xs
xsm
sm
md
lg

Exclusive! เจาะใจผู้นำมหาอำนาจ G7 หวังอะไรจากการประชุมที่ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การประชุมผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ G7 ที่ประเทศญี่ปุ่น มีประเด็นหารือสำคัญ คือ เศรษฐกิจโลก และการต่อต้านการก่อการร้าย หากแต่ผู้นำแต่ละประเทศก็มีวาระหลักที่ต้องการผลักดันเป็นการเฉพาะ โดยเกี่ยวพันทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสถานะของประเทศตัวเอง

การประชุมผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ G7 ที่ญี่ปุ่นใช้เวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 26-27 พฤษภาคม บรรดาผู้นำกลุ่มประเทศ G7 จะแลกเปลี่ยนความเห็นกันในการประชุม 5 ครั้ง ซึ่งมีหัวข้อแตกต่างกัน คือ การเติบโตของเศรษฐกิจโลก, การก่อการร้าย, วิกฤติผู้ลี้ภัย, มาตรการต่อต้านคอร์รับชั่นหลังมีการเปิดโปงข้อมูลโดยเอกสารปานามา รวมถึงประเด็นระดับภูมิภาค เช่น สถานการณ์ในซีเรีย และทะเลจีนใต้
ภาพ เอเอฟพี
ญี่ปุ่นหวังกู้เศรษฐกิจ

นายกฯชินโซ อะเบะ ในฐานะเจ้าภาพของการประชุม กล่าวว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเป็นประเด็นที่มีความสำคัญสูงสุด ผู้นำญี่ปุ่นหวังจะใช้โอกาสนี้เพื่อการแรงสนับสนุนเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง หลังจากญี่ปุ่นถูกกดดันจากสหรัฐฯ ว่าบิดเบือนค่าเงินเพื่อให้ได้เปรียบด้านการส่งออก จนต้องปล่อยให้ค่าเงินเยนแข็งขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้บริษัทญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในต่างประเทศ รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างมาก

ผู้นำญี่ปุ่นยังจะใช้ความคิดเห็นจากที่ประชุมเพื่อพิจารณาว่า จะขึ้นภาษีผู้บริโภคตามกำหนดการเดิมในเดือนเมษายน ปีหน้าหรือไม่?

ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจและการขึ้นภาษีจะเป็นปัจจัยสำคัญในศึกเลือกตั้งวุฒิสภาญี่ปุ่นในกลางปีนี้ ซึ่งนายอะเบะหวังจะได้เสียงข้างมากทั้ง 2สภาเพื่อปูทางไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และผลักดันนโยบายต่างๆ

สหรัฐฯ ฝรั่งเศสหวังบู๊ก่อการร้าย

สหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสมุ่งประเด็นการต่อต้านการก่อการร้าย เนื่องจากทั้ง 2ประเทศตกเป้นเป้าโจมตีหลายครั้ง โดยเฉพาะการขยายบทบาทของกลุ่มนักรบ “รัฐอิสลาม” หรือ ไอเอส ที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เคยเปรียบเปรยว่า “คนตายพูดไม่ได้” หากจัดการลุ่มนักรบไอเอสให้สิ้นซาก ความชอบธรรมต่างๆ รวมทั้งปัญหาในซีเรียก็จะคลี่คลายง่ายขึ้น

ขณะที่ นายฟรองซัว ออลองด์ ผู้นำฝรั่งเศสคาดหวังอย่างยิ่งกับผลงานต่อต้านการก่อการร้าย ที่จะชี้ชะตาการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของเขา

ยุโรปหวังแบ่งเบาภาระผู้อพยพ

ด้านผู้นำสหภาพยุโรป รวมทั้งนางอังเกล่า แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนี คาดหวังให้นานาชาติช่วยกันแบกรับจำนวนผู้อพยพลี้ภัยสงครามจากซีเรียจำนวนมหาศาล ที่ขณะนี้หลั่งไหลไปอยู่ในยุโรปจนก่อปัญหาทางสังคมจนถูกต่อต้านจากชาวยุโรป และยังเป็นภาระหนักทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจยุโรปยังซบเซาต่อเนื่องยาวนานเกือบ 10 ปี สมาชิกG7 อย่างอิตาลีแทบเอาตัวไม่รอด แม้แต่มหาอำนาจกระเป๋าหนักอย่างเยอรมนีก็ใช่ว่าจะปลอดภัย เพราะถูกล้อมรอบด้วยประเทศที่เศรษฐกิจใกล้ล้มละลาย และต้องให้เยอรมนีซึ่งเป็นหุ้นส่วนใหญ่ในยุโรปช่วยเหลืออยู่

อังกฤษอยากถอนตัวจากยุโรป แคนาดาหัวเดียวกระเทียมลีบ
อังกฤษกำลังเผชิญคำถามใหญ่คือ “ควรอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไปหรือไม่?” โดยชาวอังกฤษจำนวนไม่น้อยเห็นว่าควรถอนตัวจาก EU เพราะอังกฤษเป็นเกาะที่แยกจากแผ่นดินใหญ่ของยุโรปอยู่แล้ว ใช้เงินสกุลปอนด์ของตนเอง ระบบกฎหมายและค่านิยมต่างๆก็แตกต่างจากยุโรป ชาวอังกฤษกลุ่มนี้จึงเห็นว่าการอยู่ใน EU เป็นภาระมากกว่าผลประโยชน์

ด้านแคนาดา ซึ่งนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูเดอ เป็นน้องใหม่สำหรับการประชุม จึงแทบจะไม่มีปากมีเสียงมากมายนัก แคนาดาซึ่งมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศน้อยมากอยู่แล้ว จึงหวังได้เพียงรักษาสถานะ “มีตัวตน” อยู่ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำเท่านั้น

กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ G7 เคยได้รับการยอมรับในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ หากแต่ทุกวันนี้สถานะของ G7 สั่นคลอนอย่างมาก หลายประเทศแทบจะเอาตัวเองยังไม่รอด การหวังฉันทามติในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันจึงอาจเป็นเพียงแค่ “ลมปาก”เท่านั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น