ถึงแม้ญี่ปุ่นจะเผชิญปัญหาหนักเรื่องสังคมผู้สูงอายุ แต่ความจริงแล้วหลายประเทศในเอเชีย รวมทั้ง ประเทศไทย ก็มีสถานการณ์ไม่แตกต่างกัน ซ้ำความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุไทยอาจจะย่ำแย่กว่าด้วยซ้ำ เพราะไม่มีระบบสวัสดิการสังคมรองรับ
สถานีโทรทัศน์ NHK ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสภาพสังคมในประเทศเอเชีย ซึ่งให้ข้อมูลว่า อายุเฉลี่ยของคนเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอันเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอายุเฉลี่ยสูงสุด คือ ชาวสิงคโปร์ที่ 82 ปี รองลงมาคือเวียดนามและมาเลเซียที่ 75 ปี ตามด้วยไทยที่ 74 ปี ทว่าอัตราการเกิดในเอเชียกำลังลดลง จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่สตรีคนหนึ่งจะให้กำเนิดตลอดวัยเจริญพันธุ์ในสิงคโปร์อยู่ที่ 1.19 คน ตัวเลขของไทยอยู่ที่ 1.40 คน ซึ่งตัวเลขนี้ต่ำกว่าในญี่ปุ่นเสียอีก แสดงให้เห็นว่าประชากรของหลายประเทศในเอเชียกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าญี่ปุ่น
ประเทศไทยเป็นตัวอย่างของสังคมเอเชียที่ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นขณะที่เด็กมีจำนวนลดลง นักวิเคราะห์คาดว่าคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเกินร้อยละ 14 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศในปี 2565 แต่ไทยไม่มีระบบประกันเพื่อการพยาบาลดูแลเหมือนอย่างที่ญี่ปุ่น อีกทั้งสถานพยาบาลดูแลก็มีจำนวนไม่เพียงพอ ยิ่งไปกว่านั้นที่ประเทศไทย ผู้สูงอายุจำนวนมากอาศัยอยู่เพียงลำพังโดยไม่มีลูกหลานดูแล
ผู้สื่อข่าวของ NHK ได้ไปเยือนสถานพยาบาลผู้สูงอายุแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่ดำเนินการโดยเครือข่ายโรงพยาบาลของญี่ปุ่น และเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนมกราคม หากแต่ค่าใช้จ่ายเพื่อที่จะเข้าพักไม่ถูกเลย ตกคนละเกือบ 60,000 บาทต่อเดือน บริการที่ใส่ใจแบบญี่ปุ่นนี้ถึงแม้จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ดี หากแต่คงมีผู้สุงอายุจำนวนไม่มากที่สามารถจ่ายค่าบริการในราคาสูงเช่นนี้
รัฐบาลไทยคาดหวังความร่วมมือจากญี่ปุ่นเรื่องประสบการณ์ในการรับมือกับประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งทางญี่ปุ่นไดเให้การสนับสนุนประเทศไทยในโครงการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านการพยาบาล ญี่ปุ่นซึ่งกำลังเผชิญปัญหาสังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับหลายประเทศในเอเชียจึงควรต้องแบ่งปันประสบการณ์ที่มีกับประเทศอื่นๆ เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขต่อไป.