xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาภิวัตน์ : วิกฤติสุขภาวะของพระภิกษุ ที่มากับ “โรคก้นบาตร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การตักบาตร คือ การถวายอาหารแด่พระภิกษุสามเณร จะเป็นรูปเดียวหรือหลายรูป จะปฏิบัติเป็นประจำหรือเป็นครั้งคราวก็ได้ครับ วัตถุประสงค์ของการตักบาตร นอกจากจะเป็นไปตามหลักการให้ทานแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เฉพาะคือ เป็นการธำรงส่งเสริมและสืบทอดพระพุทธศาสนา สร้างเสริมคุณความดีของผู้ปฏิบัติ ทั้งผู้ตักบาตรและพระภิกษุสามเณรผู้รับบิณฑบาต และสุดท้ายข้อนี้สำคัญมาก คือส่งเสริมและบำรุงพระภิกษุสามเณร ผู้ทรงศีลทรงธรรม

ย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาล ตอนนั้นเริ่มมีบาตรใช้แล้ว พระภิกษุทุกรูปจำเป็นต้องมีบาตร เพราะถือเป็นเครื่องอัฐบริขาร ซึ่งเวลาบวชจะต้องมีครบจึงจะบวชได้ เป็นพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้

คำว่า “ตักบาตร” นั้น หลายคนอาจจะสงสัยว่า ตกลงแล้วที่ถูกต้องควรเรียกว่า “ตักบาตร” หรือ “ใส่บาตร” กันแน่ ตรงนี้ว่ากันด้วยเรื่องของกิริยาอาการเป็นหลักครับ เพราะคำว่าตักบาตรมาจากการใช้ทัพพีตักข้าวใส่บาตรพระ แต่ในปัจจุบันสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ผู้คนใช้ชีวิตเร่งรีบจึงนำข้าวปลาอาหารใส่ถุงหรือกล่อง ใส่ในบาตรพระแทน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญของการตักบาตร มิได้อยู่ที่เรียกขานกันอย่างไร แต่อยู่ที่ “ปฏิบัติกันอย่างไร” ให้ถูกต้องและสมบูรณ์ ตามองค์ประกอบของการทำบุญตักบาตรที่แท้จริงอันประกอบไปด้วย

การเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม ข้อนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะบุญที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจของผู้ถวาย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาเจตนาให้บริสุทธิ์ทั้ง 3 ขณะ คือ

ก่อนถวาย ตั้งใจเสียสละอย่างแท้จริง
ขณะถวาย ก็มีใจเลื่อมใส ถวายด้วยความเคารพ
หลังจากถวายแล้ว ต้องยินดีในทานของตัวเอง จิตใจเบิกบานเมื่อนึกถึงทานที่ตนเองได้ถวายไปแล้ว

การทำใจให้ได้ทั้ง 3 ขณะดังกล่าวนี้ นับว่ายากมาก เพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้จิตใจของเราเศร้าหมองในขณะใดขณะหนึ่งได้

• ในส่วนของผู้รับ คือ พระภิกษุสามเณร เป็นผู้สำรวมระวัง มีข้อวัตรปฏิบัติที่ดีงามตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติเอาไว้ว่า ต้องเป็นผู้ใฝ่ศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์ ทรงจำนำมาบอกกล่าวสั่งสอนได้ และเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติเพื่อบรรเทาราคะ โทสะ โมหะ จนสามารถละขาดได้อย่างสิ้นเชิง

• ส่วนสิ่งของที่จะนำมาตักบาตรถวายนั้น จะต้องได้มาด้วยวิธีที่สุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน และที่สำคัญคือ สิ่งนั้นต้องเหมาะสมแก่พระภิกษุสามเณรด้วย

การตักบาตรเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวพุทธที่ปฏิบัติกันมาแต่ครั้งพุทธกาล ถือว่าเป็นการทำบุญ และเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย โดยเชื่อกันว่าอาหารที่ตักบาตรไปนั้น จะส่งถึงญาติผู้ล่วงลับด้วยเช่นกัน

ในพระธรรมวินัยบัญญัติให้พระภิกษุจะต้องออกบิณฑบาตทุกวัน อันเนื่องจากพระภิกษุไม่สามารถเก็บอาหารข้ามคืนได้ เวลาที่ออกบิณฑบาตคือ ตั้งแต่ช่วงเช้ามืด โดยออกเดินในกิริยาสำรวม ไม่เอ่ยปากขออาหารจากผู้คน หรือแสดงกิริยาในการขอ เมื่อมีคนตักบาตร พระภิกษุต้องรับทานนั้นๆ ไม่สามารถเลือกได้ หรือบอกว่าตนต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้ ดังสุภาษิตที่ว่า "ตักบาตรอย่าถามพระ" นั่นแหละครับ แต่อย่างไรก็ตาม มีทานบางชนิดที่พระภิกษุไม่สามารถรับได้ นั่นคือ

1. ทานที่ได้มาโดยวิธีการทุจริต เช่น ได้มาจากการขโมย และพระภิกษุรู้ว่า บุคคลนั้นได้ขโมยของ เพื่อที่จะนำมาถวาย

2. เนื้อสัตว์ที่ต้องห้ามตามหลักศาสนาพุทธ (เช่น เนื้อคน เนื้อช้าง เป็นต้น)

3. เนื้อสัตว์ที่ได้มาจากการที่บุคคลนั้นตั้งใจฆ่าสัตว์ โดยมีจุดประสงค์หลัก เพื่อนำเนื้อนั้นมาถวายโดยเฉพาะ และพระภิกษุรู้ว่าเนื้อนั้นมาจากการฆ่า เพื่อที่จะนำมาถวายตนโดยเฉพาะ

4. ผลไม้ที่มีเมล็ด ไม่สามารถถวายผลไม้ที่มีเมล็ดได้ เพราะถือว่าเมล็ดนั้นยังสามารถที่จะให้กำเนิดชีวิตได้อยู่ ถ้าจะถวายต้องนำเมล็ดออกก่อน

5. วัตถุดิบในการทำอาหาร เช่น ข้าวสาร แป้ง เพราะตามหลักของศาสนา ไม่อนุญาตให้พระภิกษุประกอบอาหาร

แต่ในปัจจุบันข้อที่ 5 สามารถอนุโลมได้ เนื่องจากชีวิตสังคมปัจจุบันที่เร่งรีบ ผู้คนไม่ค่อยมีเวลาเตรียมอาหารตักบาตร ดังนั้น การทำอาหารถวายพระก็จะเป็นหน้าที่ของเด็กวัด

อันเนื่องมาจากพระธรรมวินัย ที่บัญญัติไว้เกี่ยวกับข้อปฏิบัติของพระภิกษุดังกล่าวนั้น หากมองไปรอบตัวจะเห็นว่า พระภิกษุและสามเณรบางรูปในปัจจุบัน มักมีรูปร่างอ้วน และหากตรวจร่างกายอย่างละเอียดก็จะพบว่า มีโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ รุมเร้ามากมาย

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พระภิกษุสามเณรเกิดภาวะอ้วน และมีสุขภาพไม่ดี เป็นเพราะฆราวาสญาติธรรมนี่แหละครับ ที่เป็นผู้กระทำโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะการตักบาตรตอนเช้า

หากคุณผู้อ่านไปเดินสำรวจตามแผงขายอาหารตักบาตร จะเห็นได้ชัดว่า อาหารที่วางขายเป็นชุดๆนั้น โดยมากเป็นอาหารประเภท ทอด ผัด หรือแกงที่มีส่วนประกอบของกะทิเป็นหลัก น้อยมากครับที่จะมีน้ำพริก ผักต้ม หรืออาหารที่เป็นผักใบเขียว

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า ผักต้มต่างๆ ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน ทำให้เมื่อเหลือจากการขายต้องนำไปทิ้ง (ทำให้เจ้าของร้านขาดทุนนั่นเอง) แต่พ่อค้าแม่ขายก็อาจลืมคิดไปว่า ถ้าพระสงฆ์ฉันอาหารแบบนี้ซ้ำกันทุกๆวัน จะเป็นจุดกำเนิดของการเกิดโรคเรื้อรังตามมาอย่างไม่ตั้งใจ แถมยังเป็นการทำบาปทางอ้อมอีกด้วยครับ

พระครูโสภณปริยัติยานุกิจ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เล่าให้ “ธรรมาภิวัตน์” ฟังถึงเรื่องวิกฤติสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ อันเกิดจากการถวายทานของญาติโยมว่า

"ปัจจุบัน พระสงฆ์ร่างกายอ้วนมากเกินไป บ้างกลายเป็นพระที่มีโรคาพาธเบียดเบียนมาก บางทีพระท่านก็ไม่ได้ตั้งใจ ญาติโยมก็ไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็ตั้งใจให้พระได้ฉันของดีๆ พระสงฆ์ก็ไม่กล้าปฏิเสธศรัทธา จะบอกว่าโยม..วันนี้ขาหมูไม่เอานะ พระก็ชี้ทางไม่ได้ โยมถวายเราก็ฉัน

อยากอธิบายกับญาติโยมว่า เราควรจะตักบาตรอย่างไร อย่างน้อยเราควรจะมองในคุณค่าและโภชนาการ บางทีบรรพบุรุษที่ตายไปแล้วเคยกินของพวกไขมันบ้างอะไรบ้าง เลยอยากให้ท่านได้กิน ก็มาถวายกับพระสงฆ์

ขณะเดียวกัน ในพระพุทธศาสนาเวลาที่พระท่านสวดหรือที่เรียกว่าการพิจารณาอาหาร ก็มีเหมือนกันว่า อาหารที่ฉันนี้เพื่อเป็นการเยียวยาชีวิต เพื่อเป็นการรักษาชีวิตเพื่อการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่อยู่กินเพื่อสุขสำราญ ถ้ากินสุขสำราญก็จะทำให้ร่างกายอาพาธ ไม่มีกำลังที่จะเผยแผ่พุทธศาสนา ถ้าไม่ระมัดระวังเรื่องนี้ ตามใจปาก ก็จะกลายเป็นโรคอ้วน ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งโรคอีก"


จากสถิติข้อมูลการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ในโรงพยาบาลสงฆ์ ปี 2556 พบว่า พระสงฆ์ป่วยด้วยโรคเบาหวาน 5,090 ราย โรคความดันโลหิตสูง 5,472 ราย ไขมันในเลือดสูง 7,315 ราย

และหากมองย้อนหลังกลับไปใน 5-10 ปีที่ผ่านมา โรคที่พระภิกษุอาพาธมากที่สุด 3 โรคแรกก็หนีไม่พ้น 3 โรคดังกล่าว ถือได้ว่าวิกฤติอาพาธอันเกิดจากการฉันอาหารไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการของพระภิกษุนั้น เป็นปัญหาที่มีมานานแล้วครับ

นพ.สมนึก อร่ามเธียรธำรง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ ได้ให้ข้อมูลกับ “ธรรมาภิวัตน์” ว่า 3 โรคแรกที่เกิดกับพระภิกษุในโรงพยาบาลสงฆ์นั้น ถือเป็นโรคเรื้อรัง และมีพระภิกษุอาพาธด้วยโรคภัยอันเกิดจากการฉันภัตตาหารที่ไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการเป็นจำนวนมาก

"โดยหลักพื้นฐานก็จะมีในเรื่องการบริโภคที่ไม่ถูกสุขลักษณะ คือ เค็มจัด หวานจัด มันจัด 3 จัดนี้ไม่ดีสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือภิกษุสงฆ์ แต่ภิกษุสามเณรจะมีข้อจำกัดมากกว่าประชาชนธรรมดา อย่างเช่นการฉันอาหาร ก็ต้องขึ้นอยู่กับประชาชนตักบาตรมา พระเลือกไม่ได้ ต้องฉันตามนั้น ถือเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ติดตามมาถึงการรักษาในโรงพยาบาลด้วย"

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างในการตักบาตรนั่นคือข้าว คนไทยส่วนใหญ่ยังยึดติดกับมายาคติเรื่องข้าวขาว ซึ่งมองว่าเป็นข้าวที่สะอาด สวยงาม น่ารับประทาน และมีรสชาติดี ควรค่าแก่การนำไปถวายพระ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ข้าวขาวให้ประโยชน์ต่อร่างกายน้อยมาก เนื่องจากผ่านกระบวนการขัดสี ฟอกขาว จนทำให้สารอาหารที่เคลือบอยู่หลุดหายไปเกือบหมด

ยิ่งไปกว่านั้น หากรับประทานข้าวขาวทุกวัน ก็จะได้แต่พลังงานหรือคาร์โบไฮเดรต เป็นพลังงานเชิงซ้อนที่ร่างกายต้องเอาไปแปรรูปก่อนนำไปใช้ เมื่อแปรรูปยังไม่ทันหมด ก็ได้เวลารับประทานอาหารมื้อต่อไป จึงก่อให้เกิดการตกค้าง และเกิดภาวะอ้วนได้ในที่สุด

รองศาสตราจารย์แก้ว กังสดาลอำไพ หัวหน้าฝ่ายพิษวิทยาทางอาหาร สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายให้ “ธรรมาภิวัตน์” ฟังถึงเรื่องของข้าว โดยระบุว่า “ข้าวกล้อง” เหมาะสมสำหรับการถวายพระและนำมารับประทานเองมากที่สุด

"ข้าวกล้องเป็นข้าวที่ดีที่สุด ตรงที่ว่ามันมีใยอาหารเหลืออยู่ ไม่ได้ขัดสีทิ้งไป และตรงใยอาหารก็จะมีส่วนที่เป็นใยคล้ายเป็นรำ ในรำนี้จะมีพวกวิตามินต่างๆ เบต้าแคโรทีน และสารที่เป็นประโยชน์อีกหลายชนิด เพราะฉะนั้น เราจะได้ประโยชน์ในข้าวกล้องมากกว่าข้าวขาว ซึ่งข้าวขาวสิ่งที่ได้อย่างเดียวคือแป้ง แต่ถ้าเรากินเป็นเมล็ด จะดีกว่ากินข้าวที่เป็นแป้ง ซึ่งนำไปทำเส้นก๋วยเตี๋ยวหรืออะไรก็ตาม เนื่องจากว่าข้าวถูกบดเป็นผงละเอียดหมด ใยอาหารไม่เหลือเลย

เพราะฉะนั้น กินข้าวกล้องที่เป็นเมล็ด จะทำให้เราได้กินอาหารที่เป็นแป้งที่ดี เนื่องจากมันจะค่อยๆย่อยช้าๆ แล้วก็อยู่ได้นาน ไม่เหมือนแป้งข้าวจะย่อยเร็ว กินไปไม่นานจะหิวอีก พอหิวก็กินอีก ก็ทำให้อ้วน ขอแนะนำว่า ถ้าจะกินข้าวให้กินข้าวกล้อง ยกเว้นถ้ากินแล้วไม่ค่อยคุ้นปาก ก็ผสมข้าวขาวไปหน่อยก็ได้"


นอกจากของคาวแล้ว มาเรียนรู้เรื่องการใส่บาตรของหวานแบบถูกหลักโภชนาการกันบ้างครับ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ชอบใส่บาตรด้วยขนมไทย ซึ่งมีส่วนประกอบหลักๆ เป็นไข่ แป้ง น้ำตาล และกะทิ ถ้าพระสงฆ์ฉันของหวานน้ำตาลสูงเหล่านี้ทุกวันๆ โรคเบาหวานก็จะถามหาเป็นโรคแรกแน่นอน โดยอาจารย์แก้วได้ยกตัวอย่างขนมไทยยอดนิยมอย่างเม็ดขนุน

"ขนมไทย ถ้าหวานหรือมีแป้งเยอะ ก็น่าสงสารพระ อย่างเม็ดขนุนนี่ความจริงเป็นถั่ว แล้วก็มีใยอาหารอยู่บ้าง มีแป้งอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นพอใช้ได้ แต่ถ้าข้าวเหนียวสังขยา ค่อนข้างจะมันไปหน่อย"

วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นกับการอาพาธของพระภิกษุ อันมีสาเหตุหลักมาจากการฉันภัตตาหารที่ญาติโยมตักบาตรถวายนั้น กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาทางออก

ดังนั้น จุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหานี้ คือการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องของหลักโภชนาการ ทั้งผู้ใส่บาตรคือญาติโยม และผู้รับบาตรคือพระ

"ถ้าฆราวาสรู้เรื่องนี้ดี ก็จะใส่บาตรให้พระท่านสุขภาพดี เพราะฉะนั้นทำอย่างไรเราจึงถวายความรู้กับพระได้ว่า ควรจะกินอย่างไรถึงจะสุขภาพดี ความจริงสมัยพุทธกาล พระไม่ค่อยอ้วน เพราะท่านเดินบิณฑบาตไกลๆ แต่ปัจจุบันพระบางรูปไม่ค่อยบิณฑบาต ซึ่งก็ผิดพุทธบัญญัติอยู่แล้ว และทำให้ยิ่งไม่ได้ออกกำลังกาย การบิณฑบาตถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้

ส่วนอาหารที่ใส่บาตรพยายามให้มีผักบ้าง เป็นยำเป็นสลัดอะไรก็ได้ ให้พระท่านได้ฉันผักผลไม้ หรือถ้าเห็นว่าบ้านข้างๆใส่อาหารที่เป็นแป้งเป็นไขมัน เราก็ใส่ผัก ผลไม้ดีกว่า ถือว่าช่วยพระ"
รองศาสตราจารย์แก้ว กล่าว

ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดระหว่างฆราวาสญาติโยมและพระสงฆ์ ก็คือ ใส่บาตรด้วยอาหารที่ครบทั้ง 5 หมู่ ตามหลักโภชนาการที่ถูกต้อง พระสงฆ์เองก็ควรฉันแต่พออิ่ม ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง คงอยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการสานต่อและเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างยาวนานสืบต่อไป

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 163 กรกฎาคม 2557 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV)



กำลังโหลดความคิดเห็น