xs
xsm
sm
md
lg

ส้มตำ กินอย่างไรให้แซบ และได้ประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ส้มตำ ยังเป็นอาหารรสชาติจัดจ้าน ยอดนิยมของคนไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันไม่เสื่อมคลาย หาใช่เพียงรสชาติที่แซบ ถึงอกถึงใจเท่านั้น ส้มตำถือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพเมนูหนึ่งที่มีไขมันและให้พลังงานต่ำ แต่มีใยอาหารและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง หากแต่ต้องปรุงรสชาติให้พอเหมาะพอควร" อ.แววตา เอกชาวนา นักโภชนาการบำบัดและผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ บอกเล่าอย่างน่าสนใจ

อ.แววตา อธิบายเพิ่มเติมว่า ส้มตำหนึ่งจานมีส่วนผสมของผัก สมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นมะละกอ กระเทียม มะเขือเทศ พริกขี้หนู ถั่วฝักยาว ฯลฯ ซึ่งมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ และชะลอวัยด้วย

แม้ว่าส้มตำจะมีรสชาติ เปรี้ยว หวาน และเค็ม อร่อยถูกปากคนไทย แต่การบริโภคส้มตำเพียงอย่างเดียว ทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน จึงต้องกินอาหารอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วยคือ ข้าวเหนียว ขนมจีน ไก่ย่าง หมูย่าง หรือลาบต่าง ๆ ซึ่งมีสารอาหารครบถ้วน ทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน

ส้มตำเป็นอาหารสด ไม่ผ่านความร้อน (Low Food) เรื่องความสะอาดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง หากไม่สะอาด มีการปนเปื้อน อาจทำให้ท้องเสียได้ ส่วนเครื่องปรุงต่าง ๆ ต้องสังเกตเชื้อราที่อาจปะปนอย่าง "อะฟลาทอกซิน" ซึ่งมักจะมีอยู่ในถั่วลิสง กุ้งแห้ง กระเทียม ซึ่งเชื้อชนิดนี้เป็นโทษร้ายแรงต่อตับ การเลือกรับประทานควรสังเกตความสะอาดด้านสุขาภิบาลของร้านค้าด้วย

ส่วนปลาร้าเป็นอาหารที่มีแคลเซียมสูง แต่หลายคนมักสงสัยว่า จะกินปลาร้าสุกหรือดิบดี ถ้าหากเลือกได้ไม่ว่าจะเป็นปลาร้า หรือปูเค็ม ควรจะกินแบบสุกดีกว่า และควรสังเกตความสะอาดของปูและภาชนะที่บรรจุด้วย

ส้มตำ

ส้มตำกินบ่อย ๆ ดีหรือไม่

แน่นอนว่า ส้มตำไม่ใช่อาหารที่ดีที่สุดในโลก ดังนั้น ไม่ควรรับประทานบ่อยมากจนเกินไป ควรสลับสับเปลี่ยนกับอาหารประเภทอื่น ๆ บ้าง ควรกินประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือหากส้มตำมีส่วนผสมของปูดองเค็ม หรือปลาร้า ก็กินได้อาทิตย์ละครั้ง ถ้ามากกว่านั้น ควรเป็นแบบสุกจะดีกว่า

สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่าง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคไต อ.แววตา แนะนำว่า สามารถกินได้ แต่ไม่ควรบ่อยนัก เนื่องจากส้มตำมีโซเดียมสูง หรือกินได้โดยไม่ปรุงรสด้วยน้ำตาล หรือใส่ในปริมาณน้อย และไม่ควรปรุงรสให้เค็ม สิ่งสำคัญที่สุดคือ ห้ามใส่ผงชูรส เพราะเป็นเครื่องปรุงที่มีโซเดียมสูงมากนั่นเอง

นอกจากนี้ อ.แววตา ยังแนะนำอีกว่า ก่อนกินส้มตำทุกครั้งไม่ควรปล่อยให้ท้องว่าง ควรกินข้าวเหนียว ไก่ย่าง หรืออาหารอื่น ๆ รองท้อง เนื่องจากมะละกอจะมียาง ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำให้เนื้อสัตว์เปื่อยนุ่มได้ หากกินขณะท้องว่างจะทำให้ปวดท้อง เนื่องจากยางมะละกอส่งผลต่อกระบวนการย่อยกัดเยื่อบุกระเพาะอาหารได้ และอีกหนึ่งข้อแนะนำสำคัญคือ ควรสอนเด็ก ๆ หากกินส้มตำ ควรเคี้ยวให้ละเอียดเพื่อให้ย่อยอาหารง่ายขึ้น เพราะมะละกอค่อนข้างย่อยยาก

ส้มตำถาด
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3

ส้มตำถาด เมนูสุดฮิต

สำหรับส้มตำถาด ซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ในขณะนี้ นับว่าเป็นเมนูที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะนอกจากส้มตำแล้ว ยังมีส่วนประกอบที่เป็นเครื่องเคียงทำให้ได้สารอาหารครบถ้วน ทั้งคาร์โบไฮเดรตจาก ขนมจีนหรือเส้นหมี่ โปรตีนจาก ไข่ต้ม หมูหรือปลาทอดกรอบ วิตามินและเกลือแร่จาก ผักสดอย่าง ถั่วงอก ผักบุ้ง หรือผักต้มชนิดต่าง ๆ หากมีกระบวนการทำที่สะอาดและสุขาภิบาลที่ดี ก็ไม่เป็นอันตราย

อ.แววตา บอกเพิ่มเติมว่า สำหรับถาดที่มีสีสัน ลวดลายต่าง ๆ แน่นอนว่าเป็นอันตราย เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารตะกั่ว แคดเมียม ที่เป็นโลหะหนัก เมื่อโดนกรดรสเปรี้ยวจาก มะนาว ส้ม มะขาม ที่มีอยู่ในส้มตำ จะกัดกร่อนถาดทำให้เกิดสนิม และเจือปนในอาหาร เมื่อเกิดการสะสมในระยะยาว จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ส่งผลต่อตับและไต

เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการใหม่ บางร้านค้าที่มีถาดเหล่านี้จำนวนมาก อาจเปลี่ยนเป็นใช้จานเซรามิก วางลงบนถาดอีกที หรือทางที่ดีจะเปลี่ยนเป็นถาดสแตนเลส จานกระเบื้อง หรือแก้ว ก็ได้ เพราะไม่เป็นอันตรายเหมือนถาดอะลูมิเนียม
กำลังโหลดความคิดเห็น