ญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีเทศกาลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้ามากมาย เพื่อขอพรให้สุขภาพแข็งแรง และเป็นกิจกรรมที่ให้ประชาชนสนุกสนานผ่อนคลายจากอากาศที่ร้อนอบอ้าว
ช่วงฤดูร้อนของแดนอาทิตย์อุทัยเริ่มตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน โดยมักจะมีฝนตกต่อเนื่อง หลังจากนั้นอากาศจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนถึงช่วงเดือนสิงหาคมบางพื้นที่อาจมีอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส สภาพอากาศเช่นนี้ไม่เพียงทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายๆ แต่ประชาชนยังอ่อนล้าจากความร้อนที่แผดเผา ชาวญี่ปุ่นจึงได้ริเริ่มเทศกาลต่างๆ หรือที่เรียกว่า “มัตสึริ” เพื่อให้ประชาชนได้ผ่อนคลายจากอากาศที่ร้อนอบอ้าว
ช่วงฤดูร้อนจึงนับเป็น “ช่วงเวลาแห่งเทพเจ้า” ของแดนอาทิตย์อุทัย ศาลเจ้าประจำชุมชนต่างๆจะนำแท่นบูชาเทพขึ้นรถแห่ไปรอบพื้นที่ เพื่อให้ชาวบ้านได้ขอพรให้สุขภาพแข็งแรง นอกจากนี้ยังมี “งานวัด” ต่างๆมากมาย รวมทั้งการจุดดอกไม้ไฟอย่างสวยงาม เพื่อให้ประชาชนได้สนุกสนานในยามค่ำคืน
“งานวัด” ของแดนอาทิตย์อุทัยจะจัดขึ้นตามศาลเจ้าของลัทธิชินโตและวัดพุทธ โดยจะมีกิจกรรมเล่มเกมต่างๆ, การแสดงบันเทิง, การประกวดสาวงาม รวมทั้งซุ้มจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม คล้ายกับงานวัดที่เมืองไทย เพียงแต่ที่ญี่ปุ่นนั้นภายในงานวัดก็มีสุราจำหน่าย และสามารถดื่มสุราในวัดได้
เอกลักษณ์ของงานวัดญี่ปุ่น คือ หนุ่มสาวจะเปลี่ยนจากการสวมกิโมโน มาเป็นชุดยูกะตะ ซึ่งเป็นเสื้อผ้าสำหรับฤดูร้อน ดังนั้นงานวัดช่วงฤดูร้อนในญี่ปุ่นจึงเต็มไปด้วยสีสันที่สดใสของชุดยูกะตะของหนุ่มสาว
เทศกาลของผู้หญิง เทศกาลแห่งความรัก
ตามตำนานเล่าขานว่า เทศกาลฤดูร้อนที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น คือ เทศกาลบูชาเทพเจ้า “ไอเซน” ซึ่งในพื้นที่นครโอซากายังจัดกิจกรรมนี้เป็นประจำทุกปี โดยในอดีตหญิงสาวจะขอพรต่อเทพให้มีฝีมือด้านการเย็บปักถักร้อย และขอให้เทพเจ้าช่วยปัดเป่ารังควาญด้วย แต่ในปัจจุบันเทศกาล “ไอเซน” กลายเป็นเทศกาลของสาวงาม เพราะมีการประกวด “เทพีไอเซน”
เทศกาลฤดูร้อนจึงเป็นโอกาสให้หญิงสาว ซึ่งในอดีตต้องอยู่กับเหย้า เฝ้ากับเรือน ได้มีโอกาสเที่ยวเล่นผ่อนคลาย และยังได้อวดโฉมในชุดยูคะตะด้วย
ทานาบาตะ วาเลนไทน์แห่งตะวันออก
เทศกาลที่สำคัญที่สุดในช่วงฤดูร้อน คือ ทานาบาตะ ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนที่เรียกว่า เทศกาลค่ำคืนเดือนเจ็ด หรือ 七夕 ซึ่งถูกเปรียบเทียบว่าเป็น “วันวาเลนไทน์ของชาวจีน”
เทศกาลทานาบาตะของญี่ปุ่นกับของจีน ต่างอ้างอิงตำนานปรัมปราเรื่อง “หนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า” อย่างไรก็ตาม หลังการปฏิรูปเมจิ ญี่ปุ่นได้ยกเลิกการใช้ปฏิทินจันทรคติ ทำให้เทศกาลทานาบาตะของญี่ปุ่นจัดขึ้นในวันที่ 7 กรกฎาคม ขณะที่เทศกาลของจีนยังคงยึดถือตามปฏิทินดั้งเดิม ซึ่งช้ากว่าราวหนึ่งเดือน ทำให้มีคนกล่าวว่า “ความจริงแล้ว หนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้ามีโอกาสพบกันปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกที่ญี่ปุ่น และอีกหนึ่งเดือนต่อมาพบกันที่เมืองจีน”
ในเทศกาลทานาบาตะ ชาวญี่ปุ่นจะเขียนคำอธิษฐานลงบนกระดาษสี่เหลี่ยมผืนผ้า 5 สี ที่เรียกว่า "ทังซะขุ" แล้วนำไปห้อยบนกิ่งไผ่ พร้อมด้วยของประดับอื่นๆ เช่น กระดาษตัดเป็นรูปคล้ายๆ โซ่แทนสัญลักษณ์ของทางช้างเผือก วันรุ่งขึ้นก็จะนำกระดาษอธิษฐานเหล่านี้ไปลอยน้ำ
ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลอย่างมาก เทศกาลต่างๆจึงมักผูกโยงเข้ากับฤดูกาล โดยใช้ลัทธิศาสนามาเป็นตัวช่วยสร้างแรงศรัทธามากยิ่งขึ้น
เทศกาลช่วงฤดูร้อน นอกจากจะเป็นกิจกรรมผ่อนคลายจากอากาศที่อบอ้าวแล้ว ยังแฝงเร้นนัยยะที่ในโอกาสหนุ่มสาวได้พบปะกันในยามค่ำคืน และหลังจากนั้นทั้งคู่อาจพัฒนาความสัมพันธ์ต่อไป จากการพบปะในฤดูร้อนจนถึงการครองคู่ในฤดูหนาว ทำให้ช่วงเวลาอันหนาวเหน็บอบอุ่นขึ้นจากห้วงหัวใจ.