ทุกคนคงเคยอยากให้ยาของเรามีประสิทธิภาพการรักษาที่ดี และไม่เกิดการเสื่อมสลายก่อนวันหมดอายุ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ ที่มีความจำเป็นต้องใช้ยา ซึ่งหากมีการจัดเก็บยาที่ไม่ถูกต้องจะสามารถทำให้เกิดการเสื่อมสลายของตัวยาได้เร็วขึ้นเนื่องจากปัจจัยทางสภาวะแวดล้อม ได้แก่ ความชื้น อุณหภูมิ สารเคมี หรือแสงแดด ที่ส่งผลทำให้ปริมาณของตัวยานั้นลดลง ซึ่งเมื่อรับประทานยาเข้าไปนั้นระดับยาในเลือดอาจไม่ถึงระดับที่มีผลต่อการรักษาโรคได้
นอกจากนี้การเสื่อมสลายของยาอาจเกิดได้ทั้งจากตัวยาสำคัญหรือสารช่วยอื่นๆในตำรับยา ซึ่งส่งผลก่อให้เกิดสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น
- ยาแอสไพริน (Aspirin) ที่ช่วยต้านการแข็งตัวของเกร็ดเลือด ต้องระมัดระวังความชื้น เนื่องจากความชื้นจะทำให้ยาเกิดการสลายตัวเป็นกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) และกรดอะซิติก (Acetic acid) ส่งผลทำให้ใช้ยาแล้วไม่ได้ผลในการรักษา และหากได้รับสารเสื่อมสลายในปริมาณที่สูงอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ แต่เราสามารถสังเกตได้จากกลิ่นเปรี้ยวที่เหม็นฉุนมาจากกรดอะซิติก ซึ่งคล้ายกับกลิ่นน้ำส้มสายชู
- วิตามินซี หากเกิดการเสื่อมสลายจากความชื้นหรืออุณหภูมิ จะสังเกตเห็นจุดด่างสีน้ำตาลบนเม็ดยา
แต่หากเป็นยาอื่นที่ไม่สามารถสังเกตการเสื่อมสลายของเม็ดยาและต้องการพกพายาออกไป ข้างนอกเพื่อความสะดวกในการใช้ควรจัดเก็บหรือแบ่งบรรจุยา ดังนี้
ไม่ควรแกะยาที่บรรจุแผง หรือแบ่งออกจากกระปุกยา/ขวดยาที่ผู้ผลิตได้บรรจุมาตั้งแต่แรก เพราะบรรจุภัณ์นั้นได้มาตรฐานดีแล้ว แต่หากจำเป็นต้องแกะยาออกจากแผงหรือแบ่งออกจากกระปุกใหญ่ สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
- แผงยา ควรทำการตัดแบ่งแผงยาออกเป็นขนาดย่อยๆก่อนบรรจุลงในกล่อง ซอง หรือ ตลับยาที่จัดเตรียมไว้ โดยที่ขอบแผงยาที่ตัดออกแล้วต้องไม่มีส่วนใดฉีกขาดหรือมีรูรั่วถึงส่วนด้านในที่บรรจุเม็ดยาในแผง
- ยาบรรจุกระปุกใหญ่ หรือแกะยาออกจากแผงลงในภาชนะบรรจุใหม่ ให้พิจารณาใช้ภาชนะที่ปิดแน่น และมีลักษณะทึบแสงในการจัดเก็บ เพื่อป้องกันไม่ให้ยาโดนแสงแดด หากไม่มีและจำเป็นต้องแบ่งยา ให้ใช้ภาชนะที่ปิดสนิท เช่น ซองยาหรือตลับยา แทน ซึ่งต้องปิดภาชนะให้สนิทอยู่เสมอ และไม่ควรแบ่งยาเพื่อรับประทานเกิน 1 สัปดาห์ หากพบว่าเม็ดยามีลักษณะที่ผิดปกติหรือเปลี่ยนไปจากเดิมควรงดรับประทานยาดังกล่าว และปรึกษาเภสัชกร