ดร.เพชรินทร์ ศรีวัฒนกุล อดีตรองผู้อำนวยการด้านวิจัย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า คนอ้วนหรือคนที่มีไขมันสูงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งสูง คือ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ เนื่องจากเซลล์ไขมันซึ่งปกติจะสร้างโมเลกุลที่ชื่อว่าไซโตไคน์ที่ดีและเลว โดยไซโตไคน์ที่ดีมีชื่อว่า “อะดิโปเนกติน (Adiponectin)” หากมีอะดิโปเนกตินสูงจะช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง แต่สำหรับคนอ้วนที่มีเซลล์ไขมันมากๆ เมื่อมีมากไปเซลล์ไขมันก็จะหยุดผลิตอะดิโปเนกติน เหมือนกรณีโรคเบาหวานที่เมื่อกินหวานมากเกินไป ตับอ่อนก็จะหยุดผลิตอินซูลิน ด้วยเหตุทำให้ไซโตไคน์ที่ดีน้อยลง ส่วนตัวที่เลวสูงขึ้น จึงนำมาสู่การเกิดโรคมะเร็ง
ดร.เพชรินทร์ กล่าวว่า รศ.นพ.คาซูฮิสะ มาเอดะ ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโอซากา ซึ่งเป็นผู้ค้นพบอะดิโปเนกตินนั้นได้ทำการวิจัย เพื่อค้นหาว่ามีสมุนไพรตัวใดที่ช่วยให้เซลล์ไขมันกลับมาผลิตอะดิโปเนกตินเพิ่มขึ้น จึงได้เก็บสเต็มเซลล์ที่มาจากเซลล์ไขมันจากผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดที่ รพ.มหาวิทยาลัยโอซากา ประมาณ 60 - 70 คน ในกลุ่มที่มีน้ำหนักเกินหรือมีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน และเลือกสมุนไพรมากกว่า 3,000 ชนิดจากทั่วโลก ทั้งไทย จีน แอฟริกา เป็นต้น มาทดสอบว่าสารสกัดจากสมุนไพรตัวใดที่ช่วยให้เซลล์ไขมันสามารถผลิตอะดิโปเนกตินได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจากการทดลองพบว่า สารสกัดเคอร์คูมินในขมิ้นชัน สารสกัดจากมะรุม มีการตอบสนองดีช่วยให้เซลล์ไขมันผลิตอะดิโปเนกตินเพิ่มขึ้นได้
“ต้องอธิบายก่อนว่าไม่ใช่สารสกัดเคอร์คูมินของขมิ้นชัน หรือสารสกัดจากมะรุมจะกระตุ้นเซลล์ไขมันให้ผลิตอะดิโปเนกตินได้ทุกคน เพราะแต่ละคนมีความจำเพาะต่างกัน เหมือนสำนวนที่ว่าลางเนื้อชอบลางยา หมายความว่า คนนี้อาจจะตอบสนองดีต่อขมิ้นชัน แต่อีกคนไม่ได้ผล เป็นต้น หากต้องการรู้ว่าเซลล์ไขมันตนเองตอบสนองต่อสารใดของสมุนไพรตัวใดในการที่จะผลิตอะดิโปเนกตินเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งนั้นก็ต้องนำเซลล์ไขมันไปทดสอบเสียก่อน ไม่ใช่ว่าจะไปซื้อขมิ้นชัน หรือมะรุมมากินทันทีเลย เพราะอย่าลืมว่าสมุนไพรหนึ่งๆ นั้นมีสารสกัดหลายอย่าง และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรส่วนใหญ่ก็ไม่ได้บอกว่ามีสารสกัดใดบ้าง มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม เทคนิคการแพทย์แบบผสมผสานนี้ยังไม่ได้นำเข้ามาสู่ประเทศไทย” ดร.เพชรินทร์ กล่าว
ด้าน ดร.ผ่องพรรณ ศิริพงษ์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ หัวหน้างานวิจัยสมุนไพร กลุ่มงานวิจัย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันมะเร็งฯ ได้มีส่วนร่วมในการทำวิจัยของ รศ.นพ.คาซูฮิสะ ด้วย โดยทำสารสกัดจากสมุนไพรส่งไปยังญี่ปุ่น แต่ในการจัดส่งไม่ได้บอกว่าเป็นสารสกัดอะไรจากสมุนไพรตัวใด เพราะจัดทำเป็นรหัสส่งไป ซึ่งเมื่อวิจัยแล้วจึงค่อยมาถอดรหัสภายหลังว่าตัวที่ได้ผลมาจากสารสกัดใด ซึ่งทางสถาบันฯเรามีข้อมูลอยู่ ซึ่งก็เพิ่งค้นพบว่าสารสกัดเคอร์คูมินจากขมิ้นชันสามารถช่วยเพิ่มอะดิโปเนกตินได้ดี ทั้งนี้ เราเตรียมที่จะเสนอผลวิจัยนี้ต่อผู้บริหารทั้งสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้เห็นความสำคัญของการแพทย์ผสมผสานนี้ เพราะถือว่านำมาช่วยคัดกรองป้องกันโรคมะเร็งได้ ในการหาค่าอะดิโปเนกติน แต่จะต้องทำค่ามาตรฐานกลางสำหรับคนไทยก่อน เนื่องจากอาหารการกินต่างจากคนญี่ปุ่น ค่ามาตรฐานนี้จะไม่เท่ากัน ทั้งนี้ หากประเทศไทยนำเทคนิคนี้มาดำเนินการ ก็อาจมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโอซากา ทำให้ประเทศไทยมีส่วนในเรื่องของลิขสิทธิ์ด้วย