แผลร้อนใน
ใครเคยเป็นแผลร้อนในยกมือขึ้น ?
เชื่อว่ามีใครหลายคนก็เคยเป็นโรคนี้นะคะ แผลร้อนในเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเกิดขึ้นที่เยื่อบุผิวของช่องปากที่อาจเกิดเพียงหนึ่งหรือหลายแห่ง ซึ่งเจ็บปวดมาก สาเหตุมาจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน สภาพทางจิตใจและสังคม เกิดจากความเครียดและมีการทำงานที่มีความแข่งขันสูง อาจเกิดจากลักษณะทางกรรมพันธุ์ และภาวะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะขาดธาตุเหล็ก โฟเลท หรือวิตามินบี 12 นอกจากนี้ยังพบได้ในผู้หญิงก่อนมีประจำเดือน
ลักษณะแผลร้อนใน
1.แผลร้อนในขนาดเล็ก พบได้บ่อยในกลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 15-45 ปี พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย มักพบบริเวณเยื่อเมือกด้านริมฝีปาก ด้านแก้ม, กระพุ้งแก้ม และขอบของลิ้น รอยโรคมักปรากฏอยู่ในช่องปาก ประมาณ 14 วัน และมีอาการเจ็บปวดในช่วงสั้นๆ แต่เมื่อเยื่อบุผิวในช่องปากฉีกขาด จะเป็นแผลซึ่งมีลักษณะกลมรี มีสีเหลืองอ่อนและมีความเจ็บปวดมากขึ้น
2. แผลร้อนในขนาดใหญ่ พบได้น้อยกว่าแผลขนาดเล็ก แต่ทำให้ผู้ป่วยมีความเจ็บปวดการทานอาหาร การพูด หรือการกลืนน้ำลายจะยากลำบาก พบได้ทุกบริเวณในช่องปาก การหายของแผลกินเวลาประมาณ 10-40 วัน มักมีรอยแผลเป็นหลงเหลืออยู่
3. แผลชนิดคล้ายเฮอร์ปีส์ (herpetiform ulceration) มีลักษณะคล้ายแผลขนาดเล็ก พบได้บ่อยบริเวณใต้ลิ้น เพดานอ่อน ริมฝีปากด้านใน ลักษณะแผลจะเป็นกลุ่มและเจ็บปวด หายได้ภายใน 10-14 วัน ผู้ป่วยมักกลืนลำบาก และน้ำหนักลด เนื่องจากรับประทานอาหารลำบากและไม่เพียงพอ
ในปัจจุบันยังไม่ยาชนิดใดรักษาโรคนี้ให้หายขาด โดยไม่ปรากฏอาการเกิดขึ้นมาอีก ดังนั้น การรักษาที่นิยมในปัจจุบันคือ รักษาไปตามอาการโดยให้ สเตียรอยด์ทาเฉพาะที่ เพื่อลดอาการเจ็บและอาการอักเสบ
เมื่อมีอาการเป็นแผลร้อนใน ควรหลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัด และอาหารที่มีกรดหรือรสเปรี้ยวเช่น ผักดอง รวมไปถึงขนมหวานที่เคี้ยวจนเหนียว รวมทั้งเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ซึ่งจะทำให้แผลในปากที่เป็นอยู่มีอาการรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ควรบ้วนปากด้วยน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง และถ้าแผลไม่หายภายในสามสัปดาห์ควรไปพบแพทย์
พึงระลึกไว้ว่า แผลร้อนในเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายกำลังเหนื่อยล้าหรือทรุดโทรม จึงต้องดูแลตัวเองให้แข็งแรงด้วยการกินอาหารให้เหมาะสม นอนหลับอย่างเพียงพอและออกกำลังกายกลางแจ้งในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์เป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคนี้ลงไปได้ค่ะ