xs
xsm
sm
md
lg

2 สาร “ขาวอันตราย” ในเครื่องสำอาง ระวังหน้าพังตลอดชีพ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มีเรื่องมีราวให้ตกอกตกใจกันได้เรื่อยๆ สำหรับเรื่องเครื่องสำอางที่เอาใจคนชอบความขาว ซึ่งล่าสุด มีการแห่แชร์กันอีกครั้ง เรื่องผลกระทบอันเลวร้ายจจากการใช้เครื่องสำอาง ที่หน้าพังย่อยยับ เรามาทำความรู้ความเข้าใจกันหน่อยดีกว่า ว่าสารอันตรายตัวไหนที่ไม่ควรมีอยู่ในเครื่องสำอาง เพื่อป้องกันไว้ ก่อนจะตกเป็นผู้เสียหายรายต่อไป

ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาวนั้นได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย บริษัทเครื่องสำอางจึงได้ทำการคิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครีมที่ทำให้ผิวหน้าขาวใส ในปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์เหล่านี้วางจำหน่ายอยู่มากมายในท้องตลาด ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์ก็มีส่วนประกอบของสารสำคัญที่ทำให้ผิวขาวแตกต่างกันไป

2 สาร “ขาวอันตราย” ในเครื่องสำอาง ระวังหน้าพังตลอดชีพ!

หนึ่งในนั้น คือ “ไฮโดรควิโนน” ซึ่งเป็นสารเคมีซึ่งเป็นที่นิยมในการนำมาเตรียมครีมที่ทำให้หน้าขาวในอดีต เนื่องจากเห็นผลได้เร็วไฮโดรควิโนนออกฤทธิ์โดยการการยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีของผิวหนัง หรือที่เรียกว่า เมลานิน จึงมีผลทำให้ผิวขาวขึ้นได้ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนนั้นควรใช้กับผู้ที่มีปัญหาฝ้า หรือรอยด่างดำจากสิวที่รุนแรงและจะต้องมีเปอร์เซ็นต์ของตัวยาที่แน่นอนระบุอยู่ นอกจากนี้ควรใช้ในระยะเวลาที่จำกัด ไม่ควรใช้นานเกินไป และไม่ควรหยุดใช้ยาทันทีเนื่องจากอาจจะทำให้ผิวคล้ำลงกว่าเดิมได้จากการที่ผิวหนังเร่งผลิตเซลล์เม็ดสีมาทดแทน นอกจากนี้ไฮโดรควิโนนเป็นสารที่ทำปฏิกิริยากับแสงแดด ซึ่งหากทายาที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนแล้วไม่ทาครีมกันแดด ฝ้าจะดำกว่าเดิมได้

ในปัจจุบันนี้ “ไฮโดรควิโนน” ได้ถูกสั่งห้ามใส่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่วางจำหน่ายทั่วไป อย่างไรก็ตาม ในคลินิกที่จ่ายยารักษาฝ้าโดยแพทย์ ยังสามารถจ่ายให้ผู้ป่วยได้ตามความเหมาะสมตามดุลยพินิจของแพทย์ การใช้ครีมที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ เช่น การหาซื้อครีมทาฝ้ามาใช้เอง อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักจะผสมไฮโดรควิโนนในปริมาณสูงมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คือ 3-5% (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้ผสมสารไฮโดรควิโนนในการรักษาฝ้าได้ไม่เกิน 2%) ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ได้

เริ่มจากอาการระคายเคืองต่อผิว เกิดจุดด่างขาวที่หน้า ผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวร รักษาไม่หาย ทำให้เกิดโรคผิวหนังขึ้น เกิดตุ่มนูนสีดำบริเวณโหนกแก้มและสันจมูก ซึ่งเป็นบริเวณที่ทายาบ่อยๆ หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 6 เดือน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อภายในผิวหนัง ทำให้เกิดเป็นฝ้าถาวรสีน้ำเงินอมดำได้ ซึ่งอาจเกิดจากการที่ผิวหนังมีการปรับตัวให้สร้างเม็ดสีมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

อย.ได้ให้ข้อสังเกตว่า เครื่องสำอางที่พบสารอันตราย มักให้รายละเอียดบนฉลากไม่ครบถ้วน เช่น ไม่ระบุแหล่งผลิตครั้งที่ผลิต และวันเดือนปีที่ผลิต ในการเลือกซื้อผู้บริโภคจึงควรระมัดระวังและควรสังเกตฉลากเป็นลำดับแรก ฉลากที่ถูกต้องจะต้องเป็นภาษาไทยมีข้อความบังคับครบถ้วน ได้แก่ ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ วิธีใช้ชื่อที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต และปริมาณสุทธิการซื้อควรซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ไม่ควรซื้อเพราะคำโฆษณาเพียงอย่างเดียว

2 สาร “ขาวอันตราย” ในเครื่องสำอาง ระวังหน้าพังตลอดชีพ!

นอกเหนือจากสาร “ไฮโดรควิโนน” ที่ว่าแล้ว ยังมีสารอีกตัวที่คนรักความขาวจะต้องระวัง นั่นก็คือ “สารปรอท” ซึ่งจะส่งผลให้ผิวบริเวณที่ทา อาจคัน ระคายเคืองหรือเกิดการไหม้ แต่สารปรอทไม่ได้ทำอันตรายกับผิวบริเวณที่ทาเท่านั้น ยังมีโอกาสที่จะซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ทั้งสมองและไขสันหลัง ทำให้เสียการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย และเสียการรับรู้ เช่น การมองเห็น การได้ยิน

และที่สำคัญ การทำลายอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายที่เกิดจากปรอท เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถรักษาหรือทำให้กลับมาดีเหมือนเดิมได้ ถ้าทาครีมที่มีส่วนผสมของสารปรอทเป็นเวลานาน ผิวจะบาง แดง แพ้ เกิดผื่นระคายเคือง เล็บที่สัมผัสกับครีมจะบางลง ทำให้หน้าเห่อ คัน จนถึงพุพอง ส่วนระยะยาวคือพอใช้ไปนานๆ เกิดการสะสมของสารปรอทอยู่ใต้ผิว ทำให้ผิวคล้ำลง จากที่คิดว่าจะช่วยให้ขาว กลับจะกลายเป็นดำคล้ำลงกว่าเดิม

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเลือกเครื่องสำอางครั้งต่อไป ไม่ควรจะเชื่อเพียงคำโฆษณาชวนเชื่อที่เริดหรู แต่ต้องผ่านการพิสูจน์ตรวจสอบเพื่อให้รู้อย่างแท้จริงก่อนว่า เครื่องสำอางชนิดนั้นๆ มีเครื่องหมายรับประกันจาก อย.หรือไม่ และใส่สารสองตัวนี้ลงไปหรือไม่อย่างไร
เพราะไม่อย่างนั้น คุณอาจจะต้องเสียใจไปตลอดชีวิต

***ข้อมูล จากบทความโดย ดร.เอกรัตน์ จันทราทิตย์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ จิราภรณ์ อ่ำพันธ์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ พิษณุโลก***
กำลังโหลดความคิดเห็น