อาการหงุดหงิดหลังเลิกสูบบุหรี่
ภายหลังจากการหยุดบุหรี่ ใช่ว่าทุกคนจะต้องเกิดอาการหงุดหงิดเสมอไป ในผู้ที่จิตใจเข้มแข็งและตั้งใจที่จะหยุดสูบบุหรี่จริง มีเป็นจำนวนมากที่ไม่มีอาการหงุดหงิดเลย โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่ไม่เกินวันละ ๑๐ มวน ผู้ที่จะมีอาการหงุดหงิดมากส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่สูบบุหรี่เกินวันละ ๑ ซอง และติดบุหรี่มานาน อาการหงุดหงิดจะเกิดมากที่สุดภายใน ๒-๓ วันแรก อาจโมโหง่าย ขาดสมาธิ เห็นอะไรขวางตาไปหมด มึนศีรษะ นอนไม่หลับ บางรายท้องไม่สบาย หลังจาก ๓ วันไปแล้วอาการจะค่อยๆ ลดลง และน้อยมากที่จะมีอาการเกิน ๑ สัปดาห์ ส่วนอาการอยากบุหรี่จะยังคงมีต่อไปเป็นสัปดาห์หรือบางรายเป็นเวลาหลายเดือน
สำหรับการแก้อาการหงุดหงิดนั้น ควรตั้งสติให้มั่น บอกกับตัวเองว่าจะต้องชนะใจตัวเอง หยุดสูบบุหรี่ให้ได้ และเตือนตัวเองเสมอว่าอาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ไม่นานก็จะหาย อย่าอยู่เฉยๆ คนเดียว หากิจกรรมมาทำ เช่น ไปเดินออกกำลังกาย หรือวิ่ง หรือเล่นกีฬาอื่น ถ้าหงุดหงิดมากให้ดื่มน้ำเย็น หรือให้อาบน้ำ งดเว้นการดื่มกาแฟหรือดื่มให้น้อยลง งดเว้นการดื่มเหล้า งดเว้นการเที่ยวบาร์หรือผับหรือดิสโก้เธค ระลึกไว้เสมอว่ามีคนไทยที่เลิกสูบบุหรี่ได้เองปีละ ๒,๐๐๐,๐๐๐ กว่าคน หรือวันละ ๖๐๐ กว่าคน ทุกวัน คุณก็เป็นผู้หนึ่งที่จะต้องทำได้สำเร็จอย่างแน่นอน ถ้าคุณอยากเลิกจริง ก่อนอื่น ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า กว่าร้อยละ ๘๐ ของผู้ที่หยุดสูบบุหรี่ ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องใช้ยาใดๆ ช่วยทั้งสิ้น สำหรับรายที่หยุดไม่ได้ด้วยตนเอง และมาหาแพทย์เพื่อขอความช่วยเหลือนั้น แพทย์ก็จะช่วยเป็นขั้นตอนต่อไปนี้
๑. การให้ความรู้ถึงพิษภัยของการสูบบุหรี่ นักสูบบุหรี่เป็นจำนวนมากไม่รู้ถึงพิษภัยของบุหรี่แท้จริง ทำให้ไม่เกิดแรงบันดาลใจหรือมีแรงบันดาลใจที่จะเลิกน้อย จุดนี้จะเห็นได้ว่า มีผู้ที่เลิกบุหรี่ได้เป็นจำนวนมาก เลิกได้เพราะได้พบเห็นกับตัวเองถึงความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ของญาติหรือเพื่อนสนิท ผู้เขียนเองนิยมที่จะพาผู้ที่ยังลังเลที่จะหยุดสูบบุหรี่ไปดูผู้ป่วยที่นอนหอบหรือเจ็บปวดอยู่ในโรงพยาบาล พบว่า บ่อยครั้งช่วยให้เขาตัดสินใจเลิกสูบบุหรี่ได้
๒. การให้กำลังใจแก่ผู้ที่อยากจะหยุดสูบบุหรี่ ผู้สูบบุหรี่จำนวนมากอยากจะหยุดสูบเพราะรู้ถึงพิษภัยจากการสูบบุหรี่แล้ว เพียงแต่ขาดกำลังใจ บุคคลเหล่านี้จะเน้นการให้กำลังใจให้เขาตัดสินใจที่จะเลิกสูบ หว่านล้อมให้เขาลงมือเลิกสูบบุหรี่ และให้เขาเลิกผลัดวันประกันพรุ่ง
๓. หากดำเนินการตามข้อ ๑ และ ๒ แล้วไม่สำเร็จ และผู้สูบแสดงความจำนงว่าต้องการจะหยุดสูบบุหรี่ แพทย์จึงจะพิจารณาใช้ยาช่วย ซึ่งยาที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยที่จะเลิกสูบบุหรี่ แบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ
๑. ยากล่อมประสาท
๒. ยาหรือหมากฝรั่งที่ใช้แล้วทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่
๓. ยาที่มีนิโคตินผสมเพื่อลดอาการเสี้ยน
ยากล่อมประสาทมีมากมายหลายชนิด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเป็นรายๆ ไป ว่าควรจะใช้ชนิดใด ส่วนใหญ่เพื่อช่วยให้ผู้หยุดสูบบุหรี่ผ่านพ้นระยะเวลาที่อยากสูบบุหรี่มากๆ ใน ๑ หรือ ๒ สัปดาห์แรกไปได้ แล้วก็ค่อยปรับยาลงจนหยุดยาได้เมื่อเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ยาประเภทที่ ๒ มีหลายรูปแบบทั้งชนิดกิน ชนิดอม และชนิดที่เป็นหมากฝรั่งใช้เคี้ยวเวลาอยากบุหรี่ เมื่อได้รับยากลุ่มนี้แล้ว เวลาสูบบุหรี่รสชาติจะไม่อร่อย ทำให้ผู้สูบไม่อยากสูบ ปัญหาคือ ยาพวกนี้ไม่มีจำหน่ายทั่วไปและต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์หรือพยาบาล ยาที่มีนิโคตินผสมเพื่อลดอาการเสี้ยน มีทั้งชนิดที่เป็นหมากฝรั่งที่มีนิโคตินผสมอยู่ ชนิดที่ใช้พ่นเข้าทางจมูกหรือคอ และชนิดที่เป็นแผ่นกอเอี๊ยะแปะติดกับผิวหนัง
สิ่งที่จะต้องเน้น คือ การใช้ยาเพื่อช่วยในการเลิกสูบบุหรี่นั้น ยาเป็นเพียงส่วนประกอบของกระบวนการทั้งหมดเท่านั้น ที่สำคัญที่สุดคือ ความตั้งใจจริงที่จะเลิก ซึ่งหากผู้สูบไม่ได้คิดที่จะเลิกสูบตั้งแต่ต้นแล้ว ไม่ว่าจะใช้ยาอะไรก็ไม่สามารถจะทำให้หยุดสูบได้ ที่ต้องเน้นเพราะว่ามีผู้ปกครองหรือภรรยาของผู้ที่ติดบุหรี่มาปรึกษา เพื่อขอให้จัดยาเพื่อให้บุตร หรือสามีของตน เพื่อจะให้เขาหยุดสูบบุหรี่ โดยที่เจ้าตัวผู้สูบบุหรี่เองไม่ได้คิดที่จะเลิก กรณีเช่นนี้ไม่ว่ายาอะไรก็ไม่มีประโยชน์