xs
xsm
sm
md
lg

กลิ่นอายเกาหลีที่ญี่ปุ่น (2)

เผยแพร่:   โดย: ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


เกาหลีที่ตกค้าง

ภาพยนตร์เรื่อง Go ทำให้ได้รู้ว่า ในญี่ปุ่นยังมีคนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนเกาหลีแม้ไม่เคยไปเกาหลีและพูดภาษาเกาหลีไม่ได้เลยอยู่อีกมากมาย และความรู้สึกซับซ้อนในเชิงลบของคนเหล่านี้ก็ยังค้างคาใจอยู่แม้กระทั่งทุกวันนี้

ดังที่เกริ่นไว้ว่าความใกล้ทางด้านภูมิศาสตร์มีทั้งผลดีและผลเสีย ผลเสียที่เกิดกับเกาหลีคือต้องรับศึกเต็มๆ ทั้งสองทาง จีนแข็งเมื่อไรก็ตกอยู่ภายใต้จีน ญี่ปุ่นกำแหงเมื่อไรก็ถูกรังแก จนตอนหลังพ่ายแพ้และตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น เพิ่งได้เอกราชมาไม่ถึง 100 ปี
โชกุนฮิเดะโยะชิ โทะโยะโตะมิ (1537-1598)
การปะทะที่มีญี่ปุ่นเป็นคู่กรณีไม่ได้มีเฉพาะในยุคใหม่เท่านั้น เมื่อหลายร้อยปีก่อน เกาหลีก็เคยถูกญี่ปุ่นยกทัพไปตีในปี ค.ศ. 1592 และ 1593 โดยโชกุนฮิเดะโยะชิ โทะโยะโตะมิ (豊臣秀吉; Toyotomi, Hideyoshi; 1537-1598) ตอนนั้นญี่ปุ่นทำไม่สำเร็จ แต่เรื่องยังไม่จบแค่นั้น วันคืนที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นว่าเกิดเป็นคนเกาหลีนี่อาภัพ
โชกุนฮิเดะโยะชิ โทะโยะโตะมิ (1537-1598)
เมื่อเข้าสู่สมัยใหม่ ก่อนที่ญี่ปุ่นจะได้เกาหลีเป็นอาณานิคมในที่สุดนั้น ญี่ปุ่นจ้องเกาหลีอยู่นานแล้ว แต่ยังติดขัดอิทธิพลของจีน ญี่ปุ่นทำสงครามกับจีนครั้งแรกเมื่อปี 1894 ถึง 1895 (ภาษาอังกฤษเรียกว่า The First Sino-Japanese War) และได้ชัยชนะ พอญี่ปุ่นรบชนะจีนและแผ่แสนยานุภาพมากขึ้น ต่อมารัสเซียจึงกลายเป็นศัตรูกับญี่ปุ่นบนคาบสมุทรเกาหลี เขม่นกันอยู่แต่ก็แค่หยั่งเชิงดูทีท่ากันไป และให้คำมั่นว่าต่างฝ่ายต่างจะปล่อยให้เกาหลีมีเอกราช แต่ทำไปทำมาญี่ปุ่นกับรัสเซียก็เปิดศึกกันเมื่อต้นปี 1904 ถึงปลายปี 1905 (ภาษาอังกฤษเรียกว่า Russo-Japanese War)
นายพลชาวจีนจากเปียงยางถูกกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นจับในเดือนตุลาคม 1894  (ภาพโดยโทะชิฮิเดะ มิงิตะ)
ตอนเริ่มรบกับรัสเซีย ญี่ปุ่นเคลื่อนทัพเข้าไปในเกาหลีและจัดแจงประกาศว่านับแต่บัดนี้เกาหลีเป็นดินแดนในอารักขา พร้อมกับบังคับให้เกาหลีเซ็นสัญญายอมรับ จากนั้น ญี่ปุ่นก็รบชนะรัสเซีย จึงแผ่อิทธิพลได้เต็มที่และผนวกเกาหลีเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 1910 ตั้งแต่นั้นมา คนเกาหลีจึงเริ่มถูกบังคับให้เรียนและพูดภาษาญี่ปุ่น เกาหลีตกเป็นดินแดนของญี่ปุ่นเรื่อยมานับจากนั้น จนกระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม 1945 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จึงได้เอกราชกลับคืนมา ช่วงเวลาที่ถูกญี่ปุ่นเป็นเจ้าเข้าครองรวมทั้งสิ้น 35 ปี แต่ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรกอีก...เกิดสงครามเกาหลี เกาหลีถูกแบ่งครึ่งกลายเป็นเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้จนถึงทุกวันนี้ เมื่อมีเส้นมาแบ่งฉับ จับแยกเป็นเหนือกับใต้อย่างปัจจุบันทันด่วน หลายคนจึงถูกพรากจากญาติพี่น้องโดยไม่รู้ตัว
เส้นทางและวันที่กองทัพญี่ปุ่นปะทะกับรัสเซียในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นบนคาบสมุทรเกาหลี
จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียฝันร้ายเมื่อกองทัพรัสเซียพ่ายแพ้แก่ญี่ปุ่น  (ภาพโฆษณาชวนเชื่อโดยจิตรกรญี่ปุ่น โคะบะยะชิ คิโยะชิกะ)
คนเกาหลีจำนวนมากที่อยู่ในญี่ปุ่นปัจจุบันนี้คือมรดกจากสมัยอาณานิคม ตอนญี่ปุ่นผนวกเกาหลีใหม่ๆ ที่ญี่ปุ่นมีคนเกาหลีอยู่ประมาณ 2,500 คน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คนเกาหลีถูกเกณฑ์มายังญี่ปุ่น ถูกบังคับใช้แรงงานเพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนคนยามสงคราม พอสงครามสิ้นสุด ตอนนั้น ในญี่ปุ่นมีคนเกาหลีราว 2 ล้านคน ญี่ปุ่นแพ้แล้ว ยอมให้คนเกาหลีกลับประเทศได้ คนที่กลับได้ก็กลับไป แต่คนที่ไม่รู้จะกลับไปไหนหรือกลับไม่ได้ด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ต้องตกค้างอยู่ในญี่ปุ่นซึ่งมีอยู่ไม่น้อย ต่อมาคนเหล่านั้นมีลูกหลานที่กลายเป็นเกาหลีรุ่นที่ 2 รุ่นที่ 3 ซึ่งไม่เคยไปเหยียบแผ่นดินเกาหลีมาก่อนเลยในชีวิตและพูดภาษาเกาหลีไม่ได้ แต่ยังไงๆ ก็ต้องบอกว่า “ข้าเป็นเกาหลี” เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ให้สัญชาติ โดยมีข้อกำหนดว่าถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งไม่ใช่คนญี่ปุ่น ถึงแม้เกิดในญี่ปุ่นก็จะไม่ได้สัญชาติ

จริงๆ แล้วในช่วงที่เกาหลีเป็นดินแดนของญี่ปุ่น คนเกาหลีในญี่ปุ่นเคยได้สัญชาติญี่ปุ่น แต่เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามและหมดอำนาจเหนือคาบสมุทรเกาหลี คนเหล่านี้ก็หมดสัญชาติญี่ปุ่นไปด้วยตามสนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโกที่ญี่ปุ่นตกลงทำกับฝ่ายสัมพันธมิตรในปี พ.ศ. 2495 การถูกเพิกถอนสัญชาติเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้ตกอยู่ในสภาพที่เหมือนกับถูกบอกว่า “พวกท่านไม่ใช่คนญี่ปุ่นอีกต่อไป แต่เป็นคนต่างด้าว” น่าตกใจน้อยเสียเมื่อไร หากมีใครมาบอกว่าเจ้าเป็นญี่ปุ่นได้ถึงคืนนี้ แต่จงเป็นเกาหลีตั้งแต่ฟ้าสาง

เมื่อสถานะถูกเปลี่ยน คนเหล่านี้จึงไม่ได้รับสวัสดิการอย่างที่ประชาชนญี่ปุ่นทั่วไปได้ และมีจำนวนมากที่ประสบความลำบากในการดำรงชีวิต สถานการณ์ดีขึ้นหน่อยเมื่อรัฐบาลญี่ปุ่น ‘เมตตา’ ปรับสถานภาพให้เป็นผู้พำนักถาวรพิเศษ โดยให้สิทธิแก่คนเกาหลีที่อยู่ในญี่ปุ่นก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และลูกหลานของคนเหล่านั้น พอมาปี พ.ศ.2534 จึงขยายให้แก่คนเกาหลีรุ่นที่ 3 แต่ก็ยังไม่ให้สัญชาติญี่ปุ่นอยู่ดี สถิติจากกระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่นที่เผยแพร่ในเดือนมิถุนายน 2558 ชี้ว่ามีผู้พำนักถาวรพิเศษที่เป็นคนเชื้อชาติเกาหลีอยู่ในญี่ปุ่นประมาณ 370,000 คน

การไม่มีสัญชาติญี่ปุ่นทำให้คนเกาหลีกึ่งญี่ปุ่นถูกกีดกันในหลายด้าน และเกิดเสียงเรียกร้องสิทธิอยู่เนืองๆ อันที่จริง การยื่นขอสัญชาติญี่ปุ่นสามารถกระทำได้ แต่ปัญหาใหญ่คือ ความรู้สึกทางด้านชาติพันธุ์ทำให้ไม่อยากกลายเป็นคนญี่ปุ่น และอีกอย่างหนึ่งคือ ข้อกำหนด การตรวจสอบ ตลอดจนกระบวนการขอสัญชาติญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ คนที่เป็นเกาหลีจึงยอมเป็นเกาหลีทั้งๆ ที่อ่านภาษาเกาหลีไม่ออกสักตัว

ชัดแล้วว่าเพื่อนคนที่ประกาศตัวว่าเป็นเกาหลีแม้จะฟังเพลงของ Girls’ Generation ไม่ออกนั้นมีที่มาเช่นนี้ เป็นที่มาที่ต่างจากน้องคิมและที่ไปคงต้องต่างกันแน่ เพราะคิมซึ่งแม้ไม่รู้เรื่องเกาหลีมากมายแต่เป็นเกาหลีแท้ๆ โดยสัญชาตินั้น จะสามารถกลับเกาหลีใต้ได้อย่างไม่รู้สึกแปลกแยก แต่เพื่อนใหม่ซึ่งเป็นเกาหลีจากมรดกอาณานิคมนั้น อยู่ญี่ปุ่นก็เป็นญี่ปุ่นไม่เต็มตัว ครั้นจะกลับเกาหลี ก็ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน ที่ไปของเขาคือญี่ปุ่น แต่คงต้องรอรัฐบาลเมตตายกฐานะให้สัญชาติ...สักวัน?

หลายเรื่องราวทั้งทางการเมืองและเรื่องประวัติศาสตร์ ทำให้ตอนนี้เกาหลีกับญี่ปุ่นไม่ค่อยถูกกัน โบราณท่านว่า คู่กันแล้วย่อมไม่แคล้วกัน นั่นน่ะสิ...ญี่ปุ่นกับเกาหลีถึงได้เกิดมาคู่กัน แต่อาจเป็นคู่เวรมากกว่าที่จะเป็นคู่มิตร

มาในยุคหลังสงครามโลก มี 2 เกาหลี เกาหลีเหนือซึ่งเป็นประเทศเผด็จการ ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับญี่ปุ่น แต่ทำญี่ปุ่นหนาวๆ ร้อนๆ อยู่ตลอด เดี๋ยวทดสอบขีปนาวุธ (ขู่?) เดี๋ยวแอบผลิตนิวเคลียร์ และที่แสบที่สุดคือการส่งสายลับย่องมาจับตัวคนญี่ปุ่นไปหลายคน ว่ากันว่าจับไปล้างสมองบ้าง จับไปสอนภาษาญี่ปุ่นบ้าง แต่จริงๆ แล้วจับไปทำอะไรบ้าง ฝ่ายนั้นไม่เคยออกมายอมรับตรงๆ ที่แน่ๆ คือไม่ได้จับไปเรียกค่าไถ่ ญี่ปุ่นต้องพยายามอย่างหนักเพื่อทวงคนกลับมา แต่ได้คืนเพียงไม่กี่คนเพราะเกาหลีเหนือโยกโย้ ปัญหานี้จึงเป็นประเด็นระดับประเทศที่ญี่ปุ่นปวดเศียรอยู่ทุกวัน

ด้านเกาหลีใต้นั้นพอทำเนา เป็นประเทศประชาธิปไตย มีความชัดเจน ทะเลาะกับญี่ปุ่นก็ว่ากันตรงๆ ออกข่าววิจารณ์กันให้ได้ยินชัดๆ แม้สองประเทศนี้มีเรื่องไม่ลงรอยกันอยู่บ้าง แต่ถ้าว่ากันในระดับบุคคลแล้ว ไม่ได้หมายความว่าคนกับคนจะต้องโกรธเกลียดกันถึงขั้นแค้นฝังหุ่น เพราะคนญี่ปุ่นยุคปัจจุบันไม่ใช่คนที่ไปทำร้ายคนเกาหลีใต้ในอดีต และขณะนี้นักศึกษาเกาหลีใต้ที่มาเรียนในญี่ปุ่นก็มีจำนวนมากถึงราว 16,000 คน (สถิติเดือนมิถุนายน 2558) สร้างพันธมิตรและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับญี่ปุ่นกันอย่างกระตือรือร้น

มองย้อนกระแสเกาหลีที่ญี่ปุ่น

กลิ่นอายเกาหลีมีมาช้านานในญี่ปุ่นดังที่เล่ามา แต่เป็นกระแสเก่าในเชิงประวัติศาสตร์และการเมืองเสียมาก ความเป็นเกาหลีกระแสใหม่ที่สร้างสีสันและรอยยิ้มในญี่ปุ่นมากกว่าเรื่องเดิมๆ เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 10 ปีนี้โดยผ่านมาทางวัฒนธรรมป๊อป และกลุ่มแรกๆ ที่เป็นปัจจัยก่อกระแสไม่ใช่เด็กวัยรุ่นอย่างเช่นในเมืองไทย แต่เป็นคุณป้า!

เมื่อมองย้อนกลับไป ตอนที่ผมได้เจอคนเกาหลีที่เกือบจะเป็นญี่ปุ่น กับน้องคิมที่เกือบจะหมดความเป็นเกาหลี รู้สึกว่าตัวเองรู้จักเกาหลีมากขึ้นเล็กน้อย แต่นอกจากความใกล้ชิดที่เกิดขึ้นผ่านทางเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย ก็ยังมีโอกาสได้ไปเมืองเกาหลีในโตเกียวอยู่บ่อยๆ ด้วย หลายประเทศในโลกมีไชน่าทาวน์ ในญี่ปุ่นก็มีเช่นกัน และด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ อีกหนึ่ง “ชาว” ที่มีมากพอดู ถึงขั้นกระจุกตัวอยู่กันเป็น “ทาวน์” ด้วยก็คือชาวเกาหลี
ร้านอาหารเกาหลีในย่านชินโอกุโบะ
เกาหลีทาวน์ในญี่ปุ่นมีหลายแห่ง แน่นอนว่าถ้าใครผ่านไปแถวนั้น เดินๆ อยู่ก็จะได้ยินภาษาเกาหลีลอยไปลอยมา แหล่งที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่นครโอซากา ในเขตอิกุโนะ (生野;Ikuno) ซึ่ง 1 ใน 4 ของประชากรในเขตนี้เป็นคนเกาหลี ส่วนเกาหลีทาวน์ในโตเกียวที่ผมผ่านบ่อยๆ คือ ย่านชินโอกุโบะ (新大久保;Shin-ōkubo) กับโอกุโบะ (大久保;Ōkubo) ใกล้กับสถานีชินจุกุ ซึ่งเป็นเมืองเกาหลีที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ภาคกลางของญี่ปุ่น และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ชุมชนเกาหลีแถบนี้มีขึ้นหลังการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่ 2

ในละแวกเกาหลีทาวน์มีร้านอาหารเกาหลีมากมาย ไปเมื่อไรจะได้กลิ่นกิมจิ กลิ่นเนื้อย่างลอยเวียนสลับมาเข้าจมูก ร้านรวงที่ขึ้นป้ายเขียนด้วยภาษาเกาหลีมีให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา นอกจากร้านอาหารแล้วยังมีร้านขายซีดี ขายชุดเกาหลี ขายรูปภาพดารานักร้อง หรือขายของกระจุ๋มกระจิ๋มพิมพ์หน้าดาราซึ่งมีลูกค้าเข้าออกเป็นระยะ แม้ไม่บอก ก็คงเดาออกว่าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง การได้เห็นร้านอาหารเกาหลีในย่านนี้ไม่ทำให้แปลกใจเท่าไร เพราะเมื่อมีคนย่อมหนีไม่พ้นเรื่องกิน แต่ที่น่าประหลาดใจ คือ ตามร้านขายรูปดารา ลูกค้าทั้งหลาย ไม่ได้มีแต่เด็กวัยรุ่นเท่านั้น ผู้หญิงวัย “คุณป้า” อีกจำนวนมากก็เป็นลูกค้าของร้านเหล่านี้ด้วย
ร้านอาหารเกาหลีในย่านชินโอกุโบะ
ดวงเดินทางคงวางกรอบไว้ ในช่วงที่เริ่มสนใจเกาหลี ผมมีโอกาสได้ผ่านเกาหลีทาวน์ในกรุงโตเกียวสัปดาห์ละ 3 - 4 วันเพราะบังเอิญต้องไปทำงานแถวนั้นพอดี จึงได้เห็นคุณป้าพากันไปซื้อรูปดารานักร้องเกาหลีใต้อยู่เป็นประจำ คุณป้ามักจะมากันเป็นกลุ่ม ถือร่มถือกระเป๋า แต่งตัวครบองค์ประชุมตามมาตรฐานความเป็นป้า เข้าร้านเลือกรูปดารา ชี้ชวนกันชมอย่างสุขใจ เหมือนอยู่ในโลกส่วนตัว ผมเห็นแล้วอดยิ้มมุมปากไม่ได้...น่ารักไปอีกแบบ

ความนิยมไปเที่ยวเกาหลีใต้ของคนญี่ปุ่นมีมานานแล้วเพราะอยู่ใกล้กัน แต่กระแสคลั่งไคล้ดาราที่ฟูฟ่าจนเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมเกิดขึ้นเมื่อ NHK นำละครเกาหลีใต้เรื่อง “เพลงรักในสายลมหนาว” (Winter Love Song) มาออกอากาศในญี่ปุ่นเมื่อปี 2546 ละครดังไม่หยุด ดังสุดๆ ชนิดที่ไม่มีใครไม่รู้จัก หรืออย่างน้อยก็ต้องได้ยินข่าวหรือได้ยินใครพูดถึง ดังจน NHK ต้องออกอากาศซ้ำในปีเดียวกัน และดังจนต้องออกอากาศซ้ำอีก 2 ครั้งในปีถัดมา...และสถานีท้องถิ่นช่องอื่นก็ยังนำไปออกอากาศซ้ำอีก เมื่อรวมทั้งประเทศ ละครเรื่องนี้ออกอากาศแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง คิดดูละกันว่าดังขนาดไหน ละครดังมากอยู่แล้ว แต่แพ ยงจุนซึ่งเป็นพระเอกของเรื่องดังยิ่งกว่าละคร คนญี่ปุ่นและสื่อมวลชนเรียกพระเอกหนุ่มอย่างเอ็นดูว่า “ยง-ซะมะ” (Yon Sama – ท่านยง) ตั้งแต่ละครออกอากาศ ท่านยงได้ใจแฟนานุแฟนที่เป็นผู้หญิงวัยคุณน้ากับคุณป้าไปเต็มๆ เมืองไทยก็เอาละครเรื่องนี้มาออกอากาศ แต่ไม่มีกระแสท่านยง คาดว่าหน้าตาคงไม่ถูกรสนิยมคนไทย
ละคร “เพลงรักในสายลมหนาว”
ละคร “เพลงรักในสายลมหนาว”
ตอนที่แพ ยงจุนไปโชว์ตัวที่ญี่ปุ่นครั้งแรก สื่อมวลชนประโคมข่าวกันใหญ่โต เหล่าคุณป้าพากันไปต้อนรับถึงสนามบินมากถึงประมาณ 5,000 คน ความคลั่งไคล้ยงซะมะกลายเป็นเรื่องแปลกใหม่ในสังคมญี่ปุ่น ไม่มีดาราเกาหลีใต้คนไหนดังในญี่ปุ่นอย่างนี้มาก่อน ยิ่งตอนที่ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้กำลังระหองระแหงทางการทูต คนยังพูดกันเลยว่า “นักการทูตสัก 10 ท่านหรือจะประสานเก่งเท่าท่านยง (คนเดียว)”

ผมเคยลองเทียบเคียงถามผู้หญิงญี่ปุ่นว่า เหตุไฉนบุรุษผู้มีรอยยิ้มเหมือนคนนึกคำพูดอะไรไม่ออกเช่นยงซะมะ ถึงได้โดนใจผู้หญิงวัยสามสิบขึ้นไปของญี่ปุ่นกันล้นหลามอย่างนี้?

ได้คำตอบว่า คงเพราะผู้หญิงญี่ปุ่นวัยนี้ รู้สึกขาดการหล่อเลี้ยงจากความอ่อนโยนของผู้ชายญี่ปุ่น นัยว่าผู้หญิงญี่ปุ่นกำลังโหยหาการทนุถนอม ความอ่อนไหว และการดูแลจากผู้ชายญี่ปุ่น พอเห็นชายร่างใหญ่ ดูอบอุ่น แถมยังอ่อนโยนอย่างท่านยง จึงล่องลอยไปกับความฝันที่ใจร่ำร้องอยู่นานแล้ว นี่เป็นอุทาหรณ์สำหรับหญิงไทยที่หลงใหลหนุ่มญี่ปุ่นว่า อย่าได้คาดหวังความเอาใจใส่จากชายญี่ปุ่นหน้าแฉล้ม คิ้วหนา ตาตี่ มากนัก ถ้าดูเอาน่ารักให้ชื่นตาชื่นใจก็แล้วไป แต่ถ้าจะปลงใจอยู่ด้วยแบบนานปี ต้องคิดดีๆ หน่อย
ร้านขายสินค้าเกี่ยวกับดารานักร้องในย่านชินโอกุโบะ
เรียกได้ว่ายงซะมะคือผู้ก่อกระแสเคป๊อปขึ้นในญี่ปุ่น เพราะหลังจากนั้นก็มีละครเกาหลีมาออกอากาศในญี่ปุ่นอีกหลายเรื่อง นักร้องก็มาเปิดคอนเสิร์ตกันบ่อยครั้ง กระแสนี้ดำเนินมาประมาณ 10 ปีและเริ่มซา ระยะหลังๆ นี้ เมื่อผมกลับไปที่ย่านชินโอกุโบะอีก ก็แทบไม่เห็นกลุ่มคุณป้าอีกแล้ว การนำเสนอละครหรือเพลงของเกาหลีใต้ทางสื่อมวลชนในญี่ปุ่นก็เบาบางลง

เช่นเดียวกับในไทยที่กระแสเกาหลีเริ่มจางลง และจากเมื่อก่อนตอนที่นักร้องเกาหลีใต้ เช่น ดงบังชิงกิ หรือเรน โด่งดังในหมู่วัยรุ่นไทย เกาหลีใต้เคยเป็นประเทศยอดฮิตสำหรับนักท่องเที่ยวอยู่พักใหญ่ มาตอนนี้เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตให้คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นระยะสั้นได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ดูเหมือนจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวนมาก ได้หันเหจากเกาหลีใต้ไปสู่ญี่ปุ่นแทน

ในเมืองไทย เป็นไปได้ว่ากระแสเกาหลีอาจจะจางลงเรื่อยๆ จนคนไทยสัมผัสไม่ได้หรือเลิกใส่ใจ แต่ในญี่ปุ่น ไม่ว่ากระแสเคป๊อปจะแผ่วลงแค่ไหน กลิ่นอายเกาหลีก็จะไม่มีวันหมดสิ้น เพราะประวัติศาสตร์คือสิ่งที่เลื่อนไหลยาวนานผ่านหลายชั่วคน...ไม่เหมือนแฟชั่น
ร้านขายสินค้าเกี่ยวกับดารานักร้องในย่านชินโอกุโบะ
ร้านขายสินค้าเกี่ยวกับดารานักร้องในย่านชินโอกุโบะ
ร้านขายสินค้าเกี่ยวกับดารานักร้องในย่านชินโอกุโบะ
**********

คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น