อ่างทอง - ชาวอ่างทองพาครอบครัวเข้าวัดทำบุญตักบาตรเนื่องในวัน “วันวิสาขบูชา” ตามวัดต่างๆ กันคึกคัก
ส่วนที่บริเวณวัดโล่ห์สุทธาวาส อ.เมือง จ.อ่างทอง ประชาชนได้พาลูกหลานเข้าทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งกันตั้งแต่เช้าอย่างคึกคัก พร้อมกับปล่อยนกปล่อยปลาเพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องในวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ส่วนที่บริเวณวัดม่วง ต.หัวตะพาน อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ได้มีประชาชน และนักท่องเที่ยว เดินทางมาเป็นครอบครัวเพื่อร่วมทำบุญเนื่องในวันวิสาขบูชากันคึกคักเช่นกัน พร้อมกับเข้ากราบหลวงพ่อใหญ่ หรือ “พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ” พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย และเดินเที่ยวดูรูปปั้นต่างๆ ภายในวัด
สำหรับ “วันวิสาขบูชา” เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนาสำหรับชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก ทั้งเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศ และวันสำคัญในระดับนานาชาติตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธโคดม
โดยทั้ง 3 เหตุการณ์ได้เกิด ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่า เป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า “วิสาขบูชา” ย่อมาจาก “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ” อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย และมักตรงกับเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายนตามปฏิทินจันทรคติของไทย
โดยในประเทศไทยถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7 แต่ประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท และไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหนตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตาม ส่วนในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกายที่นับถือว่า เหตุการณ์ทั้ง 3 นั้นเกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน ซึ่งไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท