โรคไทรอยด์ สาเหตุของอาการอ่อนเพลีย ใครว่าสามารถรักษาด้วยยาได้เพียงอย่างเดียว อาหารบางชนิดหากกินควบคู่กันไปก็ช่วยให้ต่อมไทรอยด์ทำงานดีขึ้นได้เช่นกันนะ
เชื่อว่าทุกคนคงจะต้องรู้จักโรคไทรอยด์กันเป็นอย่างดี ซึ่งเจ้าโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของต่อมฮอร์โมนที่มีชื่อว่าต่อมไทรอยด์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่เกิดการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกาย กับ ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ทั้ง 2 ชนิดนี้ ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักตัวเพิ่มหรือลด ซึ่งวิธีการรักษาก็จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษาติดต่อกันเป็นเวลานาน และเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด
แต่ถ้าหากต้องการให้การรักษาเป็นไปได้ด้วยดีมากขึ้น การเลือกรับประทานอาหารก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้มีอาการที่ดีขึ้นได้ อย่างเช่นอาหารที่ทั้ง 7 ชนิดที่เว็บไซต์ healthmeup.com นำมาแนะนำให้เราทราบกัน ขอบอกเลยว่าอาหารเหล่านี้เป็นอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างแน่นอน
1. ไอโอดีน
ไอโอดีนเป็นสารอาหารสำคัญในระบบการทำงานของต่อมไทรอยด์ เพราะช่วยให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ ได้ โดยอาหารที่มีไอโอดีนก็ได้แก่ อาหารทะเลจำพวก ปลา หอยกาบ กุ้ง หอยนางรม สาหร่ายทะเล ไข่ กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง ผักโขม เห็ด และเมล็ดงา เป็นต้น
2. ธาตุซีลีเนียม
ซีลีเนียมเป็นสารอาหารที่ช่วยในการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง โดยสารชนิดนี้จะเข้าไปป้องกันต่อมไทรอยด์จากความเครียด และยังช่วยสร้างโปรตีนที่ใช้ในการควบคุมการสังเคราะห์ของฮอร์โมนในร่างกาย ควบคุมระบบการเผาผลาญและคอยรักษาระดับของฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายอีกด้วย โดยอาหารที่มีซีลีเนียมได้แก่ ปลาทูน่า เห็ด เนื้อวัว เมล็ดทานตะวัน เครื่องในสัตว์ และถั่วเหลืองค่ะ
อ่อนเพลียบ่อยอาจเพราะไทรอยด์ผิดปกติ รีบบำรุงด้วย 7 อาหารนี้ด่วน
3. สังกะสี
สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่มีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับระดับฮอร์โมนไทรอยด์ เพราะโรคไทรอยด์ทั้ง 2 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นชนิดไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือ ไฮเปอร์ไทรอยด์ (hyperthyroidism) ต่างก็มีสาเหตุมาจากการขาดสังกะสีด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรรับประทานอาหารที่มีสังกะสีให้มากขึ้นแต่ก็ควรจะอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะกับร่างกาย
ทั้งนี้ยังควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณของสังกะสีที่สามารถรับประทานได้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับโรคไทรอยด์ค่ะ โดยอาหารที่มีสังกะสีก็ได้แก่ เนื้อวัว ไก่งวง เนื้อแกะ หอยนางรม ปลาซาร์ดีน ถั่วเหลือง ถั่ววอลนัท เมล็ดทานตะวัน ถั่วพีแคน เมล็ดอัลมอนด์ ถั่วเหลืองผ่าซีก ขิง ธัญพืชต่าง ๆ และน้ำเชื่อมเมเปิลค่ะ
4. ทองแดง
การขาดธาตุทองแดงสำหรับผู้ที่ป่วยด้วยโรคไทรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นแบบภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ หรือผู้ป่วยที่เป็นไทรอยด์เป็นพิษ ถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและคอเลสเตอรอลมากขึ้น เนื่องจากร่างกายจะไม่สามารถผลิตฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อใช้ในร่างกายได้อย่างเต็มที่
ทองแดงมีความจำเป็นต่อการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือควรรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุทองแดงอย่างเพียงพอ ซึ่งก็มีอยู่ในอาหารอย่างเช่น เนื้อปู หอยนางรม กุ้งล็อบสเตอร์ ถั่วเปลือกแข็ง เนื้อวัว เมล็ดทานตะวัน ถั่วขาว ถั่วลูกไก่ ถั่วเหลือง เห็ดชิทาเกะ ข้าวบาร์เลย์ มะเขือเทศ และดาร์กช็อกโกแลต
อ่อนเพลียบ่อยอาจเพราะไทรอยด์ผิดปกติ รีบบำรุงด้วย 7 อาหารนี้ด่วน
5. ธาตุเหล็ก
หากขาดธาตุเหล็กก็จะทำให้ความสามารถในการทำงานของต่อมไทรอยด์ลดลง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากที่จะต้องบริโภคอาหารที่มีธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ อาหารที่มีธาตุเหล็กสูงได้แก่ เครื่องในสัตว์ หอยนางรม หอยกาบ ผักโขม ถั่วเลนทิล ถั่วเหลือง ถั่วขาว และเมล็ดฟักทอง
6. วิตามินบี
วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 เป็นวิตามินชนิดที่จำเป็นต่อร่างกายโดยเฉพาะกับระบบการทำงานของต่อมไทรอยด์ วิตามินบีทั้ง 3 ชนิดนี้มีหน้ามีสำคัญในการช่วยให้ร่างกายผลิตฮอร์โมน T4 ซึ่งเป็นหนึ่งในฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกาย ซึ่งวิตามินบีเหล่านี้มักจะมีอยู่ในอาหารอย่างเช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ ปลา ธัญพืชชนิดต่าง ๆ ถั่วลันเตา นม เห็ด และเมล็ดอัลมอนด์
อ่อนเพลียบ่อยอาจเพราะไทรอยด์ผิดปกติ รีบบำรุงด้วย 7 อาหารนี้ด่วน
7. สารต้านอนุมูลอิสระ
สารต้านอนุมูลอิสระที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างวิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอี มีหน้าที่ช่วยให้ต่อมไทรอยด์ต่อสู้กับภาวะการถูกทำลายด้วยสารอนุมูลอิสระ และป้องกันการเสื่อมสภาพก่อนวัยของต่อมไทรอยด์ ซึ่งอาหารโดยทั่วไปก็มักจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ แต่ในอาหารที่มีสูงก็ได้แก่ องุ่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี ถั่วเปลือกแข็ง ธัญพืชชนิดต่าง ๆ ชาเขียว บรอกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง ผักกาดหอม ผักคะน้า แครอท ผักโขม ถั่วเหลือง มันเทศ ฟักทอง แคนตาลูป ปลา และตับ เป็นต้น
แม้ว่าอาหารเหล่านี้จะสามารถช่วยส่งเสริมให้ระบบการทำงานของต่อมไทรอยด์ทำงานได้ดีขึ้น แต่ก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนจะเริ่มต้นรับประทาน เพราะในบางรายที่มีอาการของโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคไขมันในเส้นเลือดสูง หรือมีระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายสูง อาหารบางชนิดก็อาจจะยิ่งทำให้อาการของโรคเหล่านั้นแย่ลงได้ค่ะ