ผมรู้สึกว่า ปัจจุบันคนไทยก็ยังรู้เรื่องญี่ปุ่นไม่ลึกเท่ากับที่คนญี่ปุ่นรู้เรื่องไทย

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุก ๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น