xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริโภคอีสานห่วงอาหารไม่ปลอดภัย หลังพบผัก-เนื้อสัตว์มีสารพิษตกค้างอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน ร่วมหารือถึงสถานการณ์ด้านอาหารกับความปลอดภัยของผู้บริโภค
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสานห่วงประเด็นความปลอดภัยด้านอาหาร หลังพบสารเคมีตกค้างปนเปื้อนในพืชผัก-เนื้อสัตว์สูง ยื่นข้อเสนอให้รัฐสนับสนุนกลไกเฝ้าระวัง พร้อมพัฒนาระบบเตือนภัยทางอาหาร เร่งคลอด พ.ร.บ.องค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค

วันนี้ (25 เม.ย.) ที่ห้องประชุมภูเวียง โรงแรมขอนแก่น โฮเต็ล เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน ประกอบด้วย สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น สมาคมผู้บริโภคร้อยเอ็ด พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายจากจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสานกว่า 30 คน ร่วมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านอาหารกับความปลอดภัยของผู้บริโภคภาคอีสาน หลังพบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในพืชผักที่ขายในท้องตลาด ตรวจพบเจอสารฟอร์มาลินในเนื้อสัตว์ อาหารทะเลแช่แข็ง

ขณะเดียวกัน วงจรการบริโภคอาหารที่ซับซ้อนมากขึ้นทำให้ไม่สามารถตรวจสอบหรือยืนยันได้ว่าอาหารมาจากแหล่งใด อีกทั้งกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัยต่อผู้บริโภคหรือไม่ ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีการตกค้างของสารเคมีอย่างต่อเนื่องถึง 7-8 รายการ ตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักที่ขายในท้องตลาด ตรวจพบสารฟอร์มาลินในอาหารทะเล

จากการเฝ้าระวังที่ผ่านมา ทำให้มีการรณรงค์ให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายร้ายแรง 4 ชนิด คือ อีพีเอ็น และไดโครโตฟอส ส่วนสารเคมีอีก 2 ชนิด คือ เมโทนิล และคาร์บูฟูราน ยังไม่มีการประกาศห้ามใช้ ขณะที่กรมวิชาการเกษตรยังไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนแต่อย่างใด

เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสานที่เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารได้มีข้อเสนอเพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพ ประกอบด้วย

1. ให้หน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมและสนับสนุนกลไกการเฝ้าระวัง โดยความร่วมมือทุกภาคส่วนให้ติดตามสถานการณ์การใช้สารเคมีอันตรายในการผลิตพืชอาหาร โดยให้จัดทำรายงานผลเผยแพร่ต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ

2. ให้รัฐพัฒนาระบบการเตือนภัยทางอาหาร มีการรายงานผลต่อสาธารณะเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึง

3. ให้กรมวิชาการเกษตรเร่งออกประกาศห้ามขายและห้ามใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ เมโทมิล และคาร์บูฟูราน

4. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตระหนักถึงความสำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทราบถึงพิษภัยอันตรายของสารเคมีที่กระทบต่อสุขภาพ

5. ให้หน่วยงานรัฐสนับสนุนผู้บริโภค ร่วมมือกับเกษตรกรในการผลิตอาหารที่ปลอดภัย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

6. ให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ... ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีกลไกตรวจสอบการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของภาครัฐ

กำลังโหลดความคิดเห็น