ช่วงนี้เจอะเจอคนรอบข้างเป็นโรคอีสุกอีใสกันเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่พบในเด็ก จึงอยากเตือนพ่อแม่ให้เพิ่มความระมัดระวังกันด้วยค่ะ
เพื่อนพ่อแม่หลายคนที่ลูกต้องเผชิญกับโรคอีสุกอีใส และช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมทำให้พ่อแม่ต้องขลุกอยู่กับลูกทั้งวัน ยิ่งถ้ามีลูกหลายคน ความเสี่ยงก็เพิ่มมากขึ้นไปด้วย บางบ้านก็เป็นกันทั้งบ้าน ทำให้ต้องชุลมุน เพราะหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะไม่ติดต่อกัน
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับเจ้าโรคอีสุกอีใสกันก่อนเกี่ยวกับเรื่องความเข้าใจผิด 2 ประการ
ประการแรก ฉีดวัคซีนแล้วตั้งแต่เล็ก จะไม่เป็นโรคนี้
เป็นความเข้าใจผิดค่ะ เพราะคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว เจ้าวัคซีนสามารถป้องกันได้เพียงราว 90% เท่านั้น ข้อนี้กล้าการันตี เพราะเจ้าลูกชายสองคนของดิฉันก็ฉีดวัคซีนตั้งแต่เล็ก แต่เจ้าคนเล็กก็เพิ่งเป็นโรคนี้ได้ไม่นาน เพียงแต่อาการตุ่มเห่อและอาการคันอาจจะน้อยกว่าปกติ ซึ่งของเจ้าลูกชายคนเล็กเป็นเมื่ออายุ 14 ปี อาการคันก็หนักหน่วงอยู่ ทำให้ชอบเกา และแน่นอนยิ่งคันยิ่งเกา และช่วงแผลตกสะเก็ตก็มักทำให้เป็นแผลเป็นนั่นเอง
ประการที่สอง เคยเป็นแล้วจะไม่เป็นอีก
เป็นความเข้าใจผิดอีกข้อหนึ่ง เพราะมีหลายคนที่เคยเป็นแล้ว ก็เป็นอีก เพราะอยู่ในช่วงที่ภูมิต้านทานต่ำก็สามารถติดโรคนี้ได้ เพียงแต่อาการจะลดลง ไม่เป็นมากเหมือนครั้งแรก ฉะนั้น ผู้ที่เคยเป็นแล้วก็ต้องระมัดระวังตัว ไม่อยู่ใกล้กับคนที่เป็นโรคนี้เช่นกัน
ฉะนั้นจึงมีวิธีการดูแลและป้องกันภายในบ้านมาฝาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านที่มีเด็กอยู่ร่วมกันหลายคน ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษล่ะค่ะ
โรคอีสุกอีใส (Chicken pox) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส (Varicella zoster virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิด โรคงูสวัด (Herpes Zoster) เนื่องจากผื่นและตุ่มที่ขึ้นนี้จะค่อยๆ ออกทีละระลอก กระจัดกระจาย ไม่ขึ้นพร้อมกันทั่วร่างกาย บางที่จะออกเป็นผื่นแดงราบ บางที่เป็นตุ่มน้ำใสๆ บางที่เป็นตุ่มกลัดหนอง และบางที่ก็เริ่มตกสะเก็ด แต่ละคนก็จะมีลักษณะแตกต่างกันไป
เจ้าโรคนี้สามารถติดต่อได้ด้วยการไอ จาม หายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัส ตลอดจนการใช้ของใช้ร่วมกัน โดยปกติเชื้อโรคจะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 สัปดาห์ มักจะระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อนเช่นเดียวกับหัด แต่ก็พบได้ตลอดทั้งปี พบมากในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 5-12 ปี รองลงมาจะเป็นกลุ่มเด็กอายุ 1-4 ปี กลุ่มวัยรุ่น และวัยหนุ่มสาว
โดยปกติอาการของโรคอีสุกอีใสจะไม่รุนแรง เป็นเองหายเองได้
อาการแรกเริ่มที่พ่อแม่สังเกตเห็นได้คือ เด็กจะมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่มักมีไข้สูงร่วมด้วย มีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวคล้ายไข้หวัดและจะมีผื่นขึ้นพร้อมๆ กับวันที่เริ่มมีไข้ แล้วกระจายไปตามใบหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง ต่อมากลายเป็นตุ่มนูนมีน้ำใสๆ อยู่ข้างใน หรือดูคล้ายตุ่มหนอง และมีอาการคัน 2-4 วัน ต่อมาก็ค่อยๆ ตกสะเก็ด บางคนมีแผลขึ้นในช่องปากร่วมด้วย ทำให้ปากและลิ้นเปื่อย และมีอาการเจ็บคอ
เด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงและมีตุ่มขึ้นมากกว่าเด็กเล็ก โดยทั่วไปผื่นและตุ่มจะหายโดยไม่มีแผลเป็น ยกเว้นมีเชื้อแบคทีเรียมาแทรกซ้อน โรคนี้เมื่อหายแล้ว มักจะมีเชื้อหลบอยู่ตามปมประสาท ซึ่งอาจออกมาเป็นโรคงูสวัดภายหลังได้
แต่อาการที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนบนผิวหนัง ทำให้กลายเป็นหนองและมีแผลเป็นตามมา ในบางรายเชื้อแบคทีเรียที่แทรกซ้อนอาจกระจายเข้าไปในกระแสเลือดทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษและปอดบวมได้
ถ้าพบว่าลูกเป็น ควรจะไปพบแพทย์ก่อน อย่าวินิจฉัยด้วยตัวเอง หรือรักษาด้วยตัวเองตามความเชื่อโบราณ เช่น กินยาเขียวเพื่อขับให้พิษออกมา เพราะเรายังไม่รู้ว่าลูกเป็นอะไร ควรสังเกตอาการเบื้องต้นและให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัย
ส่วนการดูแลรักษาโดยทั่วไป แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการไข้และอาการทางผิวหนัง โดยให้ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (ห้ามใช้แอสไพริน) ยาทาแก้คัน หรืออาจมีการให้ยาเพื่อยับยั้งการเจริญของเชื้อไวรัสร่วมด้วย ทางที่ดีผู้ป่วยควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ดีกว่าค่ะ
แต่วิธีการดูแลสมาชิกในบ้านที่ยังไม่เป็นก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยเช่นกัน
ประการแรก ต้องแยกเด็กที่ป่วยไว้ต่างหาก แม้อาจจะลำบาก แต่ก็ต้องเคร่งครัด ยิ่งบ้านไหนมีเด็กหลายคน อาจจะต้องแบ่งแยกคนละห้อง และแยกผู้ใหญ่ในบ้านในการดูแลลูก เพื่อป้องกันลูกอีกคนติดได้ ทั้งนี้ระยะแพร่เชื้อจะเริ่มตั้งแต่ 24 ชั่วโมงก่อนที่มีผื่นหรือตุ่มขึ้นจนถึงตุ่มแห้งตกสะเก็ดหมดแล้ว ซึ่งใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ในระยะนี้ต้องให้ลูกหยุดเรียนหรือผู้ใหญ่ก็ต้องหยุดงาน
ประการที่สอง ต้องไม่ใช้สิ่งของร่วมกันหรือปะปนกัน ไม่ว่าจะเป็นของเล่น หรือของกิน ของใช้ ก็ขอให้แยกชั่วคราว ถ้าลูกโตก็อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าที่พ่อแม่ต้องแยกหนูออกจากกัน หรือไม่ได้เล่นด้วยกัน จะเป็นแค่ช่วงเวลาเดียว เพราะน้องป่วย รอให้น้องหายป่วยแล้วค่อยกลับมาเล่นกันเหมือนเดิม
ส่วนคุณแม่เองคือผู้ใกล้ชิดลูกมากที่สุด เพราะต้องดูแลลูกที่ป่วยอย่างใกล้ชิดด้วย ก็ต้องระมัดระวังตัวเองด้วย อาจใช้ผ้าปิดปากร่วมด้วย แต่เท่าที่ผ่านมา แม่ทุกคนเหมือนกันหมด ถ้าตัวเองต้องป่วยด้วยก็ไม่เป็นไร สุดท้ายก็มักเป็นไปพร้อมกับลูก ที่จริงลูกเป็น ถ้าเราระมัดระวังตัวเองดีๆ ก็ไม่เป็นย่อมดีกว่าค่ะ
ประการที่สาม สำคัญมากต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดมากๆ ในช่วงที่แสดงอาการ ลูกจะคันมาก เด็กส่วนใหญ่จะงอแง ไม่กิน ไม่นอน และจะเกาแผล เพราะฉะนั้นต้องทายาแก้คัน และแม่หรือผู้ดูแล ต้องพยายามหาทางงีบไปพร้อมๆกับลูกด้วย ไม่งั้นสุขภาพตัวเองก็จะแย่ไปด้วย
ประการที่สี่ ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ตั้งแต่เล็ก แม้จะไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่อย่างน้อยถ้าเป็นขึ้นมาก็จะไม่หนัก และอาการก็จะไม่มากเท่าคนที่ไม่ได้ฉีด ยิ่งถ้าเป็นตอนโตจะทรมานมาก
เจ้าโรคนี้เวลามันจะมา มันไม่บอกล่วงหน้านะคะ ช่วงนี้เป็นช่วงระบาดกันเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นอย่าลืมดูแลตัวเองและคนที่เรารักอย่างถูกวิธีนะคะ