xs
xsm
sm
md
lg

“ขยะปนเปื้อนรังสีทิ้งที่ไหน?” คำถามที่รัฐบาลญี่ปุ่นยังตอบประชาชนไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่สามารถหาสถานที่สำหรับจัดการขยะปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีได้ ถึงแม้อุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิชิจะผ่านมา 5 ปีแล้วก็ตาม

เหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิถล่มญี่ปุ่นยังคงทิ้งร่อยรอยความเสียหายไว้ แต่ปัญหาใหญ่กว่าที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข คือ การรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิชิ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนสร้างสถานที่เก็บกากปนเปื้อนกัมมันตรังสีระยะราว 30 ปี แต่การจัดหาที่ดินสำหรับสร้างเป็นสถานที่เก็บชั่วคราวระยะกลางดำเนินไปได้เพียงประมาณร้อยละ 2 เท่านั้น

แผนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะก่อสร้างโรงกำจัดของเสียปนเปื้อนกัมมันตรังสีในจังหวัดมิยะงิ, โทะชิงิ, ชิบะและกุมมะต้องเผชิญกับการคัดค้านอย่างรุนแรงจากประชาชนในพื้นที่

ทุกวันนี้ กากปนเปื้อนกัมมันตรังสีมากกว่า 170,000 ตันถูกเก็บไว้ที่สถานที่เก็บเบื้องต้นราว 1,100 แห่งทั่วจังหวัดฟุกุชิมะ ตลอดจนพื้นที่อื่นอีก 127,000 แห่ง ซึ่งรวมถึงพื้นที่ที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินเพื่อการเกษตร โดยประมาณการณ์ว่ายังมีขยะปนเปื้อนรังสีอีกหลายแสนตัน ยิ่งกว่านั้นกากกัมมันตรังสีนั้นยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นหลายพันตันต่อเดือน

เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นได้ระบุว่า ของเสียปนเปื้อนกัมมันตรังสีบางส่วนสามารถทิ้งลงในบ่อขยะทั่วไปได้แล้ว โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมอ้างถึงการลดลงของระดับรังสีในของเสียปนเปื้อนกัมมันตรังสีดังกล่าว

กระทรวงสิ่งแวดล้อมยังเสนอจังหวัดอิบะระกิ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดฟุกุชิมะ ยังคงเก็บของเสียปนเปื้อนกัมมันตรังสีประมาณ 3,500 ตันไว้ในสถานที่จัดเก็บชั่วคราวต่อไป จนกว่าระดับรังสีจะลดลงต่ำกว่าระดับที่กำหนด

เมื่อความพยายามในการสร้างโรงกำจัดขยะปนเปื้อนรังสีถูกคัดค้านจากประชาชนในแทบทุกพื้นที่ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงทำได้เพียงจัดหาสถานที่เก็บชั่วคราวและซื้อเวลาไปเรื่อยๆ ซึ่งนี่คงไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาที่แท้จริง.
กำลังโหลดความคิดเห็น