เชียงราย - ผู้ว่าฯ เมืองเชียงราย นำทีมกลุ่มบริษัทเอกชน-ซินแสดัง ตั้งโต๊ะแถลงโชว์ความพร้อมโครงการสร้างเสาธงไทยสูงสุดในโลก มูลค่ากว่า 2,500 ล้าน ริมน้ำโขงชายแดนเชียงแสน คาดเริ่มได้เมษาฯ 59 นี้ ปี 60 เสร็จฉลอง 100 ปีธงชาติไทย ย้ำไม่รับบริจาค หรืองบสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ ทั้งหมดลงทุนเองล้วนๆ
วันนี้ (11 ม.ค.) นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, พล.ต.พิศาล นาคผจญ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37, นายตฤณ นิลประเสริฐ ประธานผู้บริหารโครงการจัดสร้างเสาธงชาติไทยสูงที่สุดในในโลก พร้อมด้วยภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทตฤร อินโนเวชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด, บริษัท ตฤณ อินโนเวชั่น เชียงแสน จำกัด, Mr.David J.Chambers ผู้บริหารบริษัท ไทรเด้นท์ ซัพพอร์ท จำกัด จากสหรัฐอเมริกา, นายพฤฒิพล ประชุมผล ผอ.พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย, อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ซินแสชื่อดังและที่ปรึกษาโครงการ, นายจักรพันธ์ บุญปั้น ตัวแทนครอบครัวจิรรัตนพิเชษฐ์ ซึ่งเป็นผู้บริจาคที่ดินเพื่อโครงการ ฯลฯ ร่วมแถลงข่าวที่สวนไม้งามริมน้ำกก ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย
เกี่ยวกับความคืบหน้าในการสร้างเสาธงที่สูงที่สุดในโลก ที่บ้านสบรวก ม.1 ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ใกล้แม่น้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว หลังจากเคยมีการเปิดตัวแถลงโครงการมาครั้งหนึ่งแล้วที่ อ.เชียงแสน เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา
นายบุญส่งกล่าวว่า หลังจากได้รับการติดต่อจากบริษัทเมื่อประมาณ 2 เดือนก่อน และได้รับทราบรายละเอียดก็พบว่าโครงการนี้สามารถเป็นสัญลักษณ์หรือแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัด และประเทศไทยได้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดฯ ที่ส่งเสริมให้เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวในทุกฤดูกาล
ขณะที่บริษัท ไทรเด้นท์ ซัพพอร์ท จำกัด เป็นเอกชนที่ตระเวนสร้างเสาธงที่สูงที่สุดมาแล้วทั่วโลก 7 แห่ง และจะมาสร้างแห่งที่ 8 ที่ อ.เชียงแสน เป็นแห่งสุดท้ายด้วย จึงเชื่อว่าหากเสาธงชาติไทยสร้างแล้วเสร็จจะทำให้เสาธงที่ อ.เชียงแสน รักษาสถิติเอาไว้ได้อีกนานแน่
ด้านนายตฤณกล่าวว่า จากเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยที่มีความขัดแย้งกันในหลายปีที่ผ่านมาทำให้ตนเห็นว่าในฐานะคนไทยอยากให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนในอดีต ซึ่งธงชาติก็ถือเป็นสัญลักษณ์ที่ทุกคนมีร่วมกันทั้งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ดังนั้นจึงมีแนวคิดจะสร้างเสาธงให้สูงที่สุดในโลกขึ้น
โดยเมื่อต้นปี 2558 ได้นำโครงการไปประกวดร่วมกับประเทศต่างๆ จำนวน 30 กว่าประเทศแล้ว ทางผู้บริหารบริษัท ไทรเด้นท์ฯ ให้ความสนใจ และเลือกโครงการของเรามาดำเนินการ เพราะซาบซึ้งในความหมายที่ธงชาติของเรามี 3 สถาบันหลักเป็นสัญลักษณ์ ทางโครงการจึงเลือกที่จะสร้างที่เชียงราย เพราะอยู่เหนือสุดของประเทศไทย และประสงค์จะให้ตรงกับระยะเวลาครบ 100 ปี นับตั้งแต่ได้รับพระราชทานธงชาติไทยในปี 2560 ด้วย
สำหรับงบประมาณที่จะต้องใช้คือ ประมาณ 2,500 ล้านบาท เฉพาะส่วนฐาน และเสาใช้เม็ดเงินประมาณ 250 ล้านบาท ใช้ทุนร่วมระหว่างเอกชนไทย มาเลเซีย และจีน บนเนื้อที่ประมาณ 269 ไร่ แต่พื้นที่ที่จะใช้ตั้งเสา และอาคารประกอบจริงมีประมาณ 40 ไร่เท่านั้น ขณะที่ทาง Mr.David จะมอบธงชนิดพิเศษให้จำนวน 6 ผืน โดยมีการทดสอบคุณภาพเป็นประจำทุกปี ระยะเวลาการประกันโครงการ 10 ปี
นายตฤณกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา Mr.David ได้ทำการทดสอบดินบริเวณพื้นที่ก่อสร้างแล้ว และจะรู้ผลชัดเจนในอีก 2-3 เดือนนี้ พร้อมกันนั้นยังมีการศึกษาข้อมูลเรื่องกระแสลม แผ่นดินไหว ฯลฯ อย่างครบถ้วน จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างเดือนเมษายน 59 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างนาน 15 เดือน ผลที่ได้ทันทีคือ ด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจีนตอนใต้มีประชากรกว่า 200 ล้านคน ซึ่งขอเพียงแค่ 1% ก็จะสร้างมูลค่าทางการท่องเที่ยวให้ประเทศไทยอย่างมหาศาล
“แต่ที่สำคัญเสาธงที่สูงที่สุดนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของความรักชาติ รักในหลวง และเทิดทูลศาสนาของคนไทยเรา และยังสร้างงานให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งระหว่างก่อสร้าง และหลังจากได้เปิดโครงการแล้ว รวมทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของไทยในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย โดยพื้นที่ก่อสร้างห่างจากแม่น้ำโขงเพียงประมาณ 2 กิโลเมตร สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลกว่า 20 กิโลเมตรถึงประเทศเพื่อนบ้าน เพราะสูงเท่ากับตึกระดับ 63 ชั้น”
Mr.David กล่าวว่า บริษัทก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1996 ที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียร์ สหรัฐอเมริกา และเคยก่อสร้างเสาธงสูงทั่วโลกแล้ว เคยสร้างพื้นที่ที่มีลมพัดแรง แผ่นดินไหว ฯลฯ มาแล้วครบถ้วน ล่าสุดไปสร้างเสาที่สูงที่สุดในโลกที่เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นเสาธงสูง 171.4 เมตร จึงสามารถก่อสร้างที่ อ.เชียงแสน ได้แน่ และตนรู้สึกตื่นเต้นมากที่จะได้มาก่อสร้างที่ประเทศไทยเป็นแห่งสุดท้าย เพราะที่ผ่านมาเคยสร้างในประเทศมุสลิมเสียเป็นส่วนมาก และประเทศไทยเป็นแห่งแรกที่เป็นประเทศพุทธศาสนาที่ตนจะได้มาก่อสร้าง รวมทั้งเห็นว่าไม่ว่าจะไปไหนในประเทศไทย คนไทยเป็นผู้ที่น่ารักที่สุดด้วย
ด้านนายแอนดรู คอ ผู้ร่วมทุนจากประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ตนได้หารือกับนายตฤณเพื่อยืนยันว่าจะก่อสร้างจริงหรือไม่ เมื่อได้รับคำยืนยันจึงตัดสินใจร่วมกัน โดยตนจะขายหุ้นที่ลงทุนในประเทศสหรัฐอเมริกา มาร่วมก่อสร้าง และโครงการฯก็จะไม่มีการขอรับเงินบริจาค หรือขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานใดอีกด้วย หากจะมีผู้ประสงค์บริจาคก็ขอให้ไปที่วัดแต่ละแห่งทั่วประเทศไทย แล้วนำเงินไปร่วมทำบุญเพื่อจะได้ร่วมทำบุญกับวัดนั้นๆ ร่วมกัน โดยไม่ต้องนำเงินมาร่วมก่อสร้างเสาธงแห่งนี้ก็ได้ เพราะถือว่าไดรับบุญร่วมกันต่อไป