xs
xsm
sm
md
lg

ฉีดรกแกะช่วยชะลอวัย แพทย์ ชี้ ยังไม่มีผลวิจัยยืนยัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉีดรกแกะช่วยชะลอวัย แพทย์ ระบุ ยังไม่มีผลการแพทย์รองรับ ว่าการฉีดสเต็มเซลล์ เฟรชเซลล์จากรกแกะช่วยคืนความหนุ่มสาวได้จริง เผย เริ่มไม่ได้รับความนิยมในเยอรมนีแล้ว

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 สามีภรรยาคู่หนึ่งเข้าแจ้งความต่อ สน.ปทุมวัน ให้ดำเนินการตรวจสอบใบอนุญาตของคลินิกแห่งหนึ่งย่านปทุมวัน หลังเข้าไปรับการักษาด้วยการฉีดเฟรชเซลล์ หรือสเต็มเซลล์ เพื่อรักษาโรคเส้นเลือดในสมองตีบ โดยคลินิกส่งตัวไปที่ประเทศเยอรมนี หมดเงินไปกว่า 2.6 ล้านบาท แต่อาการกลับไม่ดีขึ้น ซึ่งเมื่อตำรวจตรวจสอบก็พบว่า คลินิกดังกล่าวมีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย จึงเตรียมประสานขอข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในการรักษาวิธีนี้ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบสำนวนดังที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านั้น

เรื่องการฉีดเฟรชเซลล์หรือสเต็มเซลล์จึงเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้งว่าสามารถใช้รักษาโรคได้ผลจริงหรือไม่ เช่นเดียวกับประสิทธิภาพในการช่วยชะลอวัยที่เป็นที่พูดถึงกันไม่น้อยในวงการดาราและสังคมไฮโซ

เรื่องนี้ นพ.สมนึก ศิริพานทอง กรรมการสมาคมเซลล์บำบัดไทย ได้ให้ข้อมูลว่า วงการแพทย์ทางเลือกและแพทยสภาของไทยรู้จักกันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เพราะค่ารักษาค่อนข้างสูง จึงไม่ได้รับความนิยมมากนัก จะได้รับความนิยมในวงการดาราและเหล่าไฮโซ ทั้งนี้การฉีดเฟรชเซลล์ดังกล่าวต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาต่างประเทศ ไม่ใช่การรักษาเองในต่างประเทศ โดยขั้นตอนจะเริ่มจากการตรวจสุขภาพ รวบรวมประวัติผู้ป่วยก่อนจะส่งตัวผู้ป่วยไปรักษายังต่างประเทศ ซึ่งในต่างประเทศ เช่น ประเทศเยอรมนีที่เป็นการรักษาที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ด้าน นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้เมืองไทยอนุญาตให้ใช้สเต็มเซลล์เฉพาะรักษาโรคเลือดและโรคกระดูกเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีหลายคลินิกนิยมฉีดสเต็มเซลล์เพื่อคืนความหนุ่มสาว กระปรี้กระเปร่า แต่ในความเป็นจริงเรื่องนี้ยังไม่มีการรองรับในทางการแพทย์

ขณะที่ นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าศูนย์วิจัยเซลล์ต้นกำเนิดและเซลล์บำบัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การรักษาด้วยการฉีดเฟรชเซลล์นั้นโด่งดังในประเทศเยอรมนี ซึ่งก็เป็นความเชื่อเมื่อ 50-60 ปีที่แล้วว่า ถ้าฉีดสเต็มเซลล์หรือเฟรชเซลล์ของสัตว์ที่ยังมีชีวิต เช่น รกแกะ เข้าไปจะทำให้ร่างกายเป็นหนุ่มเป็นสาว แต่ปัจจุบันประเทศเยอรมนีเริ่มโละทิ้ง ไม่เป็นที่นิยมแล้ว เพราะไม่มีคำยืนยันชัดเจนว่ามีผลประโยชน์ต่อไปในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น