xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทญี่ปุ่นแห่ “ปิดโรงงาน” ในภาคใต้ชั่วคราว หลังดินไหว 6.5 ทำบ้านเรือนพังถล่ม-สาธารณูปโภคเสียหายหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กระเบื้องหลังคาปราสาทคุมาโมโตะพังเสียหายจากอานุภาพของแผ่นดินไหวขนาด 6.5 เมื่อค่ำวันที่ 14 เม.ย.
เอเอฟพี - บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นหลายแห่งได้ประกาศปิดโรงงานในภาคใต้เป็นการชั่วคราว หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 เขย่าเกาะคิวชู เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (14 เม.ย.) จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 ราย บาดเจ็บอีกหลายร้อยคน ขณะที่นักวิเคราะห์เตือนว่า ภัยพิบัติครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตสินค้า และเศรษฐกิจของญี่ปุ่นโดยรวม

ยอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวรุนแรงทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นอยู่ที่อย่างน้อย 9 ศพ ขณะที่แรงสั่นสะเทือนยังทำให้กระเบื้องหลังคาของปราสาทคุมาโมโตะ ซึ่งมีอายุ 400 ปี พังทลายลงมา ถนนหลายสายได้รับความเสียหาย บ้านเรือนพังถล่ม และเกิดเพลิงไหม้

ล่าสุด จนถึงช่วงบ่ายวันนี้ (15) ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกติดตามมากว่า 130 ครั้ง ที่บริเวณเมืองคุมาโมโตะ และแม้เจ้าหน้าที่จะระบุว่า แรงสั่นสะเทือนเริ่มทิ้งช่วงห่างออกไป แต่คาดว่าจะยังเกิดอีกเป็นระยะๆ ตลอด 1 สัปดาห์ข้างหน้า

รถไฟหัวกระสุนความเร็วสูง (ชินคันเซ็น) บนเกาะคิวชู ต้องหยุดให้บริการ หลังจากมีรถไฟขบวนหนึ่งตกราง ส่วนทางหลวงบางช่วงก็ถูกปิดเนื่องจากพื้นถนนพังทลาย

บริษัท คิวชู อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค อิงค์ ระบุว่า เมื่อช่วงเที่ยงวันนี้ (15) ยังคงมีบ้านเรือนที่ปราศจากไฟฟ้าราว 12,000 หลัง ขณะที่ประชาชนราว 58,000 คน ก็ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้

ผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งอุตสาหกรรมเหล็ก รถยนต์ และเทคโนโลยีได้ประกาศระงับการผลิตชั่วคราวในวันนี้ (15 เม.ย.) เนื่องจากสาธารณูปโภคได้รับความเสียหายหนักพอสมควร

โตโยต้า ค่ายยานยนต์อันดับ 1 ของญี่ปุ่น และ โซนี ได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบความปลอดภัยของโรงงาน รวมถึงความเสียหายที่เกิดต่อซัปพลายเออร์ ส่วนบริษัทอื่นๆ ซึ่งมีการสั่งปิดโรงงานในวันนี้ (15) ด้วย ได้แก่ มิตซูบิชิ อิเล็กทริก, เรเนซัส, ฟูจิฟิล์ม, บริดจสโตน และซันโทรี โฮลดิงส์

โมโตโอะ ฮายาชิ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ พาณิชย์ และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เผยต่อสื่อมวลชนว่า “บางบริษัทได้หยุดการผลิตชั่วคราว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานความเสียหายร้ายแรง” เทียบเท่ากับเมื่อครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเล และคลื่นสึนามิ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ปี 2011

แผ่นดินไหวใต้ทะเลขนาด 9.0 เมื่อ 5 ปีก่อน ได้ก่อให้เกิดสึนามิขนาดยักษ์ซัดถล่มชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น จนมีผู้เสียชีวิต และสูญหายราว 18,500 คน ทั้งยังทำให้เกิดภาวะหลอมละลายของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ จนกลายเป็นอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ครั้งเลวร้ายที่สุดของโลก นับตั้งแต่กรณีโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลระเบิด เมื่อปี 1986

หายนะทางธรรมชาติครั้งนั้นยังทำให้โรงงานในญี่ปุ่นหลายสิบแห่งถูกปิดนานหลายเดือน บั่นทอนศักยภาพด้านการผลิต และซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่กำลังซบเซา

แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงอ่อนเปลี้ย และแผนกระตุ้นการเติบโตของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ก็ไม่ได้ผลที่เป็นรูปธรรม

“เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่ชะลอตัว และยังอยู่ในช่วงที่เปราะบาง เพราะขาดปัจจัยขับเคลื่อนที่ทรงพลังพอ” ยาสุนาริ อุเอโนะ นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดจาดสถาบัน มิซูโฮ ซีเคียวริตีส์ ในกรุงโตเกียว ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวบลูมเบิร์ก

“การเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงอย่างไม่คาดฝันเช่นนี้อาจจะทำให้ญี่ปุ่นกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีก”










กำลังโหลดความคิดเห็น