xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนจากญี่ปุ่น เมาแล้วขับโทษหนักทั้งคนขับคนนั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด โดยสาเหตุที่สำคัญที่สุดคือ เมาแล้วขับ ซึ่งถึงแม้กฎหมายจราจรของประเทศไทยจะได้รับการปรับปรุงจนมีความเข้มงวดมาก หากแต่สถิติอุบัติเหตุก็ยังไม่ได้ลดลงอย่างชัดเจน การเรียนรู้กฎหมายจากจราจรของประเทศญี่ปุ่นอาจช่วยให้การป้องกันอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว ได้เกิดเหตุคนไทย 3 คนขับรถชนเด็กนักเรียนชาวญี่ปุ่นหนึ่งคนที่จังหวัดชิบะเสียชีวิต และเด็กอีกหนึ่งคนได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พิสูจน์แล้วว่าคนไทยทั้งหมดเมาสุราในขณะขับรถ และขณะนี้คดีกำลังอยู่ในระหว่างชั้นศาล โดยผู้ต้องหาอาจต้องโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 15 ปี รวมทั้งจะถูกครอบครัวผู้เสียชีวิตฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวนมหาศาล

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับปรุงกฎหมายจราจรเมื่อปี 2007 โดยเพิ่มโทษเมาแล้วขับ‬และชนแล้วหนี โดย ห้ามขับรถหลังจากดื่มสุราในทุกกรณี หากเกิดอุบัติเหตุและถูกตรวจพบว่าคนขับรถดื่มสุราต้องต้องรับโทษฐาน “ขับรถโดยอยู่ใต้ฤทธิ์ของแอลกอฮอร์” มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับเงิน 5แสนเยน

นอกจากนี้ หากตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอร์แล้วพบว่า “เมาแล้วขับ” จะต้องโทษเพิ่มขึ้นเป็นจำคุก 5 ปี ปรับเงิน 1ล้านเยน โดยปริมาณแอลกอฮอร์ที่ถือว่า “มึนเมา” ตามกฎหมายของญี่ปุ่น คือ 25 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ หรือน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกฎหมายของประเทศไทยที่กำหนดไว้ที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์

นอกจากนี้หากขับรถชนผู้อื่นจนถึงแก่ความตายยังมีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับเงิน 1 ล้านเยนเพิ่มอีกกระทงหนึ่ง

กฎหมายของญี่ปุ่นยังมีระบบตัดคะแนนเมื่อทำผิดกฎจราจร โดยหากขับรถหลังจากดื่มสุราและถูกเจ้าหน้าที่ตรวจพบ ถึงแม้จะไม่เกิดอุบัติเหตุก็จะถูกตัดคะแนน 25 คะแนน ซึ่งหากทำผิดกฎจราจรใดๆอีกเพียงครั้งเดียว ก็จะถูกระงับใบอนุญาตขับรถเป็นเวลา 3 ปี

ความเข้มงวดของกฎหมายญี่ปุ่นยังมีฐานความผิดครอบคลุมถึงผู้ร่วมเดินทาง ที่ไม่ห้ามผู้ที่เข้าข่ายเมาสุราขับรถ ต้องโทษความผิดจำคุก 3 ปี ปรับเงิน 5 แสนเยน ดังนั้นผู้โดยสารในรถที่คนขับดื่มสุราก็ต้องรับโทษด้วยเช่นเดียวกัน

แม้แต่เจ้าของรถยนต์ หรือ ผู้ที่จำหน่ายหรือจัดหาเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ที่รู้ว่าอาจนำไปสู่อุบัติเหตุก็เข้าข่ายมีความผิดเช่นกัน มีโทษจำคุก 3-5 ปี ปรับเงิน 5แสน ถึง1 ล้านเยน

นอกจากโทษตามกฎหมายอาญาข้างต้นแล้ว ผู้ต้องหายังต้องเผชิญกับการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวนมหาศาลจากครอบครัวผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ โดยหากผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บเป็นเยาวชนก็จะยิ่งมีโทษหนัก เพราะถือว่าครอบครัวได้สูญเสียครั้งสำคัญ กรณีนี้เคยมีตัวอย่างจากเกิดคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งผู้ตายเป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัว คดีดังกล่าวได้กลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ทำให้ศาลญี่ปุ่นได้เพิ่มกฎเกณฑ์ในการพิจารณาโทษ โดยอนุญาตให้ “ผู้พิพากษาสามารถพิจารณาโทษสูงสุดได้ โดยคำนึงถึงความรู้สึกของครอบครัวผู้สูญเสีย”

จากการสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่น พบว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมขับรถท่องเที่ยวในแดนอาทิตย์อุทัยเป็นอันดับต้นๆ รัฐบาลท้องถิ่นและสมาคมรถเช่าเมืองซับโปโรจึงได้จัดทำสารคดีแนะนำความปลอดภัยในการขับรถเป็นภาษาต่างๆ คือ ภาษาญี่ปุ่น, จีน, เกาหลี,อังกฤษ และภาษาไทย ผู้สนใจเชิญรับชมจากคลิปวีดิโอ

กำลังโหลดความคิดเห็น