xs
xsm
sm
md
lg

ข้าราชการญี่ปุ่น! เอ๊ะ! มีอย่างนี้ด้วยหรือ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สวัสดีครับผม Mr.Leon มาแล้วครับ คราวที่แล้วผมเล่าเรื่องงานท่องเที่ยว ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บูธประชาสัมพันธ์เชิญชวนท่องเที่ยวจังหวัดต่างๆ ของญี่ปุ่น จังหวัดที่มาจัดงานในครั้งนั้นทำให้ผมแปลกใจหลายๆ อย่าง เช่น สถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เมืองที่ไม่คิดว่าจะมาออกบูธ เป็นต้น และพนักงานญี่ปุ่นฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่มาออกบูธก็น่าจะเป็นข้าราชการของจังหวัดนั้นๆ นั่นเองคือที่มีของคอลัมน์วันนี้ครับ

มองดูเจ้าหน้าที่ข้าราชการประจำแต่ละเมืองที่มาทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ท้องถิ่นของตนเองแล้ว ดูเหมือนเป็นงานที่ไม่ยากและยังได้เที่ยวได้เปิดหูเปิดตา ในขณะที่เงินเดือนของข้าราชการนั้นคือเงินภาษีของประชาชน ไม่เหมือนพนักงานบริษัททั่วไปที่ได้รับเงินเดือนจากภาคเอกชน คนทั่วไปจึงมองอาชีพข้าราชการว่าเป็นงานที่ง่าย ไม่ลำบาก ไม่มีตกงาน จากแบบสอบถามที่นำไปสำรวจเด็กๆ ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร? ส่วนใหญ่จะตอบว่าโตขึ้นอยากเป็นข้าราชการ ผมว่าคุณพ่อคุณแม่ตอบให้หรือสอนมาแน่ๆ ( ´艸`)…ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวไป

ซึ่งเมื่อได้บรรจุเป็นข้าราชการแล้ว คนทั่วไปอาจคิดว่างานที่ทำส่วนใหญ่ไม่ยุ่งยากมากนัก และไม่ถึงกับต้องทำงานอย่างทุ่มเทเพื่อแลกกับตำแหน่งหน้าที่เหมือนงานเอกชน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น งานเอกชนอาจต้องทำยอดขาย ต้องหาลูกค้า ต้องรับผิดชอบโปรเจ็คต่างๆ แต่งานราชการสมมุติว่าสร้างท่าเรือขึ้นมาแล้วมีเรือเข้าวันละไม่กี่ลำ พนักงานราชการคนนั้นก็ไม่ต้องรับผิดชอบแรงกดดันอะไรมากมาย เป็นต้น ..แต่ด้วยความสัตย์จริงจากที่ผมเคยเป็นข้าราชการมาก่อน อยากบอกว่าไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น งานก็ลำบาก แถมถ้าเปรียบเทียบกับเพื่อนๆ ที่ทำงานเอกชนพวกผมถือว่าเงินเดือนน้อยมาก บางทีถูกลูกค้าด่าว่าด้วย (´・_・`)" ครั้งหนึ่งมีงานเยอะต้องอยู่ทำโอที (ถ้าใครรู้จักผมจะรู้ว่าความจริงผมอยากกลับบ้านมากกว่าอยู่ทำงานนะ :) มีลูกค้าคนหนึ่ง พูดลอยๆ มาทางพวกผมว่า "อยู่ทำโอที ไอ้พวกขโมยเงินภาษี " !!! อีกครั้งหนึ่งมีลูกค้ามาติดต่อเรื่องเอกสารกับพนักงานรุ่นพี่ผู้หญิง แต่คุยกันไม่ลงตัว ไม่รู้ว่าเอกสารไม่ครบหรืออะไรสักอย่างเห็นยืนคุยกันอยู่นาน สุดท้ายลุงถุยน้ำลายใส่หน้าพนักงานสาวคนนั้น(# ゚д゚)、ペッ; แต่พวกเราก็โต้เถียงและทำอะไรลูกค้าไม่ได้ ... นี่แหละครับชีวิตข้าราชการ ..ทุกครั้งที่ผมคิดถึงเรื่องพวกนี้ มันทำให้ผมคิดว่าตอนนี้ผมโชคดีมากที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศไทย ชีวิตที่มีความสงบสุขมากครับ

ตอนที่ผมเข้างานใหม่ๆ เป็นช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ วันที่ 1 เมษายน ดอกซากุระกำลังเบ่งบานสวยเชียว เมื่อเข้างานก็ได้ผ่านการอบรมพนักงานใหม่ประมาณ 2 อาทิตย์ ได้ฟังโอวาทจากท่านนายกเทศมนตรีว่า「... ไม่ว่ายังไงอยากให้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ให้รู้ภาษาต่างประเทศเพิ่มสัก 1 ภาษาก็ยังดี 」!! แต่ตอนที่ผมสอบสัมภาษณ์เข้าทำงานนี้ ผมบอกกับคนสัมภาษณ์ว่าผมพูดภาษาไทยได้ แต่เค้าตอบผมกลับมาว่า「ถึงแม้ว่าคุณจะสามารถพูดภาษาไทยได้ แต่งานที่ทำตอนนี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับประเทศไทย คงไม่มีโอกาสได้ใช้ภาษาไทยในงานหรอก 」!! ...ค้านกันซะจริงๆ เชียว (´・_・`)(´・Д・)」

เรื่องการเรื่องงานเช่นกัน คนญี่ปุ่น เวลาจะเริ่มงานอะไรๆ สักอย่างมักจะให้โอวาทเรียกขวัญกำลังใจ ผู้ใหญ่จะให้โอวาทผู้น้อย ทั้งๆ ที่ตัวเองอาจจะไม่เคยทำ ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนั้นๆ มาก่อนเลย; (`ハ´)ノ「私がこの様な重責を賜りますことは、正に青天の霹靂(せいてんのへきれき)…」 เป็นโอวาทจากหัวหน้าใหญ่ อายุใกล้จะ60 (เงินรายได้ ปีละ3 ล้านบาท) โอวาทดังกล่าวสื่อประมาณว่า หัวหน้าอาจไม่มีความรู้เรื่องนั้นนัก เช่นหัวหน้าทีมประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยว อาจไม่เคยมาไทยเลยก็ได้ แต่ก็ต้องมาเป็นผู้นำทีม

ส่วนเรื่องที่ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นทำไมมีโครงการนู่นนี่นั่นเยอะแยะไปหมด ก็เพราะหาเงินมาหมุนในระบบบริหาร สร้างสิ่งต่างๆ เพื่อให้มีเงินหมุนในระบบต่อๆ ไป ก่อนนี้ญี่ปุ่นสร้างอะไรๆ มากมาย ทั้งสนามบิน สิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยใช้งบของรัฐบาล เช่น สนามบินในประเทศญี่ปุ่นที่มีมากเกือบจะ 100 แห่ง ทั้งๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นมีขนาดเล็กกว่าประเทศไทย นอกจากสนามบินที่มีเยอะมาก รางรถไฟ รถไฟชินคันเซ็นด้วยเช่นเดียวกันมีเยอะมาก สร้างเพื่อให้ประชาชนมาใช้และเก็บภาษีต่อไปเรื่อยๆ จนหลังๆ ไม่รู้จะสร้างอะไรจึงกำหนดงบประมาณหลักโดยเน้นในเรื่องพัฒนาระบบ IT และงานเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนการสื่อสารกับต่างชาติ อาทิเช่น งานประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยวญี่ปุ่น หรืองานที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่น เพราะการตรวจสอบดูผลลัพธ์ของการทำสิ่งนี้ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่มองเห็นเป็นรูปธรรมได้ยาก จึงทำให้การวัดผลออกมาเป็นตัวเงินว่าขาดทุนหรือไม่ก็มองเห็นได้ยากเช่นเดียวกัน แต่ถ้ามองจากคนภายนอกจะดูเหมือนกับว่าพวกเขาเหล่านั้นกำลังตั้งใจทำงานมีผลงานออกมาให้เห็น เช่นที่หน่วยงานราชการจังหวัดที่ผมเคยทำงาน ผมได้ยินมาว่าระบบ IT ที่ใช้ในที่ทำงานที่ผมเคยทำนั้น ถูกประมูลมาได้โดยที่บริษัทนั้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการประมูลในตอนแรก แต่หลังจากนั้นรัฐบาลหน่วยงานของผมต้องเสียเงินหลายสิบล้านบาทเพื่อปรับปรุงระบบรายปี มิหนำซ้ำผู้ที่ริเริ่มนำระบบนี้มาใช้ได้เลื่อนขั้นด้วยหล่ะเนื่องจากทำผลงานให้หน่วยงาน แต่ผมเองคิดว่าระบบนี้ใช้ยาก ยิ่งเห็นวิธีการได้มาซึ่งงานประมูลแล้วผมรู้สึกไม่ชอบวิธีการพวกนี้เลย และถ้าส่วนตัวแล้วผมก็ไม่ใช้ของจากบริษัทนี้อีกเลย

สมัยก่อนผู้นำของ Soviet Union เคยพูดไว้ว่า 「ญี่ปุ่นเป็นประเทศสังคมนิยมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก 」การที่ทำอะไรแบบสังคมนิยมนั้น แน่นอนเราเพียงคนเดียวสามารถที่จะทำอะไรโดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งนั้น เพราะสิ่งนี้คือการรับผิดชอบร่วมกัน

ผมจะพยายามเชื่อและรักษาคำสอนของท่านนายกเทศมนตรีที่ให้โอวาทว่า ควรจะรู้ภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม นอกจากภาษาไทยแล้ว หลังจากที่ผมลาออกจากงานและมีโอกาสบวชเรียน ผมก็มีความจำเป็นต้องเรียนภาษาต่างประเทศเพิ่มเติมจนได้ นั่นคือ ผมต้องเรียนเรื่องการสวดมนต์เป็นภาษาบาลีด้วย อ่อ ลืมเล่าครับว่าได้รู้มาว่าท่านนายกเทศมนตรีที่เคยได้ให้โอวาทผมท่านนี้เคยรับเงินใต้โต๊ะจากบริษัทก่อสร้างและสุดท้ายถูกตำรวจจับไป แต่สำหรับผมเอง ผมยังอยากอยู่ดูโลกสวยๆ นี้ไปอีกนานๆ ครับ เพราะฉะนั้นจะไม่พูดถึงเรื่องการเมืองแล้วครับ ฮ่าๆ ท้ายนี้ผมจะทิ้งท้ายคอลัมน์นี้ด้วยภาษาบาลีสักหน่อยละครับ

อทินฺนา ทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(งดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้ !)

แล้วพบกันใหม่นะครับ..

กำลังโหลดความคิดเห็น