สมองของเรา สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แล้วรู้หรือไม่ว่าแค่การเล่นโทรศัพท์สมาร์ทโฟนก็ทำให้สมองเกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน
ปัจจุบันนี้มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่ทำการศึกษาว่าการเล่นสมาร์ทโฟนส่งผลกระทบต่อสมองอย่างไร และโดยส่วนใหญ่ก็มักจะได้ผลว่า สมาร์ทโฟนส่งผลร้ายกับสมองมากกว่าผลดี ไม่ว่าจะส่งผลกระทบต่อความจำระยะสั้นหรือแม้แต่การผลิตฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด นอกจากนี้ยังส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพดวงตา หรือแม้แต่มือของเราที่ต้องสัมผัสกับจอและเลื่อนหน้าจอไปมาบ่อย ๆ
แต่วันนี้เราจะไม่มาพูดกันถึงข้อเสียค่ะ แต่เราจะมาว่ากันถึงการศึกษาใหม่ล่าสุดของมหาวิทยาลัยซูริค แห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งทำให้เราได้ทราบกันอีกว่าเจ้าสมาร์ทโฟนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สมองได้อีกด้วย ส่วนจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรนั้นเราไปดูข้อมูลที่เว็บไซต์ huffingtonpost หยิบยกมานำเสนอให้เราได้ทราบกันดีกว่า พร้อมแล้วก็มาอ่านกันเลยค่ะ
การศึกษาใหม่ล่าสุดของมหาวิทยาลัยซูริคในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความสามารถในการปรับตัวของสมองพบว่า การเคลื่อนไหวของนิ้วมือไปมาซ้ำ ๆ ในขณะที่เล่นสมาร์ทโฟนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสมองในส่วนประสาทประมวลความรู้สึกได้
เล่นสมาร์ทโฟนเป็นประจำ ช่วยพัฒนาประสาทสัมผัสได้
โดยการศึกษาเปิดเผยให้เห็นว่ากิจวัตรประจำวันของคนเราอย่างเช่นการเล่นสมาร์ทโฟนนั้นช่วยทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ทราบถึงรายละเอียดของความสามารถในการปรับตัวของสมอง ที่ซึ่งเป็นความสามารถของระบบประสาทที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในร่างกายหรือสิ่งแวดล้อมรอบข้าง โดยหนึ่งในผู้ทำการศึกษาอย่าง Akro Ghosh นักประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยซูริคได้อธิบายให้ได้ทราบว่า การเล่นสมาร์ทโฟนได้ทำให้ทราบว่าลักษณะสมองของคนที่มีวิถีชีวิตปกติเป็นอย่างไร
ในการศึกษาครั้งนี้นักวิจัยได้ทำการวิจัยกับอาสาสมัคร 37 คน โดยแบ่งเป็นคนที่ใช้สมาร์ทโฟนแบบจอสัมผัส 26 คน และคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นเก่า 11 คน ทำการศึกษาผ่านการใช้วิธีการตรวจคลื่นสมองเพื่อวัดการทำงานของคลื่นไฟฟ้าในสมอง เมื่อทีมวิจัยให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยใช้ปลายนิ้วกับสิ่งต่าง ๆ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าคนที่ใช้สมาร์ทโฟนแบบหน้าจอสัมผัสจะมีการทำงานของสมองในส่วนเกี่ยวข้องกับการรับรู้ความรู้สึกบริเวณปลายนิ้วดีกว่าคนที่ใช้โทรศัพท์รุ่นเก่า
และที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงของการประมวลผลของสมองส่วนรับรู้ความรู้สึกนั้นจะขึ้นอยู่กับความถี่ของการใช้นิ้วมืออีกด้วย อาทิเช่นนิ้วโป้ง จะไวต่อความรู้สึกกว่านิ้วอื่น ๆ เนื่องจากการใช้สมาร์ทโฟนจะต้องใช้นิ้วโป้งเป็นหลักแทบจะตลอดเวลานั่นเอง
โดยปกติแล้วการทำงานในทุกระบบ และทุกส่วนของร่างกายจะถูกแปลงกลายเป็นแผนผังภายในส่วนหนึ่งของสมองที่เรียกว่า ระบบประสาทรับความรู้สึก (somatosensory cortex) ที่จะคอยรับสัญญาณจากตัวรับความรู้สึกบนผิวหนังหรืออวัยวะต่าง ๆ และเจ้าประสาทส่วนนี้สามารถปรับตัวให้รับรู้ความรู้สึกเร็วขึ้นได้เมื่อเราใช้ส่วนนั้นของร่างกายบ่อย ๆ รวมทั้งยังสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับนิสัยในการใช้อุปกรณ์ดิจิตอลของแต่ละคนอีกด้วยค่ะ
เห็นกันอย่างนี้แล้วก็อย่าเพิ่งดีใจนะคะว่าเจ้าสมาร์ทโฟนจะมีประโยชน์มากกว่าข้อเสีย เพราะถ้าหากเล่นมากเกินไปก็สามารถส่งผลเสียให้อย่างร้ายแรงได้เช่นกัน ดังนั้นเล่นอย่างพอดีจะดีกว่าเนอะ จะได้ไม่ต้องกังวลกับปัญหาสุขภาพในอนาคตไงล่ะ