เอเอฟพี – โตโยต้าพาสื่อทัวร์สายพานการผลิตรถรุ่น “มิไร” ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน ปล่อยไอเสียมาเป็นน้ำที่จังหวัดไอจิ เผยปีแรกผลิต 700 คัน ก่อนเพิ่มเป็น 2,000 และ 3,000 ในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ ชี้เป็นรถแห่งอนาคตปูพื้นฐานไปสู่การสร้างสังคมพลังงานไฮโดรเจนของญี่ปุ่น
วานนี้ (24 ก.พ.) บริษัทโตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดย นายอาคิโอะ โตโยดะ ได้นำสื่อมวลชนไปชมสายพานการผลิตรถยนต์รุ่นมิไร (Mirai) รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel-Cell) รุ่นแรกของโลกที่ทำการผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ โดยในปี 2558 นี้ โตโยต้าวางแผนที่จะผลิตรถยนต์ 4 ประตูซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน และปล่อยของเสียมาเป็นน้ำจำนวน 700 คัน ขณะที่ในปีต่อๆ ไป โตโยต้าจะ ผลิตรถยนต์รุ่นมิไรที่มีความหมายในภาษาญี่ปุ่นว่า “อนาคต” เพิ่มขึ้นเป็น 2,000 คันในปี 2559 และ 3,000 คันในปี 2560
สำหรับโรงงานผลิตรถยนต์มิไรนั้นอยู่ที่โรงงานโมโตมาจิ ในจังหวัดไอจิ ทางตอนกลางของญี่ปุ่น โดยรถคันนี้ สามารถวิ่งได้ไกลถึง 650 กิโลเมตร หรือราว 400 ไมล์ ด้วยการเติมเชื้อเพลิงเพียงครั้งเดียว ซึ่งถือว่าวิ่งได้ไกลกว่ารถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันถึง 3 เท่า ขณะที่การเติมเชื้อเพลิงก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเหมือนกับการเติมน้ำมันรถในปัจจุบัน
“เรารู้สึกตื่นเต้นอย่างมากที่เราคิดเรื่องนี้ได้ก่อนใคร ก้าวย่างนี้เป็นก้าวย่างประวัติศาสตร์ที่จะนำไปสู่การก่อร่างสร้างสังคมพลังงานไฮโดรเจนในญี่ปุ่น” ประธานโตโยดะ เคยกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อเดือนก่อน ครั้งที่เขานำรถยนต์ไปแสดงที่สำนักนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น
เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงถือเป็นทางออกที่สวยหรูสำหรับยานพาหนะสีเขียว เนื่องจากมันขับเคลื่อนด้วยปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างไฮโดรเจน กับออกซิเจน และสิ่งที่ขับออกมาก็เป็นเพียงสสารที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างน้ำ โดยผู้ผลิตรถยนต์จากค่ายญี่ปุ่น อย่าง โตโยต้า ฮอนด้า และนิสสัน ถือเป็นผู้นำในกลุ่มรถยนต์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีรายงานว่าปีนี้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ 7 เจ้าของญี่ปุ่นทุ่มเงินถึง 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อค้นคว้าและวิจัยในด้านนี้