xs
xsm
sm
md
lg

เปิดขั้นตอนพิจารณาคดีศาลญี่ปุ่น ชี้ชะตา “คำรณวิทย์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันนี้ อัยการญี่ปุ่นจะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ที่ถูกจับกุมในข้อหาพกพาอาวุธปืนที่สนามบินนาริตะ โดยมีความเป็นไปได้ที่คดีของอดีตนายตำรวจใหญ่ของไทยจะใช้วิธี “การพิจารณาคดีแบบเร่งรัด”

วันจันทร์ที่ 13 ก.ค.นี้ คดีของพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จะครบกำหนดผลัดฟ้อง 20 วันตามกฎหมายญี่ปุ่น โดยอัยการนัดสั่งคดีว่ามีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่? ซึ่งถึงแม้จะจะยากที่จะประเมินความเห็นของอัยการญี่ปุ่น หากแต่การทำความเข้าใจกับขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาลญี่ปุ่น ก็อาจคาดการณ์ชะตากรรมของอดีตนายตำรวจใหญ่ของไทยได้

ไม่ฟ้องถูกเนรเทศ ถ้าฟ้องติดคุกแน่

ข้อมูลจากเว็บไซต์สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำญี่ปุ่น ระบุว่า การสั่งฟ้องคดีของอัยการของญี่ปุ่นจะพิจารณาฐานความผิด,หลักฐาน รวมทั้งเจตนาการกระทำผิดของผู้ต้องหา โดยปกติแล้วอัยการญี่ปุ่นจะไม่สั่งฟ้องคดีหากไม่มั่นใจว่าจะชนะความ โดยอัตราการสั่งไม่ฟ้องอยู่ที่ราว 1 ใน 4 ของคดีทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม หากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี ความเป็นไปได้ที่ศาลญี่ปุ่นจะสั่งลงโทษจำเลยมีสูงถึง 99% ซึ่งบทลงโทษสำหรับความผิดของพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ในข้อหาครอบครองอาวุธปืน คือ จำคุกไม่เกิน 10 ปี นอกจากนี้ยังมีความผิดข้อหาครอบครองกระสุนปืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1ล้านเยน

ฟ้องไม่ฟ้อง ยากคาดการณ์

หากเทียบเคียงคดีของพล.ต.ท.คำรณวิทย์ กับคดีของนางจูลี แฮมป์ อดีตผู้บริหารของโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปฯ ที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวในข้อหาต้องสงสัยว่านำเข้ายาระงับปวด ออกซิโคโดน (Oxycodone) จากอเมริกา ซึ่งเธอได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 8 ก.ค. โดยไม่ได้ถูกตั้งข้อหา

ซากาเอะ โคโมริ ทนายที่รับว่าความในคดีนี้ บอกว่า เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาว่าอัยการญี่ปุ่นจะส่งฟ้องหรือไม่ส่งฟ้อง เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้ที่ครอบครองยาจำนวนน้อยกว่านี้ก็เคยถูกสั่งฟ้องมาแล้ว

“นี่เป็นคดีอาชญากรรมร้ายแรงในญี่ปุ่น แต่เจ้าหน้าที่อาจมองว่าเธอต้องเผชิญกับการลงโทษจากสังคมมากพอแล้ว และเธอเองก็ไม่ได้ถูกตัดสินว่าใช้ยาในทางที่ผิด” โดยทนายความมองว่า การประกาศลาออกจากโตโยต้าคงมีส่วนช่วยให้อัยการตัดสินใจไม่สั่งฟ้องคดี

การพิจารณาคดีแบบเร่งรัด

หากอัยการสั่งฟ้องคดี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ยังมีช่องทางที่สามารถกลับเมืองไทยได้เร็วขึ้น คือ ขอใช้การพิจารณาคดีแบบเร่งรัด

ตั้งแต่ปี 2006 ญี่ปุ่นได้เพิ่มวิธีการพิจารณาคดีแบบเร่งรัด เพื่อลดภาระของศาลและช่วยให้ยุติคดีได้รวดเร็วขึ้น โดยผู้ต้องหาที่มีสิทธิ์ใช้วิธีการพิจารณาคดีแบบนี้ คือ ผู้ที่ทำความผิดลหุโทษและยอมรับความผิด โดยอัยการมีความเห็นว่าสามารถขอให้ศาลรอลงอาญาได้ การพิจารณาคดีแบบเร่งรัดจะเริ่มต้นขึ้นภายในเวลา 2 สัปดาห์หลังอัยการยื่นฟ้องต่อศาล โดยศาลจะพิจารณาและตัดสินคดีภายในวันเดียวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ที่พล.ต.ท.คำรณวิทย์ต้องเผชิญ คือ ข้อจำกัดของความผิดฐาน “ลหุโทษ” ในญี่ปุ่น คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับเงินไม่เกิน 2 แสนเยน แต่อัตราโทษของพล.ต.ท.คำรณวิทย์นั้นสูงกว่ามาก จึงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของอัยการและศาลว่าจะสามารถใช้การพิจารณาคดีแบบเร่งรัดได้หรือไม่?

รอลงอาญา เนรเทศกลับประเทศ?

จำเลยส่วนใหญ่ที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีแบบเร่งรัด จะถูกศาลสั่งลงโทษปรับเงิน และรอลงอาญาโทษจำคุกเป็นเวลา 1-5 ปี ซึ่งหากจำเลยเป็นชาวต่างชาติก็จะถูกเนรเทศกลับประเทศของตัวเอง

เช่นเดียวกับกรณีที่ไม่ถูกสั่งฟ้อง ผู้ต้องหาก็ขอเดินทางกลับประเทศได้ หากแต่จะถูกบันทึกว่าเคยมีประวัติทำความผิดอาญาในประเทศญี่ปุ่น และจะถูกขึ้น “บัญชีดำ” ห้ามเดินทางเข้าญี่ปุ่นเป็นเวลา 5-10 ปี.

ทางการไทยช่วยเหลืออย่างไรบ้าง?
ไม่ว่าชะตากรรมของพล.ต.ท.คำรณวิทย์ จะออกมาในรูปแบบไหน หากแต่อีกคำถามหนึ่งที่กระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทย ต้องชี้แจงให้ชัดเจน คือ ความช่วยเหลือที่ให้กับอดีตนายตำรวจใหญ่ของไทยนั้นมีอะไรบ้าง? โดยเฉพาะค่าทนายความในญี่ปุ่นที่สูงถึง 6,000 ดอลลาห์สหรัฐฯ หรือ กว่า 190,000 บาทเป็นอย่างน้อยนั้น ใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย?

นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทยยังพึงชี้แจงว่า เอกสารที่ส่งมายังประเทศญี่ปุ่นนั้นมีส่วนช่วยเหลือคดีของพล.ต.ท.คำรณวิทย์อย่างไร? โดยเฉพาะปืนที่พล.ต.ท.คำรณวิทย์ครอบครองนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่?

ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่า “ของที่มีตำหนิแม้เพียงนิดเดียว ก็ไม่อาจอวดโฉมได้อีก” ดังเช่นกรณีของนางจูลี แฮมป์ ที่ไม่เพียงต้องสูญเสียตำแหน่งผู้บริหารของของโตโยต้า แต่เธอจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งระดับสูงของบริษัทญี่ปุ่นได้อีก เนื่องจากมีประวัติด่างพร้อยถึงแม้ว่าเธอจะไม่มีเจตนากระทำผิดก็ตาม ส่วนอนาคตของพล.ต.ท.คำรณวิทย์นั้น สังคมไทยจะเป็นผู้ใคร่ครวญและให้คำตอบ.
กำลังโหลดความคิดเห็น