xs
xsm
sm
md
lg

ยาพาราฯเสี่ยงทำลายตับ! มะกันสั่งทบทวน อย.ไทยยังเฉย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กพย. จวก อย. ทำงานล่าช้า ไม่มีการทบทวนผลกระทบยา เผยมะกันสั่งทบทวนปริมาณการกินแล้ว เหตุกินมากเสี่ยงทำลายตับ ขณะที่ไทยเพิ่มปริมาณยาแต่ยังกำหนดให้กินเท่าเดิม สุดทน! ขอจัดการเอง เร่งระดมสมองเภสัชกรรวมเคสผลกระทบจากการใช้ยา

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า เนื่องจากยาบางตัวยังมีผลกระทบ แต่ประเทศไทยยังไม่มีการรวบรวมปัญหายาอย่างเป็นระบบ ทำให้การกินยาของคนไทยยังมีความสุ่มเสี่ยงอยู่มาก ต้องแบกรับความเสี่ยงกันเอง ล่าสุด กพย. ได้ขอความร่วมมือเภสัชกรประจำสถานพยาบาลต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อรวบรวมกรณีศึกษายาที่ไม่เหมาะสมทั่วประเทศว่า มีกรณีศึกษาอะไรบ้าง โดยจะมีการศึกษายาที่ใช้ทั่วไป อย่างยาพาราเซตามอล เนื่องจากเมื่อต้นปี 2557 ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาสั่งทบทวนปริมาณการกินยาพาราเซตามอลใหม่ เนื่องจากเกรงว่าผู้กินจะได้รับผลกระทบ แต่ไทยไม่มี

“จริงๆ ยาพาราเซตามอลขนาด 325 มิลลิกรัม กำหนดให้กินทุก 4-6 ชั่วโมง ครั้งละ 1-2 เม็ด ไม่เกินวันละ 4 ครั้ง ปัจจุบันมีการปรับเป็น 500 มก. แต่การกำหนดยังเช่นเดิม มีเพียงเด็กที่ระบุว่าให้รับประทานครั้งละครึ่งหรือ 1 เม็ด ซึ่งหากกินไปนานๆ จะทำให้ทำลายตับได้ ซึ่งเรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรมีการติดตามผลกระทบ แต่ก็ไม่มีการทำอะไร” ผู้จัดการ กพย. กล่าว

ภญ.นิยดา กล่าวว่า ขณะนี้ กพย.จึงร่วมกับเภสัชกรในพื้นที่ต่างๆ รวบรวมเคสอยู่ ไม่เพียงแต่กรณียาพาราเซตามอลเท่านั้น ยังมียาอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะยาสเตียรอยด์ ซึ่งมีปัญหามานาน แต่ไม่มีการควบคุมจริงจัง ทั้งที่ยาสเตียรอยด์น่ากลัวมาก ปะปนกับยาต่างๆ ยิ่งขณะนี้สื่อเข้าถึงง่าย ทั้งเคเบิล ดาวเทียม อินเทอร์เน็ต มักอวดอ้างสรรพคุณว่ามียาลดอาการปวดบวม แก้ปัญหาข้อเข่าต่างๆ พวกนี้ล้วนผสมยาสเตียรอยด์ทั้งสิ้น ทั้งนี้ หากมีการรวบรวมผลกระทบจากการใช้ยา จะเป็นประโยชน์มาก เนื่องจากจะทำให้ทราบว่าประเทศไทยควรทบทวนยาตัวไหน หรือเพิ่มคำเตือนอะไรบ้าง อย่างกรณีที่ อย. มีคณะอนุกรรมการทบทวนตำรับยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ ซึ่งเตรียมพิจารณาตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนประมาณ 50 ตำรับ แต่สุดท้ายก็ไม่เห็นมีการประชุมพิจารณาอะไร

ด้าน นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า อย. ไม่ได้นิ่งนอนใจ เนื่องจากมีทีมเฝ้าระวังพิจารณาตำรับยาต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งหากยากลุ่มไหนเสี่ยง หรือมีผลกระทบก็จะมีการเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการทบทวนตำรับยาฯ ทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น