รศ.ดร.เดวิท เจอริเกน อาจารย์ประจำภาควิชาพฤติกรรมและสังคมสุขภาพ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการตลาดแอลกอฮอล์ และเยาวชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์นฮอพกินส์ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกพบว่าปัญหาที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดภาระโรคจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายและกลุ่มเยาวชนที่เพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อแยกการบริโภคจะพบว่า ร้อยละ 50 เป็นการดื่มในผู้ใหญ่ ดื่มไม่มากและไม่เกิดปัญหา แต่อีกร้อยละ 50 พบว่า เป็นกลุ่มที่ดื่มแล้วเกิดปัญหา แบ่งเป็นร้อยละ 20 คือการดื่มในเยาวชน และร้อยละ 30 คือผู้ที่ดื่มแล้วติดจนเกิดปัญหา หมายความว่ารายได้ครึ่งหนึ่งของธุรกิจน้ำเมาทำให้เกิดปัญหาต่อสังคม
รศ.เร.เดวิท กล่าวว่า จากการสำรวจมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า จริงๆ แล้วธุรกิจน้ำเมาไม่ได้มีการแข่งขันสูงอย่างที่กล่าวอ้าง เพราะการทำการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการทำการตลาดของผู้ผลิตรายเดิมๆ เท่านั้น ไม่ได้มีการแข่งขันของผู้ผลิตรายใหม่ การห้ามโฆษณาทุกรูปแบบ หรือ Total Ban จึงสามารถนำมาใช้เพื่อควบคุมการการบริโภคได้มีประสิทธิภาพ และใช้ต้นทุนน้อยกว่ามาตรการห้ามโฆษณาเพียงบางส่วน หรือ มีข้อยกเว้น ซึ่งพบว่าไม่สามารถบังคับใช้ได้ผล
"แนวโน้มการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแต่ละประเทศพบว่า รูปแบบการโฆษณาคล้ายกัน เช่น อ้างว่าดีต่อสุขภาพ เข้าไปให้ทุนกับการกีฬา อ้างความเป็นชาตินิยม กระตุ้นให้บริโภคมากๆ เป็นต้น จากการสำรวจ 168 ประเทศ ในการโฆษณาเบียร์บนทีวี พบว่า มีการห้ามโฆษณาทั้งหมด ร้อยละ 20 ห้ามโฆษณาบางส่วน เช่น เวลา เนื้อหา ร้อยละ 23 และไม่มีการควบคุมเลยร้อยละ 56 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนการห้ามไม่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ทุนกับการกีฬา พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 64 ยังไม่มีการควบคุม ร้อยละ 11 สามารถคุมได้บางส่วน และ ร้อยละ 24 สามารถควบคุมได้ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเทศมุสลิมที่มีกฎหมายเข้มงวด และประเทศรัสเซีย ที่เกิดปัญหาจากการบริโภคอย่างหนักขึ้น" รศ.ดร.เดวิท กล่าว
รศ.ดร.เดวิท กล่าวว่า จากประสบการณ์การควบคุมการโฆษณาทั่วโลก พบว่า ยิ่งห้ามโฆษณามากเท่าไหร ก็จะทำให้เป็นผลดีและป้องกันเยาวชนได้มากขึ้น และจากการที่ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้นยิ่งทำให้การโฆษณาไร้พรมแดน การควบคุมทั้งหมดจึงยิ่งควรทำ เพราะการควบคุมเป็นบางเรื่องเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และมีเพิ่มต้นทุนในการควบคุมมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันพบว่า บางประเทศเริ่มควบคุมทั้งหมดแล้ว เช่น ฟินแลนด์ กลุ่มประเทศมุสลิม ซึ่งจะห้ามไม่ให้เกิดกิจกรรมการตลาด เช่น การโพสต์ภาพ แชร์ภาพ ให้เกิดการกระตุ้นการบริโภค เป็นต้น