xs
xsm
sm
md
lg

12 สารพิษร้ายในควันบุหรี่ ก่อโรคเพียบ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


1.คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide) เป็นก๊าซที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงต่างๆ และจากการสูบบุหรี่ เป็นก๊าซที่ทำลายคุณสมบัติในการเป็นพาหะนำออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถจับออกซิเจนได้เท่าเวลาปกติ จึงเกิดการขาดออกซิเจน ทำให้มึนงง ตัดสินใจช้า เหนื่อยง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ

2.แอมโมเนีย (Ammonia) เป็นสารในการทำปุ๋ย วัตถุระเบิด และสารซักฟอก มีฤทธิ์ระคายเคืองเนื้อเยื่อ ทำให้แสบตา แสบจมูก หลอดลมอักเสบ ไอ และมีเสมหะมาก

3.อะซิโตน (Acetone) สารประกอบในน้ำยาล้างเล็บ ก่อให้เกิดการระคายเคืองจากการสูดดม และมีผลต่อเซลล์ตับ ทำให้เซลล์ตับตายได้

4.ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) ก๊าซพิษที่ใช้ในสงคราม สามารถทำลายเยื่อบุผิวหลอดลมส่วนต้น ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะเป็นประจำ โดยเฉพาะในตอนเช้าจะมีมากขึ้น

5.แคดเมียม (Cadmium) พบได้ในแบตเตอรี มีผลกระทบต่อตับ ไต และสมอง ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดและต่อมลูกหมาก

6.ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) สารที่ใช้ดองศพ (ฟอร์มาลีน) เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก ทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ เยื่อบุตา และอาจก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้รุนแรง

7.สารกัมมันตรังสี (Radioactive agents) ควันบุหรี่มีสารโพโลเนียม 210 ที่มีรังสีอัลฟาอยู่ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอด

8.สารหนู (Arsenic) มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร และเชื่อมโยงกับการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด

9.นิโคติน (Nicotine) สารที่ใช้ทำยาฆ่าแมลง และเป็นสารที่ทำให้คนติดบุหรี่ ออกฤทธิ์โดยตรงต่อสมอง ทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นและกดประสาทส่วนกลาง ร้อยละ 95 ของนิโคตินจะไปจับอยู่ที่ปอด และบางส่วนถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด มีผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หลอดเลือดที่แขนและขาหดตัว เพิ่มไขมันในเส้นเลือด

10.ทาร์หรือน้ำมันดิน (Tar) เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในหลายส่วนของร่างกาย เช่น มะเร็งปอด กล่องเสียง หลอดลม หลอดอาหาร ไต กระเพาะปัสสาวะ และอื่นๆ

11.ไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nitrogen dioxide) เป็นก๊าซพิษที่ทำลายเยื่อบุหลอดลมส่วนปลาย และถุงลม ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง

และ 12.ตะกั่ว (Lead) พบตามโรงงานอุตสาหกรรมแบตเตอรี โรงงานถลุงโลหะ เป็นสารก่อมะเร็ง มีผลต่อหลายระบบในร่างกาย เช่น ระบบประสาท ทำให้การได้ยินผิดปกติ ระดับไอคิวต่ำ มีผลต่อระบบเลือด ทำให้ความดันเลือดสูง ผลต่อระบบไต และระบบสืบพันธุ์ในผู้ใหญ่ ทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อมได้

ขอบคุณข้อมูลจากหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ โรงเรียนเวชนิทัศน์พัฒนา สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
กำลังโหลดความคิดเห็น