xs
xsm
sm
md
lg

กลิ่นอายเกาหลีที่ญี่ปุ่น (1)

เผยแพร่:   โดย: ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

(ที่มา www.crossed-flag-pins.com)
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


น้องคิม

เมื่อ 15 ปีก่อน ตอนนั้นยังไม่เกิดกระแสเกาหลีฟีเวอร์ในเมืองไทย ผมไปเกาหลีใต้ในฐานะเยาวชนไทยเข้าร่วมค่ายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ และเมื่อไม่นานมานี้ ได้กลับไปอีกครั้ง คราวนี้ในฐานะผู้เข้าร่วมการประชุมวิชาการ และด้วยความที่ไปจากญี่ปุ่นซึ่งเคยมีกระแสเกาหลีเฟื่องฟูและกำลังเริ่มแฟบในเวลาใกล้เคียงกับที่เมืองไทย อีกทั้งเท่าที่ผ่านมาก็เคยพบปะคนเกาหลีใต้บ่อยๆ และมีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรที่เป็นเกาหลีในญี่ปุ่นด้วย จึงอดนึกถึงความสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ ของประเทศนี้กับญี่ปุ่นไม่ได้

เกาหลีใต้อยู่ใกล้ญี่ปุ่นมากจนผมไม่สามารถดูหนัง Jurassic World ได้ระหว่างทางจากกรุงโตเกียวไปกรุงโซลเพราะหนังยาว 126 นาที แต่เครื่องบินใช้เวลาบนฟ้าน้อยกว่านั้น นั่งรถไฟชิงกันเซ็งจากโตเกียวไปโอซากาใช้เวลามากกว่านั้นเสียอีก แผ่นดินของญี่ปุ่นกับคาบสมุทรเกาหลีไม่ได้อยู่ติดกันและมีทะเลคั่น แต่การเดินทางถึงกันใช้เวลาเพียงสั้นๆ และเพราะความใกล้ ญี่ปุ่นกับคาบสมุทรแห่งนี้จึงมีความสัมพันธ์กันมาช้านาน ทั้งด้านดีและด้านร้าย

ชีวิตผมเริ่มเกี่ยวพันกับเกาหลีครั้งแรกเมื่อได้ไปเรียนที่ญี่ปุ่นนั่นเอง ผมมีเพื่อนเป็นคนเกาหลีใต้หลายคน หนึ่งในนั้นคือเพื่อนรุ่นน้องผู้ชายชื่อคิม โซโฮ เรารู้จักกันในห้องเรียนภาษาญี่ปุ่น คิมเรียนปริญญาตรี ผมเริ่มเรียนปริญญาเอก คิมอยู่ญี่ปุ่นมา 2 ปี เรียนภาษาญี่ปุ่นแค่ 2 ปี ผมเรียน 4 ปี แต่เราอยู่ห้องเดียวกัน ระดับเดียวกัน อย่างนี้จะเรียกว่าคิมฉลาด หรือจะเรียกว่าผมไม่เอาไหน?...คงต้องปล่อยให้คิดเอาเอง

จริงๆ แล้วอายุเราต่างกัน 7 ปี แต่สนิทกันจนรู้สึกเหมือนอายุไล่เลี่ยกัน สนิทเพราะไปกินข้าวด้วยกันบ่อย ไปคาราโอเกะด้วยกัน 2 คนก็เคย เที่ยวถึงเช้าด้วยกันก็หลายครั้ง นี่ถ้าน้องคิมเรียนไม่จบ ไม่รู้ว่าพ่อแม่น้องจะมาสำแดงเทศนาโวหารหรือสวดภาณยักษ์ใหญ่ขับไล่ผีขี้เล่นอย่างพี่ไหมหนอ

และผลที่สุดคิมก็เรียนปริญญาตรีไม่จบภายใน 4 ปีตามกำหนดจริงๆ ส่วนผมก็เรียนปริญญาเอกไม่จบภายใน 3 ปี (แต่อันนี้ไม่ได้กำหนด เพราะปริญญาเอกสายศิลป์ที่ญี่ปุ่นเรียนกัน 5-6 ปี)

ในห้องเรียนเดียวกันนี้ ยังมีอีกหลาย “คิม” เวลาอาจารย์เช็กชื่อ จะเรียกเฉพาะนามสกุลไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการขานรับแบบคิมสามัคคี อาจารย์ต้องเรียกให้ครบทั้งนามสกุลและชื่อ จึงจะระบุตัวถูก พอถามคิมที่เป็นเพื่อนรุ่นน้องจึงทราบว่าที่เกาหลีใต้มีคนนามสกุลคิมเกือบครึ่งประเทศ ตั้งแต่ไปเรียนที่ญี่ปุ่น ในบรรดาคนที่ผมรู้จักทั้งหมด มีคนญี่ปุ่นมากที่สุด รองลงมาคือเกาหลีใต้ซึ่งในจำนวนนั้นมีคุณ “คิม” อยู่หลายคน ถัดไปคือคนไทย ที่เป็นอย่างนี้เพราะผู้คนแวดล้อม นอกจากจะมีคนญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าของประเทศแล้ว ก็มีคนเกาหลีใต้อยู่อีกจำนวนมาก

เนื่องจากสนิทกับน้องคิม จึงหมายมั่นปั้นมือไว้ว่าน่าจะได้เรียนรู้อะไรจากเขาบ้าง (นอกจากเทคนิคการเซ็ตทรงผม) แต่เรื่องราวไม่ได้พัฒนาไปในแนวทางนั้น เพราะคิมออกจากเกาหลีใต้ไปเรียนมัธยมต้นที่นิวซีแลนด์จนจบมัธยมปลาย แล้วก็ย้ายไปเข้ามหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่น ถ้ามีอะไรที่เกี่ยวกับเกาหลีละก็ ยิงไปเถอะ ยิ่งถามเยอะ คิมยิ่งไม่รู้ ถ้าคิมรำคาญขึ้นมา คิมก็จะตอบว่า “ถามอะไรที่น่าฟังกว่านี้หน่อยได้ไหมพี่ เรื่องการ์ตงการ์ตูนก็ได้”

...น้องเอ๋ย พี่รู้ว่าน้องเป็นเอตทัคคะทางด้านการ์ตูนญี่ปุ่น แต่วัยน้ำหมากกระจายอย่างพี่ บางทีก็กระดากที่จะคุยเรื่องหนังการ์ตูนแล้วนะ

...ได้ข้อสรุปว่า ถ้าอยากรู้เรื่องเกาหลีแบบลึกๆ ดีที่สุดคือต้องถามคนเกาหลีใต้ที่อยู่เกาหลีใต้นานๆ หน่อย...ซึ่งไม่ใช่คิมคนนี้

อ้าว...ไม่ใช่คนญี่ปุ่นหรือ

เมื่อพูดถึงญี่ปุ่นกับเกาหลี (ตั้งแต่สมัยที่มีเกาหลีเดียว) ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าสองชาตินี้รู้จักกันดีตั้งแต่โบราณกาล คบค้ากันมาช้านาน แต่ไม่ใช่แค่การ ‘คบ’ กับ ‘ค้า’ เท่านั้น ถึงขั้น ‘ฆ่า’ ก็มีมาแล้ว เรียกได้ว่าปฏิบัติต่อกันทั้งแบบเป็นมิตรและคิดประทุษร้ายกันเป็นระยะๆ หากเล่าตีแผ่ทุกฉากว่าใครทำใครเจ็บกว่ากัน คงจะกลายเป็นมหากาพย์เรื่องยาว แต่เมื่อมองคร่าวๆ จากสภาพปัจจุบัน ก็พอจะสรุปได้ไม่ยากว่าญี่ปุ่นเคยฝากรอยช้ำไว้บนคาบสมุทรเกาหลีมากเกินกว่าที่สองเกาหลี (ทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้) จะให้อภัยได้ง่ายๆ ถึงได้ฮึ่มๆ ใส่ญี่ปุ่นอยู่เรื่อย

ไม่ชอบกัน แล้วเพราะอะไรจึงมีคนเกาหลีอยู่ที่ญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากล่ะ?

สงสัยอยู่เหมือนกัน ผมเคยถามคิม ได้คำตอบว่า “ญี่ปุ่นอยู่ใกล้ ภาษาญี่ปุ่นก็เรียนไม่ยากโครงสร้างภาษาญี่ปุ่นคล้ายกับภาษาเกาหลีค่อนข้างมาก มีหลายคำที่ออกเสียงเกือบจะเหมือนกันเลยด้วย และถ้าพูดภาษาญี่ปุ่นได้ก็จะมีโอกาสหางานดีๆ ได้ง่ายขึ้น คนเกาหลีใต้ก็เลยมาเรียนที่ญี่ปุ่นเยอะแยะ (มั้ง)”...โชคดีที่คิมยังพอตอบได้

ดูเหมือนว่าคำตอบของคิมไขข้อข้องใจได้แต่เรื่องของคนเกาหลีใต้ แต่ยังไม่ใช่คำอธิบายเรื่องของ คนเกาหลีอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งผมบังเอิญมีโอกาสได้พบ

มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อไปสังสรรค์กับเพื่อน ในบรรดาเพื่อนๆ เพื่อนได้พาเพื่อนของเพื่อนมาพบเพื่อนๆ เพื่อให้กลุ่มเพื่อนขยายวงของการเป็นเพื่อนต่อไป แต่ผลสุดท้ายใครเป็นใครคาดว่าคงจำกันไม่ค่อยได้ รู้แต่ว่าหลายคนจำผมได้เพราะเป็นคนไทยเพียงคนเดียว บังเอิญผมได้นั่งติดกับเพื่อนของใครสักคนและสนทนากันอย่างเมามันส์ คุยกันนานสองนาน วนเวียนอยู่กับเรื่องเรียนเรื่องเล่น จนกระทั่งต่างคนต่างเห็นว่าหมดประเด็นรอบตัวที่จะหยิบยก จึงวกมาพูดเรื่องตัวเองกัน ฝ่ายผมระดมโฆษณาเมืองไทยจนคนฟังชักเคลิ้มอยากลองมาเที่ยว แต่แล้วหัวข้อพูดคุยก็เปลี่ยนไปหลังจากที่ผมเอ่ยว่า...

“เป็นคนญี่ปุ่นเนี่ย...ดีนะ จะไปเที่ยวต่างประเทศที่ไหน ส่วนใหญ่ไม่ต้องขอวีซ่า”
“เราเป็นคนเกาหลี” เขาตอบ
“ว่าไงนะ?” ผมนึกว่าตัวเองนอกจากมันส์แล้วยังเมาจนหูเพี้ยน จึงถามย้ำเพื่อความแน่ใจ แต่เขายังตอบว่า
“เราเป็นคนเกาหลี” น้ำเสียงหนักแน่นกว่าเดิม เขาว่าเขาเป็นคนเกาหลีโดยที่ไม่ได้ระบุว่าเป็นเกาหลีทิศไหน เป็นแค่ “เกาหลีเฉยๆ”

ในภาษาญี่ปุ่น การพูดว่า “เกาหลี” แล้วหมายถึง “เกาหลีใต้” อย่างที่คนไทยพูดนั้นไม่มี ถ้าภาษาญี่ปุ่นพูดว่า “เกาหลี” จะหมายถึงคนเชื้อชาติเกาหลีจากคาบสมุทรเกาหลี เพราะฉะนั้นเพื่อนคนนี้ต้องไม่ใช่คนเกาหลีใต้แน่ๆ แต่ทำไมเขาถึงพูดเช่นนี้ เขาเป็นเกาหลีแบบไหนกัน?

สรุปว่าผมได้ยินคำย้ำไม่ผิดแน่ แต่ที่น่าสงสัยคือ หน้าตาเขาออกจะญี่ปุ่น แถมพูดภาษาญี่ปุ่นน้ำไหลไฟดับ ไม่มีสำเนียงแปร่งให้จับได้เลยว่าเป็นคนต่างชาติ อย่างนี้คงต้อง ‘ซัก’ ให้ขาวว่าเอาเคล็ดลับการเรียนภาษาญี่ปุ่นมาจากไหน

“ทำไมพูดภาษาญี่ปุ่นเก่งจัง มาเรียนที่ญี่ปุ่นตั้งแต่เมื่อไร” ผมตั้งกระทู้ต่อ
“ตั้งแต่เกิด”
“ว่าไงนะ?” รู้สึกว่าวันนี้ประโยคนี้ขายดีเป็นพิเศษ
“เราเกิดที่ญี่ปุ่น” เขาว่าอย่างนั้น
“อ๋อ...เป็นลูกครึ่งเหรอ” ผมยังไม่ละความพยายามที่จะคาดเดา
“เปล่า...เราเป็นคนเกาหลี คนเกาหลีจริงๆ” คนพูดเน้นเสียง
“อย่างนี้ก็พูดภาษาเกาหลีได้สิ”
“อันนิยงฮะเซโย คัมสะฮับนิดะ (หวัดดี ขอบคุณ) พูดได้แค่นั้นแหละ”

ผมนึกอยู่ในใจ ประโยคหากินแบบนี้ใครๆ ก็พูดได้น่า “เอ๊า!...เป็นคนเกาหลีแต่พูดได้แค่นี้ เป็นคนญี่ปุ่นก็บอกมาเถอะน่า อย่ามาอำกันเลย” ปากก็ว่าไปแต่ผมเริ่มปะติดปะต่อเรื่องราวไม่ถูก “เห็นเราเป็นคนไทย จะมาล้อเล่นอย่างนี้ไม่ได้นะ” ผมตบท้ายแบบทีเล่นทีจริง

เพื่อนญี่ปุ่นอีกคนที่นั่งอยู่แถวนั้นคงอดรนทนไม่ได้ที่เห็นผมไม่เข้าใจ จึงช่วยอธิบายให้ความกระจ่างว่า ที่ญี่ปุ่นมีคนชาติพันธุ์เกาหลี (หมายรวมทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ซึ่งแม้ว่าเป็นคนละประเทศกันในปัจจุบัน แต่ประชาชนเป็นคนชาติพันธุ์เดียวกันและพูดภาษาเดียวกัน) อยู่มากมาย ไม่เพียงแต่คนเกาหลีใต้รุ่นหนุ่มสาวที่มาเรียนต่อที่ญี่ปุ่นในขณะนี้เท่านั้น แต่ยังมีคนเกาหลีอีกประเภทหนึ่งซึ่งระบุได้ไม่ถนัดนักว่าเป็นเหนือหรือใต้ เพราะเกาหลีประเภทที่ว่านี้มาอยู่ญี่ปุ่นก่อนจะมีสองเกาหลีและก่อนที่โลกจะรู้จักระเบิดปรมาณู การมาญี่ปุ่นของพวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่มาเพราะอยาก แต่ส่วนมากถูกญี่ปุ่นบังคับลงเรือมา

ผมจึงได้ทราบว่า เพื่อนคนที่ย้ำนักย้ำหนาว่าตัวเป็นเกาหลีนั้น มีบรรพบุรุษเป็นคนเกาหลีที่ข้ามมาญี่ปุ่นเมื่อครั้งอดีต แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปีก็ยังเป็นคนเกาหลีอยู่เช่นเดิม แล้วก็เพิ่งทราบว่า การเกิดในญี่ปุ่นไม่ได้รับประกันว่าจะเลือกถือสัญชาติญี่ปุ่นได้

พอเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นในวงสนทนาขึ้นมาบรรยากาศจึงเปลี่ยนไป ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่กำลังพูดคุยกัน ทำให้เพื่อนคนนั้นเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ หรือสับสนอะไรในความเป็นตัวเองหรือเปล่า ผมจึงไม่ได้ถามต่อว่าต้นตระกูลของเขามาจากทางเหนือหรือทางใต้ และไม่กล้าถามลึกลงไปว่าเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นญี่ปุ่นหรือเกาหลีกันแน่ นึกๆ ไปก็น่าสงสาร แค่จะระบุรากเหง้าของตัวก็พูดได้ไม่เต็มปาก

เมื่อไม่ได้เจาะลึกเกี่ยวกับเรื่องที่เหมือนจะลับ ความอยากรู้เกี่ยวกับต้นสายปลายเหตุที่ละเอียดกว่านั้นจึงค้างคาใจต่อมา ครั้นจะถามน้องคิมก็คิดว่าคงป่วยการ หาหนังสืออ่านเองอาจจะเร็วกว่า

ต่อมาในวิชาการฟังภาษาญี่ปุ่น มีโอกาสค้นคว้า และได้ฟังคำอธิบายในห้องเรียนเมื่ออาจารย์เอาภาพยนตร์ญี่ปุ่นชื่อ Go (อ่านว่า “โก”; ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ชื่อเรื่องเป็นภาษาอังกฤษ) ซึ่งตัวเอกเป็นคนเกาหลีลักษณะเดียวกับเพื่อนเกาหลีคนนั้นมาให้ดู ถึงได้รู้เบื้องหลังมากกว่าเดิมว่านับแต่สมัยโบราณ เกาหลีกับญี่ปุ่นเป็นเพื่อนกัน ญี่ปุ่นเรียนรู้อะไรหลายอย่างผ่านทางคาบสมุทรเกาหลี แต่ก็เป็นดังคำกล่าวที่ว่าโลกนี้อาจไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร พอถึงวันร้ายคืนร้าย ฝ่ายญี่ปุ่นฮึกเหิมขึ้นมา แทนที่จะทำการค้า กลับไล่ล่าเพื่อให้ได้มาซึ่งอาณานิคม คนเกาหลีมากมายในญี่ปุ่นทุกวันนี้จึงกลายเป็นลูกหลานเกาหลีจากยุคที่ญี่ปุ่นยึดคาบสมุทรเกาหลีเป็นเมืองขึ้น

**********

คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

ดาราเกาหลีได้ขึ้นปกนิตยสารและออกโฆษณาในญี่ปุ่นมากมาย ผู้ที่โด่งดังระดับตำนานในญี่ปุ่นคือ แพ ยงจุน

นวนิยายเรื่อง Go
ภาพยนตร์เรื่อง Go ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับคนเกาหลีในญี่ปุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น