อย. เผยโรงงานผลิตนมโรงเรียนไม่ได้มาตรฐานหลายจุด ไม่ฟันธงเกี่ยวข้องทำนมโรงเรียนน้ำลี จ.น่าน บูดเสียแทบยกล็อต เหตุปนเปื้อนแบคทีเรียเกิดได้หลายสาเหตุ ระบุสั่งแก้ไขแล้วตั้งแต่ ส.ค. แต่ยังไม่แล้วเสร็จ รอผลตรวจสอบคุณภาพน้ำนม ก่อนหารือ อ.ส.ค. พิจารณาสั่งปิดโรงนม
จากกรณีนมโรงเรียนที่ได้รับแจกตามโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ของโรงเรียนบ้านน้ำลี ต.ปิงหลวง อ.นาหมื่น จ.น่าน บูดเสียเกือบยกล็อตนับร้อยกล่อง ทั้งที่ข้างกล่องระบุหมดอายุวันที่ 21 ก.พ. 2559 ซึ่งเป็นนมที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปิงหลวง สั่งซื้อจากองค์การส่งเสริมโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) โดยมีบริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด และ บริษัท ยูเอ็มโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่าย ซึ่งขณะนี้ผู้ว่าราชการ จ.น่าน ได้สั่งสอบข้อเท็จจริง และมีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงรายแล้วนั้น
วันนี้ (12 ก.ย.) นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า จากการตรวจสอบโรงงานผลิตนม พบว่า มีปัญหาอยู่หลายจุด ทั้งโครงสร้างอาคาร สถานที่จัดเก็บนมซึ่งผลิตเรียบร้อยแล้วรอส่ง เครื่องมือมีการชำรุด ทำให้มีปัญหาเรื่องระบบควบคุม และระบบการรายงานเพื่อให้หน่วยงานตรวจสอบยังมีปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ อย. เคยตรวจสอบพบเมื่อ ส.ค. ที่ผ่านมา และได้แจ้งให้มีการปรับปรุงแล้ว แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งปัญหาของโรงงานผลิตนมดังกล่าวอาจมีความเกี่ยวข้องกับสาเหตุที่ทำให้นมบูดหรือไม่ก็ได้ เพราะไม่ใช่ว่านมทุกล็อตจะมีปัญหา อาจเป็นความไม่สม่ำเสมอของคุณภาพนมมากกว่า ซึ่งต้องมีการพิสูจน์ตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม จากการที่สถานที่ผลิตมีปัญหาเช่นนี้ ก็ทำให้การผลิตนมไม่เป็นไปตามมาตรฐานจีเอ็มพี จึงต้องมีการสั่งปิดโรงงานผลิตนมดังกล่าว เพื่อให้ปรับปรุงจนกว่าจะได้มาตรฐาน นอกจากนี้ โรงผลิตนมดังกล่าวมีการส่งนมให้หลายโรงเรียนในหลายจังหวัด จึงต้องมีการหารือร่วมกับ อ.ส.ค. อีกครั้งในสัปดาห์หน้าหลังได้ผลตรวจสอบคุณภาพนมจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ ว่า จะมีมาตรการรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร และใครจะเป็นผู้ออกคำสั่งปิดโรงงาน
“สาเหตุที่ทำให้นมบูด คือ การปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย จุลินทรีย์เติบโต และสร้างเอนไซม์ทนความร้อน ซึ่งเป็นตัวไปย่อยโปรตีน ทำให้นมมีกลิ่น ตกตะกอนเป็นก้อน ซึ่งกระบวนการนี้สามารถเกิดได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเก็บน้ำนมดิบก่อนผลิต หรือขั้นตอนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน การจัดเก็บ การขนส่ง หรือการเก็บรักษา เช่น การวางเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ก็ทำให้มีการรั่วซึมทำให้เกิดแบคทีเรียปนเปื้อนได้เช่นกัน” เลขาธิการ อย. กล่าว
ด้าน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการส่งตัวอย่างนมจากจังหวัดเชียงราย และลำปาง มาตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.เชียงราย จำนวน 30 กว่าตัวอย่าง ซึ่งจากการสังเกตด้วยตาเปล่า พบว่า มี 3 ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่ามีปัญหากล่องบวม เนื้อนมบูด อย่างชัดเจน ส่วนผลการตรวจสอบปริมาณเชื้อโรคที่อยู่ในนมอย่างเป็นทางการจะทราบในวันที่ 16 ก.ย. นี้ แต่ผลการตรวจสอบคุณภาพของนมอาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะ