xs
xsm
sm
md
lg

สดจากพื้นที่! ลงประชามติชี้ชะตาจัดตั้ง “มหานครโอซากา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชาวโอซากา เมืองสำคัญอันดับ 2 ของญี่ปุ่น จะลงประชามติในวันนี้เรื่องแผนจัดตั้ง “มหานครโอซากา” ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารประเทศ และเป็นการแข่งขันทางการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น

การลงประชามติในวันนี้ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 07.00 น. และจะสิ้นสุดในเวลา 20.00 น. โดยในบัตรลงประชามติจะถามว่า “เห็นด้วย” หรือ “คัดค้าน” แผนการจัดตั้งมหานครโอซากา ที่เสนอโดยนายโทรุ ฮาชิโมโต นายกเทศมนตรีนครโอซากา

นายฮาชิโมโต อ้างว่า การบริหารท้องถิ่นในปัจจุบันของโอซากามีความซ้ำซ้อน เนื่องจากมีทั้งจังหวัดโอซากา และเทศบาลเมืองโอซากา ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและไม่มีประสิทธิภาพ จึงเสนอให้ยุบรวมการปกครอง และจัดตั้งเป็นมหานครโอซากา ในลักษณะที่เทียบเคียงกับกรุงโตเกียว, มหานครนิวยอร์ก หรือ มหานครเซี่ยงไฮ้

ข้อเสนอจัดตั้งมหานครโอซากามีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านในระดับที่ใกล้เคียงกันมาก จนยากจะประเมินฝ่ายใดจะได้รับชัยชนะในวันนี้
ฝ่าย คัดค้าน แผนตั้งมหานครโอซากา
กลุ่มไหนสนับสนุน กลุ่มไหนคัดค้าน ?

กลุ่มที่สนับสนุนการจัดตั้งมหานครโอซากา มีสองกลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่รวมตัวในนาม สมาพันธ์เศรษฐกิจคันไซ (Kansai Economic Federation) และหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งโอซากา (Osaka Chamber of Commerce and Industry) กลุ่มธุรกิจหวังว่ามหานครโอซากาจะช่วยให้รัฐบาลท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารงบประมาณ รวมทั้งสามารถออกมาตรการจูงใจเพื่อลดต้นทุนในการทำธุรกิจได้

ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ประชาชนกลุ่มรากหญ้า ที่เชื่อตามการรณรงค์ของนายโทรุ ฮาชิโมโต ว่ามหานครโอซากาจะลดขั้นตอนระบบราชการ และทำให้ชาวบ้านได้รับสวัสดิการที่ดีขี้น ประชาชนกลุ่มรากหญ้านี้เป็นฐานเสียงสำคัญที่ทำให้พรรคการเมืองของนายฮาชิโมโต ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งของโอซากาต่อเนื่องกันมาหลายปี โดยที่ผู้สมัครของพรรคการเมืองระดับชาติไม่อาจเจาะพื้นที่ได้

ฝ่ายที่คัดค้าน คือ กลุ่มข้าราชการและชนชั้นกลางเกือบทั้งหมดที่อาศัยในโอซากา ประชาชนกลุ่มนี้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม จึงเห็นว่าการจัดตั้งมหานครโอซากาเป็นความเสี่ยงเกินไป เพราะไม่แน่ใจว่าการบริหารรูปแบบใหม่จะดีหรือแย่กว่าเดิม ผู้ที่คัดค้านยังตั้งคำถามว่า มหานครโอซากาจะมีความหมายอะไร หากรัฐบาลกลางที่กรุงโตเกียวไม่ยอมกระจายอำนาจจากส่วนกลาง ?
การรณรงค์ของผู้ สนับสนุน แผนตั้งมหานครโอซากา
ศึกการเมือง ศึกชนชั้น

นอกจากการจัดตั้งมหานครโอซากาจะถูกถกเถียงกันในทางทฤษฎีแล้ว นัยยะอีกอย่างหนึ่งของการลงประชามติวันนี้ คือ เรื่องชนชั้นและการเมือง

ทั้งนี้ โอซากาเป็นพื้นที่ไม่กี่แห่งในญี่ปุ่น ที่พรรคการเมืองใหญ่ระดับชาติทั้งปีกรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่สามารถครองพื้นที่ได้ โดยพรรคการเมืองท้องถิ่นของนายโทรุ ฮาชิโมโต ได้ใช้ประโยชน์จากฐานเสียงของประชาชนกลุ่มรากหญ้า จนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในโอซากามาโดยตลอด

การลงประชามติในวันนี้ พรรคการเมืองระดับใหญ่ทุกพรรคจึงรวมตัวคัดค้าน ทั้งพรรค LDP ซึ่งเป็นรัฐบาล ไปจนถึงพรรค DPJ และพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น ที่เป็นฝ่ายค้าน

การต่อสู้ทางการเมืองเข้มข้นยิ่งขึ้น เมื่อนายฮาชิโมโตประกาศว่าจะวางมือทางการเมืองหากพ่ายแพ้การลงประชามติในวันนี้ ทำให้การหย่อนบัตรในวันนี้ไม่ใช่เพียงการตัดสินรูปแบบการปกครองของโอซากา แต่พรรคการเมืองใหญ่รวมทั้งกลุ่มประชาชนที่ไม่ชอบใจนายฮาชิโมโต ก็หวังใช้โอกาสนี้ปิดฉากทางการเมืองของนักการเมืองพยศรายนี้

สัญญาณลับจากทำเนียบรัฐบาล?

ถึงแม้ว่าพรรค LDP ซึ่งเป็นรัฐบาลของญี่ปุ่นจะคัดค้านแนวคิดมหานครโอซากาอย่างสุดตัว แต่เป็นเรื่องแปลกที่สำนักนายกรัฐมนตรี ณ กรุงโตเกียว กลับสงวนท่าที ซ้ำนายกรัฐมนตรีชินโสะ อะเบะ ยังระบุว่า “เข้าใจความต้องการอิสระในการบริหารท้องถิ่นของชาวโอซากา”

ท่าทีดังกล่าวทำให้เกิดการคาดเดาว่า แกนนำพรรค LDP อาจกำลังต่อรองอะไรบางอย่างกับนายฮาชิโมโต เนื่องจากนายฮาชิโมโต ไม่เพียงเป็นผู้มากบารมีแห่งโอซากา แต่ยังเป็นแกนนำพรรคการเมืองขนาดใหญ่อันดับ 3 ในรัฐสภาญี่ปุ่นด้วย และหากแผนจัดตั้งมหานครโอวาซาถูกคว่ำลง นายฮาชิโมโตก็ต้องพ้นจากเส้นทางการเมืองไปตามที่ลั่นวาจา แน่นอนว่าจะทำให้เกิดความปั่นป่วนในการเมืองระดับชาติของญี่ปุ่นด้วย เนื่องจากถึงแม้พรรค LDP จะมีเสียงข้างมากในรัฐสภา หากแต่การเสนอกฎหมายสำคัญ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องใช้เสียงสนับสนุนมากถึง 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา

เป็นได้ได้หรือไม่ว่า นายกฯอะเบะได้มองข้ามช็อตเรื่องการจัดตั้งมหานครโอซากา เพื่อบรรลุเป้าหมายที่สำคัญยิ่งกว่า คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
นายโทรุ ฮาชิโมโต หารือกับนายกฯชินโสะ อะเบะ เมื่อหลายปีก่อน
ประเมินผลประชามติ

สำนักข่าวของญี่ปุ่นหลายแห่งเปิดเผยการสำรวจล่วงหน้าว่า ผู้ที่คัดค้านแผนจัดตั้งมหานครโอซากามีมากกว่าผู้สนับสนุน ในสัดส่วน 48 ต่อ42 หากแต่เมื่อเจาะลึกไปดูกติกาในการลงประชามติวันนี้จะพบว่า “เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายสนับสนุนอย่างมาก”

กติการะบุว่า เมื่อนำบัตรลงคะแนนทั้งหมดมารวมกัน หากบัตรที่ “สนับสนุน” มีมากกว่าครึ่งหนึ่ง แม้เพียงหนึ่งใบ ข้อเสนอจัดตั้งมหานครโอซากาจะมีผลทันที ซึ่งหมายความว่า หากจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์มีน้อย เกณฑ์ครึ่งหนึ่งของบัตรทั้งหมดก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไร

จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่จะสร้างความชอบธรรมให้การลงประชามติวันนี้ เพราะหากตั้งสมมุติฐานตามกติกาแล้ว ชาวโอซากาที่มีสิทธิ์ออกเสียงในวันนี้มีมากกว่า 2 ล้านคน แต่หากมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เพียงแค่ 1 ล้านคน หรือ 50% ดังนั้นเกณฑ์ครึ่งหนึ่ง ไม่ว่าของฝ่ายสนับสนุนหรือคัดค้าน ก็คิดเป็นเพียง 25% ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงรวมทั้งหมดเท่านั้น....มาตรฐานเช่นนี้จะถือเป็นฉันทามติที่ตัดสินอนาคตของเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศญี่ปุ่นได้จริงหรือ?

อ่านข่าวประกอบ จับตา 17พ.ค. ลงประชามติชี้ชะตาจัดตั้ง “มหานครโอซากา”
กำลังโหลดความคิดเห็น