xs
xsm
sm
md
lg

Exclusive! เปิดตู้ “ไอติม” ญี่ปุ่น ไม่ได้มีดีแค่ “กูลิโกะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระแสนิยมไอศกรีม “กูลิโกะ” ในไทยไม่เพียงสะท้อนถึงความชื่นชอบในสินค้าญี่ปุ่นของคนไทย หากแต่อาจเป็นเพราะประเทศไทยแทบไม่มีไอศกรีมที่อร่อยได้ในราคาประหยัด เหมือนเช่นแดนอาทิตย์อุทัยที่มีไอศกรีมให้เลือกนับ 10 ยี่ห้อในราคาเพียงแค่ไม่กี่ร้อยเยน

ทันทีที่ไอศกรีม “กูลิโกะ” ทดลองวางจำหน่ายในประเทศไทย กระแสตามล่าหาซื้อก็เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ร้านสะดวกซื้อหลายแห่งต้องจำกัดจำนวนซื้อ เว็บไซต์บางแห่งถึงขนาดจัดทำ “ลายแทง” บอกพิกัดสถานที่จำหน่ายไอศกรีมจากญี่ปุ่นนี้

ในญี่ปุ่น “กูลิโกะ” เป็นหนึ่งในไอศกรีมยอดนิยมก็จริง แต่ในญี่ปุ่นมีไอศรีมให้เลือกซื้อกว่า 10 ยี่ห้อ รวมแล้วกว่า 100 แบบ ซึ่งเป็นไอศกรีมที่ผลิตแบบอุตสาหกรรมโดยบริษัทใหญ่ ไม่รวมไอศกรีมประเภทซอฟครีม หรือไอศกรีมโฮมเมดที่จำหน่ายตามร้านค้าต่างๆ

ไอศกรีมในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ผลิตโดยบริษัทผู้ผลิตขนมหวานหรือนม เช่น เมจิ, โมรินากะ, ลอตเต้ และกูลิโกะ นอกจากนี้ยังมียี่ห้อต่างประเทศ เช่น ฮาเกน ดาช, โคลด์ สโตน, โกดิวา รวมทั้งร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 และ แฟมิลี่ มาร์ท ก็มีไอศกรีมยี่ห้อของตัวเองเช่นกัน

การแข่งขันจากผู้ผลิตจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคในญี่ปุ่นมีไอศกรีมให้เลือกทานมากมาย ทั้งรสชาติที่มีตั้งแต่รสยอดนิยมต่างๆ เช่น วานิลลา, ช็อคโกแลต, สตอร์เบอรี่ และรสชาติเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น เช่น รสชาเขียว, ถั่วแดง, น้ำตาลทรายแดง แม้กระทั่งรสเหล้าสาเก หรือไอศกรีมผสมโมจิก็ยังมี

แต่ที่สำคัญ คือ ไอศกรีมในญี่ปุ่นมีการแบ่งประเภทอย่างชัดเจน เป็นต้นว่า ไอศกรีมหวานเย็น (ไม่มีส่วนผสมของครีมหรือนม) , ไอศกรีมดัดแปลง, ไอศกรีมผสมนม ไปจนถึงไอศกรีมที่ทำจากนมแท้ๆ ซึ่งคนรักของหวานสามารถเลือกซื้อได้ตามความชื่นชอบ โดยมีราคาลดหลั่นกันไปตั้งแต่ไม่ถึง 100 เยนขึ้นไป

และถึงแม้ไอศกรีมระดับพรีเมียมอย่าง ฮาเกน ดาช ก็สนนราคาเพียงแค่ไม่ถึง 300 เยน หรือไม่ถึง 100บาท ชาวญี่ปุ่นจึงมีโอกาสที่ได้เลือกลิ้มรสไอศกรีมที่หลายหลากทั้งรสชาติ และคุณภาพดีมาก


สำหรับไอศกรีม “กูลิโกะ” ที่จำหน่ายในประเทศไทยเป็นรุ่นที่จำหน่ายผ่านเครื่องอัตโนมัติเป็นส่วนใหญ่ แต่ถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะราคาจำหน่ายในไทยถูกกว่าในญี่ปุ่น ซึ่งไอศกรีม “กูลิโกะ” ขายในราคา 100-150 เยน หรือราว 30-45 บาทเป็นขั้นต่ำ

ในญี่ปุ่นสามารถหาซื้อไอศกรีมได้ง่ายมาก ทั้งจากร้านสะดวกซื้อ, ซุปเปอร์มาเก็ต รวมทั้งเครื่องอัตโนมัติ ซึ่งเกิดจากการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตรายต่างๆที่ต้องสร้างสรรค์รสชาติแปลกใหม่, รักษาคุณภาพ รวมทั้งสร้างช่องทางจำหน่ายให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายที่สุด

เมืองร้อนอย่างประเทศไทย ไม่มีของหวานอะไรที่ดีไปกว่าไอศกรีม หากแต่ประเทศไทยถูกไอศกรีมบางอย่างห้อผูกขาดจนกลายเป็น ”กำแพง” ทำให้ผู้บริโภคทั่วไปไม่โอกาสได้ลิ้มรสไอศกรีมคุณภาพดีในราคาที่พอจะยอมรับได้ นี่อาจเป็นสาเหตุให้แม้แต่ไอศกรีมธรรมดาที่สุดจากญี่ปุ่นยังสามารถจับใจคนไทยได้อย่างไม่ยากเย็น.
กำลังโหลดความคิดเห็น