ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ปล่อยให้สังคมสอน
ที่ญี่ปุ่น แต่ไหนแต่ไรมา เรื่องเพศไม่ใช่หัวข้อสนทนาเชิงการศึกษาในครอบครัวเช่นเดียวกับสังคมไทย แต่กลายเป็นเรื่องเล่าขำขันบ้าง เป็นเรื่องโอ้อวดในวงเหล้าบ้าง พ่อแม่ญี่ปุ่นเหมือนกับพ่อแม่ไทย คือไม่ค่อยสอนเรื่องเพศให้แก่ลูก ไม่ให้ความรู้ด้านเพศศึกษาแก่เด็กเพราะรู้สึกกระดาก ถ้าเด็กถาม ก็จะตอบว่า “โตขึ้นเดี๋ยวก็รู้เอง” (รู้น่ะ รู้แน่ ๆ เพราะร่างกายมันกระตุ้น แต่จะรู้ผิดรู้ชอบด้วยหรือเปล่า ไม่มีใครรับประกันได้) เมื่อผู้ใหญ่บอกเด็กอย่างนั้น จึงยิ่งดูเหมือนเป็นเรื่องลับ พอสัญชาตญาณวัยเจริญพันธุ์เรียกร้องขึ้นมาแล้วถามคนที่บ้านไม่ได้ ก็ต้องไปถามเพื่อน เพื่อนก็รู้พอ ๆ กัน ยิ่งคุยยิ่งพากันเป็นตาบอดคลำช้าง ประกอบกับมีความอยากรู้อยากลองด้วย จึงยิ่งไปกันใหญ่
ความไม่รู้ของเด็กมีมากกว่าที่ผู้ใหญ่คิดว่า “อันโลกีย์มิต้องสอนเหมือนกลอนเพลง มันเป็นเองในอารมณ์ใคร่ชมชิด” ไม่ต้องอื่นไกล เอาตัวเองเทียบก็ได้ เล่าไป ใคร ๆ อาจคิดว่าแกล้งทำเป็นใสซื่อ (อีกแล้ว) แต่นี่คือเรื่องจริงที่จำได้จนถึงทุกวันนี้ ตอนอยู่สักประมาณ ม.1 หรือ ม.2 ผมยังมีความเข้าใจอยู่ว่าถ้าผู้หญิงกับผู้ชายอยู่ใกล้กัน...แค่นั่งด้วยกันทุกวัน ผู้หญิงจะตั้งท้องขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ ตัวเองยังรู้สึกดีใจที่อยู่โรงเรียนชายล้วน ไม่ต้องคอยระวังว่าจะมีเพื่อนผู้หญิงตั้งท้องเพราะนั่งใกล้เรา ตอนนั้นไม่ทราบเลยว่ากลไกการตั้งครรภ์มันมีบทอัศจรรย์รวมอยู่ด้วย และอีกเรื่องหนึ่งคือเวลาดูละครโทรทัศน์แล้วมีฉากหมอตำแยทำคลอด ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมหมอจะต้องไล่ผู้ชายออกไปนอกเรือนด้วย และยังเข้าใจผิดซ้ำซ้อนมาตลอดว่า เวลาคลอดลูก หมอจะเอามีดกรีดท้องตรงที่เป็นพุงป่อง ๆ ของผู้หญิง แล้วหยิบเอาเด็กออกมา ตอนนั้นไม่ทราบจริง ๆ ว่าทารกทุกคนต้องรู้จักลอดช่อง (ที่ไม่ใช่ขนม) ก่อนรู้จักน้ำนมมารดา มารู้อีกทีก็หลายปีหลังจากนั้น
เชื่อว่าทั้งผู้ใหญ่ญี่ปุ่นและผู้ใหญ่ไทยคงอยากสอนเด็กอยู่เหมือนกัน แต่ความเขินอายกั้นเอาไว้เพราะการพูดถึงเรื่องพวกนี้ไม่ใช่สิ่งที่สังคมเปิดใจยอมรับ ระยะนี้สังคมญี่ปุ่นหันมาใส่ใจเรื่องการให้ความรู้ด้านเพศศึกษามากกว่าแต่ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผู้ใหญ่เริ่มเป็นห่วงวัยรุ่นว่าไวไฟเกินวัยอันควร แต่แนวทางการสอนเรื่องเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่การรณรงค์ให้สงวนตัวจนกว่าจะแต่งงาน เป็นการเรียนเพื่อให้เข้าใจตัวเองและรู้จักอันตรายจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเสียมากกว่า เพราะจำนวนคนที่เป็นโรคเอดส์ในญี่ปุ่นกำลังเพิ่มขึ้น
เมื่อครอบครัวสอนไม่ได้ ก็พยายามจะผลักภาระให้โรงเรียนสอน แต่การสอนเพศศึกษาในสังคมที่ไม่ค่อยกล้าพูดถึงเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก “ความพอดี” ซึ่งถูกมองว่าเป็นความดีงามในสังคมยิ่งกลายเป็นประเด็นที่หาข้อยุติได้ยาก ขณะนี้ในญี่ปุ่นก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่าจะสอนให้เด็กรู้ลึกขนาดไหนและแค่ไหนเรียกว่าไม่น่าเกลียด ความลำบากจึงตกอยู่กับคนสอน ตัวอย่างหนึ่งคือ เมื่อปี 2547 คณะกรรมการการศึกษาของกรุงโตเกียวออกคู่มือสอนเพศศึกษาให้ครูโรงเรียนประถมและมัธยมต้นใช้ ในคู่มือมีข้อกำหนดว่าครูต้องสอนตามหลักสูตรที่กำหนดและใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมกับอายุของนักเรียน เวลาสอนในห้องเรียน ครูอาจารย์ทั้งหลายอึดอัดใจอย่างยิ่งเพราะคู่มือกำหนดไว้ว่า “อย่าพูดคำว่า เพศสัมพันธ์” ครูโรงเรียนมัธยมต้นบางคนออกมาบ่นว่า เมื่อมีข้อกำหนดอย่างนี้ขึ้นมา ต่อไปจะตอบเด็กได้หรือว่าสเปิร์มเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้อย่างไร
ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการสอนเพศศึกษาของญี่ปุ่นเกิดช่องว่างในการเรียนรู้ โรงเรียนญี่ปุ่นสอนเพศศึกษาเมื่อเด็กย่างเข้าวัยรุ่นซึ่งเหมือนกับของไทย โดยบรรจุลงไปในวิชาสังคม วิทยาศาสตร์ และสุขศึกษา ผลที่ออกมาคือการสอนเน้นทางด้านสรีระ-ชีววิทยา ซึ่งทำให้เด็กเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย แต่ก็ยังไม่เข้าใจกลไกอย่างสมบูรณ์และไม่ค่อยได้รับการปลูกฝังเรื่องทัศนคติเชิงสังคมและพฤติกรรม ปัญหาการติดโรคทางเพศสัมพันธ์และการมีอคติกับผู้ป่วยโรคเอดส์จึงเกิดขึ้น
อีกทั้งความบกพร่องเรื่องการปลูกฝังยังเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้วัยรุ่นญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากเพื่อน ๆ ด้วย คือถ้าเป็นวัยรุ่นแล้วยังไม่เคยลองถือว่าเป็นเรื่องน่าอาย วัยรุ่นจึงพยายามมี เซ็กส์พีเรียนซ์ (sexperience) ให้เร็วที่สุด เมื่อมีขึ้นมาสักครั้ง แล้วเอาไปคุยให้เพื่อนฟังก็กลายเป็นจุดสนใจของเพื่อน ๆ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องโก้เก๋
บางทีอาจดูเหมือนว่าคนญี่ปุ่นมีอะไรขัดแย้งกันอยู่ในตัว เมื่อพิจารณาด้านมนุษยสัมพันธ์แล้ว คนต่างชาติมองว่าคนญี่ปุ่นไม่ค่อยพูด ขี้อาย และยังไม่กล้าสอนเรื่องเพศให้เด็กด้วย แต่ในอีกมุมหนึ่งกลับเปิดเผยและมีผลิตภัณฑ์สนองสัญชาตญาณการดำรงเผ่าพันธุ์ออกมามากมาย ขายองค์ความรู้วิชาชีววิทยาภาคปฏิบัติได้ดีเป็นเทน้ำเทท่า และไม่ได้มีลูกค้าแค่ในญี่ปุ่น แต่มีอยู่ทั่วไป ลองถามชายไทยอายุตั้งแต่วัยรุ่นขึ้นมาก็ได้ว่า เคยเรียนชีววิทยากับ ‘สื่อ’ การสอนของญี่ปุ่นบ้างไหม คำตอบเป็นอย่างไร ผู้ชายเขารู้กัน
การหาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องยากเลย ถ้าเป็นสิ่งพิมพ์ ไม่ต้องตระเวนไปไหนไกลก็มีให้ซื้อหาอยู่ตามร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน ถ้าไปร้านเฉพาะทางที่เรียกว่าเซ็กส์ชอป จะยิ่งเลือกไม่หวาดไม่ไหว มีทั้งอุปกรณ์ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และปัจจุบันสื่อออนไลน์ก็มีมาเตะตาที่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนกันแล้วด้วย เมื่อแพร่หลายอย่างนี้ มีหรือที่จะไม่ตกไปอยู่ในมือของวัยรุ่นที่ไม่ได้รับการปลูกฝังจากครอบครัวและโรงเรียนมาตั้งแต่แรก ถ้าเป็นภาพเคลื่อนไหว ใครใคร่ซื้อซื้อ ใครใคร่ยืมก็มีให้ยืมอย่างง่ายดายตามร้านเช่าดีวีดีซึ่งนอกจากจะมีหนังหรือละครทั่วไปให้เช่า เมื่อเข้าไปด้านลึกสุดของร้านยังมีมุมเฉพาะสำหรับผู้ชายด้วย ทางเข้ามุมมีม่านกั้นอยู่หน่อยเดียว เขียนติดไว้ตัวเบ้อเร่อว่า “อายุต่ำกว่า 18 ห้ามเข้า”
ของไทยยังไม่มีอะไรโจ่งแจ้งเท่านี้ แต่ในเมื่อที่ญี่ปุ่นมีมุมเตะตาซะขนาดนั้น พอเลี่ยงวันโกนวันพระแล้ว ผมจึงก้าวเข้าไปสำรวจมุมที่ว่านี้ในร้านเช่าดีวีดีใกล้มหาวิทยาลัยด้วยความอยากรู้อยากเห็น ผู้คนในนั้นมีไม่มาก มีทั้งผู้ชายวัยรุ่นตอนปลาย และวัยทำงาน บางคนใส่แว่นหนาหน้าตาคงแก่เรียน บางคนแต่งตัวเซอ บางคนใส่สูทเหมือนเพิ่งเลิกงานมา ท่าทีและการแต่งกายหลากหลายออกไป แต่ที่ไม่ต่างกันคือสีหน้าจริงจังขณะที่หยิบดีวีดีออกมาพลิกหน้าพลิกหลัง นี่แหละ..สังคมญี่ปุ่นอีกมุมหนึ่ง ภายในนั้น คนเดียวที่มองซ้ายมองขวาเลิ่กลั่กเหมือนไก่ชนตื่นสนามคือผม ดูเหมือนคนญี่ปุ่นไม่มีใครอายใคร แต่น้องใหม่จากไทยที่เพิ่งก้าวเข้าไปรู้สึกอายแทน เดินสำรวจได้ไม่ถึงสิบนาที ก็ขออำลาโดยไม่กล้าเชิญวิทยากรด้านชีววิทยาคนไหนติดมือออกมาด้วย
ภาพลักษณ์กับความไร้เซ็กส์
ผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่า โดยลักษณะประจำชาติแล้วคนญี่ปุ่นขี้อาย แต่สิ่งที่เห็นแล้วทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งคือ ขี้อายแต่กลับทำธุรกิจด้านนี้แบบโจ่งแจ้ง ผมจึงแปลกใจไม่น้อย พลอยทำให้กลับมาคิดใหม่ว่า...หรือว่าสิ่งที่เคยรู้มาไม่เป็นความจริง?
ครั้นประมวลทุกสิ่งเข้าด้วยกันจึงได้ข้อสรุปว่า ภาพลักษณ์ที่คนต่างชาติมองคนญี่ปุ่นว่าขี้อายนั้นยังคงเป็นจริง แต่เป็นจริงในคนละมาตรฐาน เมื่อคนญี่ปุ่นคบกับคนต่างชาติ วัฒนธรรมญี่ปุ่นสอนให้นิ่ง ค่อยๆ พูด ไม่แสดงอารมณ์จนเกินเลยต่อหน้าคนอื่น ลักษณะเช่นนี้คนต่างชาติมองว่าเป็นความขี้อาย แต่ในสังคมญี่ปุ่นที่คนญี่ปุ่นคบกันเอง ความขี้อายที่ถูกมองนั้น คนญี่ปุ่นเรียกว่าการสงวนท่าทีและความมีมารยาท สิ่งที่คนต่างชาติมองก็ถูกต้องในมุมมองของคนต่างชาติ และพอเอามาตรฐานนั้นมาวัด จึงเกิดคำถามว่าในเมื่อคนญี่ปุ่นขี้อายแล้วทำไมเปิดเผยเรื่องอย่างว่า
ในมุมมองของญี่ปุ่น “การเข้าสังคม” (ซึ่งเกี่ยวกับการพูดจามากที่สุด) กับ “เรื่องบนเตียง” เป็นคนละเรื่องกัน และการสงวนท่าทีก็ไม่ใช่ความขี้อาย ดังนั้น การเปิดเผยเรื่องเพศที่คนต่างชาติมองว่าเป็นฟรีเซ็กส์ซึ่งสะท้อนผ่านพฤติกรรมและสารพัดผลิตภัณฑ์จึงเป็นเรื่องธรรมดาในสังคม เป็นเรื่องธรรมดาในโลกของใครของมันที่คนญี่ปุ่นต่างก็เห็น ดู รู้สึก เข้าใจ และรู้กัน เพียงแต่เงียบไว้และไม่เอามาพูดในที่สาธารณะเท่านั้นเอง
การที่คนญี่ปุ่นเปิดเผยและรู้สึกว่าเรื่องพรรค์นี้เป็นเรื่องธรรมดาอย่างที่ผมว่ามาทั้งหมด บางทีก็กลายเป็นภาพลักษณ์ในเชิงลบแก่ญี่ปุ่นด้วย คนญี่ปุ่นไม่รู้หรอกว่า ทัศนคติ ผลิตภัณฑ์ และสถานที่ด้านเพศพานิชย์ของญี่ปุ่น ได้ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยมองว่าคนญี่ปุ่นเป็นพวกเอ็กซ์ทิวิตี้จัด
อย่างไรก็ตาม เรื่องอะไรก็แล้วแต่ในโลกนี้ มักมีช่องว่างระหว่างความรู้สึกที่คนภายนอกมองกับความเป็นจริงของสิ่งที่ถูกมอง เพราะถ้าวัดกันด้วยจำนวนครั้งของเกมอัศจรรย์แล้วล่ะก็ หลายคนอาจต้องเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับคนญี่ปุ่นเสียใหม่ และสำหรับคุณผู้หญิง ถ้าสมมุติว่าจะตกลงปลงใจแต่งงานกับคนญี่ปุ่นเป็นเรื่องเป็นราว ก็ไม่ต้องกลัวว่าสามีจะโหมทำการบ้านหนักหนา เพราะเอาเข้าจริงคนญี่ปุ่นก็ไม่ได้ขยันอย่างนั้น อัตราการเกิดของเด็กถึงได้ลดลงอยู่ทุกวันนี้
ผลสำรวจของบริษัทดูเร็กซ์ที่ทั่วโลกมักนำไปอ้างอิงชี้ว่า จำนวนครั้งที่คนญี่ปุ่นมีเอ็กซ์ทิวิตี้ต่อปีนั้น ต่ำว่าอัตราเฉลี่ยมาก และต่ำที่สุดติดต่อกันหลายปีในบรรดา 26 ประเทศที่สำรวจมาซึ่งมีไทยรวมอยู่ด้วย อย่างข้อมูลที่เผยแพร่ในปี 2550 ชี้ว่า อัตราเฉลี่ยคิดจากทุกประเทศที่สำรวจคือ 103 ครั้งต่อปี แต่คนญี่ปุ่นมีแค่ 48 ครั้ง (ส่วนคนไทยมี 108 ครั้ง)
เมื่อข้อมูลบ่งออกมาอย่างนี้ จะเห็นได้ว่าถ้าพูดถึงเรื่องความเปิดเผยละก็ ญี่ปุ่นเปิดเผยจริง แต่อาจไม่ได้หมกมุ่นอย่างที่ถูกมอง ถ้าเป็นเรื่องหมกมุ่นคงเป็นเรื่องงานมากกว่า กลายเป็นยุ่งการงานจนการบ้านไม่สมบูรณ์ และเป็นสาเหตุหนึ่งของปรากฏการณ์ที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นปัญหา “เซ็กส์เลส” (sexless) ซึ่งหมายถึง การไม่มีหรือมีเพศสัมพันธ์น้อยครั้ง
คำว่า “เซ็กส์เลส” ซึ่งภาษาญี่ปุ่นพูดทับศัพท์ว่า “เซ็ก-กุ-ซุ เระะ-ซุ” (セックスレス) นั้น ตามนิยามของกลุ่มวิชาการวิทยาศาสตร์เพศศึกษาแห่งญี่ปุ่น คือ การไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างกันเป็นระยะเวลานานกว่าหนึ่งเดือนขึ้นไป และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนั้นต่อไป ทั้ง ๆ ที่ไม่มีสาเหตุเฉพาะอันยอมรับได้ว่าสุดวิสัย คำนี้กำลังแพร่หลายในญี่ปุ่นและมีการถกกันอย่างกว้างขวาง เพราะคนญี่ปุ่นเองก็ตกใจว่าทำไมตัวเองทำการบ้านน้อยครั้งกว่าประเทศอื่น
ปี 2547 มีผลการสำรวจของญี่ปุ่นออกมาว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของคู่สามีภรรยาญี่ปุ่นเป็นคู่ที่ไม่ประกอบเอ็กซ์ทิวิตี้กัน สาเหตุที่เป็นไปได้ของเซ็กส์เลสโดยทั่วไป คือ มีความเครียดจากการงาน การนอกใจทำให้คู่ตัวเองปฏิเสธเอ็กซ์ทิวิตี้ ผู้หญิงญี่ปุ่นประกอบอาชีพนอกบ้านมากขึ้นและให้ความสำคัญแก่งานมากกว่าครอบครัว ความสัมพันธ์ของคู่รักกลายความรู้สึกไปเป็นคนในครอบครัวโดยมองอีกฝ่ายเป็นเหมือนพี่น้องหรือญาติ การติดสื่อทางเพศ เช่น ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว จนประทับใจมากกว่ากิจกรรมจริงกับคู่ของตัวเอง
พอประชาชนญี่ปุ่นไม่ขยันทำการบ้านหนักๆ เข้า ผู้เชี่ยวชาญจึงต้องออกมากระตุ้นให้คนกระตือรือร้นกันหน่อย ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ต่อไป นอกจากประเทศจะมีแต่คนสูงอายุแล้ว ประชากรเด็กก็มีแต่จะลด กำลังคนที่จะมาทำงานให้ประเทศก็หดหายไป แล้วต่อไปญี่ปุ่นจะเข้มแข็งได้เหมือนเดิมหรือไม่? นี่คืออีกด้านหนึ่งที่เกี่ยวกับเอ็กซ์ทิวิตี้
ดูเหมือนว่าการหาความพอดีในโลกนี้ช่างเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเสียเหลือเกิน น้อยไปก็ไม่ดี มีมากไปก็ไม่เหมาะ สิ่งที่เราคิดว่าเกินหรือขาดในมุมมองของเรา อาจจะพอดีสำหรับเขาหรือสำหรับใครก็ได้ จุดสำคัญจึงอยู่ที่ว่าเราใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน การอยากรู้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าอยากลองโดยเอาของใครมาเป็นมาตรฐานอาจจะเป็นการลองผิดก็ได้ ของไทยก็ดีแบบไทยอยู่แล้ว เห็นของใคร ก็อย่าได้ทำตามเขา โดยไม่รู้จักตัวเราให้ถ่องแท้
ร่ายยาวมาถึงขนาดนี้ ถ้าบอกว่า “พอหอมปากหอมคอ” ไม่รู้ว่ายังจะมีใครเชื่ออีกไม่? หรืออาจมีใครแอบคิดว่าอยู่ในใจว่าผมชี้โพรงให้กระรอกหรือเปล่าก็ไม่ทราบ?
แต่ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่ เพราะกระรอกยุคนี้ ไม่ต้องชี้ก็วิ่งกันพรวดพราดอยู่แล้ว และอยากจะบอกว่า เมื่อเกิดเป็นคนไทย ไม่ว่าจะไปที่ไหน ใครๆ ก็เรียกเราว่าไทยอยู่ดี ความจริงข้อนี้ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น ถ้ากระรอกไทย จะไปมีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ในญี่ปุ่น ท่องไว้อย่างหนึ่งว่า ในฐานะคนไทย...แม้นจักรักรักไว้เป็นอารมณ์ อย่ารักชมนอกหน้าเป็นราคี
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th