1. กินมะม่วงมากกว่าข้าวเหนียว
เช่น กินมะม่วงสุกครึ่งลูก (ขนาดกลาง) จะได้พลังงานประมาณ 70 กิโลแคลอรี่ ส่วนข้าวเหนียวมูนให้กิน 100 กรัม หรือ 1 ขีด จะให้พลังงาน 280 กิโลแคลอรี่ เมื่อรวมกันแล้วจะเท่ากับ 350 กิโลแคลอรี่ ซึ่งเทียบเท่ากับแคลอรี่ที่ได้จากอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดหรืออาหารที่เด็กวัยรุ่นที่นิยมกินกันหลาย ๆ ชนิด เช่น โดนัทเคลือบคาราเมล พิซซ่า และแฮมเบอร์เกอร์ ของพวกนี้ก็ให้พลังงานประมาณ 350 กิโลแคลอรี่ แต่ข้าวเหนียวมะม่วงมีคุณค่าทางโภชนาการและเชิงอาหารเพื่อสุขภาพมากกว่า
2. กินข้าวเหนียวมะม่วงช่วงเวลากลางวัน
เพราะกลางวันเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายต้องใช้พลังงานทำกิจกรรมต่าง ๆ ควรหลีกเลี่ยงการกินมื้อเย็น เนื่องจากมีกิจกรรมที่ต้องทำน้อยกว่าช่วงกลางวัน พลังงานที่ได้รับเข้าไปอาจเผาผลาญและนำไปใช้ไม่หมด เกิดเป็นไขมันสะสมตามร่างกายได้
3. ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องระวัง
เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ต้องระมัดระวังการกินข้าวเหนียวมะม่วง เพราะข้าวเหนียวมะม่วงเป็นอาหารที่มีทั้งน้ำตาลและไขมันปริมาณที่ค่อนข้างสูง จึงแนะนำให้กินสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง และควรลดปริมาณข้าวเหนียวลงให้เหลือสักครึ่งขีด กรณีที่ต้องการกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์
ข้าวเหนียวมะม่วง
4. คนสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว อาจจะกินข้าวเหนียวมะม่วงได้มากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์
แต่ต้องไม่ลืมว่าข้าวเหนียวมะม่วงให้พลังงานเทียบเท่ากับการกินอาหารมื้อหลัก 1 มื้อเลยทีเดียว (บะหมี่แห้ง 1 ชาม พิซซ่า 1 ชิ้น) เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืมออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานที่กินเข้าไป ตัวอย่างการออกกำลังกายที่จะเผาผลาญพลังงานที่ได้จากการกินข้าวเหนียวมะม่ง 1 จาน ได้แก่ วิ่ง 45 นาที ว่ายน้ำ 32 นาที ปั่นจักรยาน 60 นาที และเดิน 100 นาที จึงขอแนะนำว่าทางที่ดีไม่ควรกินเกิน 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์
5. เลือกกินข้าวเหนียวดำ (ถ้าเป็นไปได้)
หรือข้าวเหนียวที่มูนด้วยน้ำกะทิที่ผสมสีที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ดอกอัญชัน แครอต ขมิ้น และใบเตย เพราะจะได้รับสารพฤกษเคมีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มากกว่าการกินข้าวเหนียวขาว
6. กินมะม่วงแก่จัด
เพื่อให้ได้รสชาติดีและสารอาหารจากมะม่วงครบถ้วน ควรซื้อมะม่วงที่แก่จัด และควรปล่อยให้สุกตามธรรมชาติ เนื่องจากมะม่วงที่บ่มแก๊สจะให้กลิ่นและรสที่ไม่ดีเท่ากับมะม่วงสุกตามธรรมชาติ วิธีการสังเกตคือ มะม่วงที่แก่จัดนั้นผลจะอวบ ด้านล่างของมะม่วงจะไม่แหลม ส่วนมะม่วงที่เก็บมาตอนไม่แก่จัด แล้วนำมาบ่มแก๊สผิวจะเหี่ยว
7. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง ควรกินมะม่วงสุกแต่น้อย
กินครั้งละไม่เกิน 1 ผล ขนาดกลาง และใน 1 สัปดาห์ไม่ควรกินเกิน 2 ครั้ง ส่วนผู้ป่วยโรคไตควรงดกินมะม่วงสุก เพราะมีปริมาณโพแทสเซียมสูง
หลายคนอาจจะคิดว่ากะทิ และข้าวเหนียวเหมือนตัววายร้าย คอยทำร้ายร่างกายของเรา กินเข้าไปแล้วก่อให้เกิดโทษแต่เพียงอย่างเดียว คงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก และดูเป็นการกล่าวหากันเกินไป อันที่จริงแล้วกะทินั้นนอกจากเป็นแหล่งของพลังงานที่ดีแล้ว ยังมีสารที่สามารถกำจัดสารอนุมูลอิสระที่จะทำลายเซลล์ต่าง ๆ ร่างกายเราได้อีกด้วย และมีกรดอะมิโนจำเป็นอีกหลายชนิด
กรณีของข้าวเหนียวมะม่วง กะทิเป็นตัวช่วยให้ร่างกายสามารถนำวิตามินเอที่มีอยู่ในเนื้อมะม่วงไปใช้ได้ เพราะวิตามินเอเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ต้องอาศัยไขมันเป็นตัวช่วยพาเข้าร่างกาย จึงนับเป็นความฉลาดของคนไทยสมัยก่อนที่จับคู่ข้าวเหนียวมูนด้วยกะทิ คู่กับมะม่วง
ส่วนข้าวเหนียวก็ไม่ได้มีแค่แป้ง เพราะถ้าเป็นข้าวเหนียวดำ ก็มีสารต้านมะเร็งชั้นเลิศอยู่เช่นกัน จะเห็นได้ว่ากะทิและข้าวเหนียวไม่ได้มีโทษต่อร่างกายอย่างเดียว หากแต่ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย
ที่กล่าวเช่นนี้มิได้ต้องการให้ท่านผู้อ่านกินกะทิและข้าวเหนียวกันมาก ๆ หากแต่ต้องการสื่อว่าอาหารทุกอย่างเปรียบเสมือนดาบสองคม คือ มีทั้งประโยชน์และโทษ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณที่กิน ถ้าเราเดินทางสายกลาง หรือกินแต่พอดี ก็จะไม่เกิดโทษ แต่หากกินมากเกินไป แม้กระทั่งน้ำเปล่าที่เรามองว่าไม่มีพิษมีภัย ก็ยังให้โทษกับร่างกายได้
สุดท้ายนี้หวังว่าท่านผู้อ่านจะมีความสุขกับการกินข้าวเหนียวมะม่วงโดยไม่ต้องกังวลกันเกินไปนัก เพราะข้าวเหนียวมะม่วงเป็นเสน่ห์ของหน้าร้อนเมืองไทยที่แฝงไว้ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งแม้แต่ชาวต่างชาติก็ยังหลงในเสน่ห์ความหอมหวานของขนมชนิดนี้