นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้มีผู้จมน้ำเสียชีวิตมาก ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการช่วยเหลือผิดวิธี ซึ่งมี 2 ช่วงคือ ขณะอยู่ในน้ำ ซึ่งเด็กๆ จะเล่นน้ำเป็นกลุ่ม พอมีเพื่อนจมน้ำก็จะลงน้ำไปช่วยกันเอง โดยไม่มีความรู้ในการช่วยที่ถูกต้อง และอีกช่วงคือการช่วยเด็กหลังนำขึ้นมาจากน้ำแล้ว โดยประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 93 ยังเข้าใจผิด คิดว่าการอุ้มพาดบ่า และกระแทกเอาน้ำออกเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ซึ่งในความจริง เป็นวิธีที่ผิด เนื่องจากจะทำให้ผู้จมน้ำ ขาดอากาศหายใจนานขึ้น ควรรีบเป่าปากและนวดหัวใจ เพื่อให้หายใจได้เร็วที่สุด ถ้าพบว่าหายใจเองได้หรือหายใจเองได้แล้ว ให้จับผู้จมน้ำให้นอนตะแคง ให้ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก และใช้ผ้าห่มคลุมตัวผู้ป่วย เพื่อให้ความอบอุ่น งดน้ำและอาหาร และรีบส่งผู้ที่จมน้ำทุกราย ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
สำหรับเด็กที่ต้องเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ รวมทั้งผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็น แต่ต้องการลงเล่นน้ำคลายร้อน ควรสวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง ทั้งนี้ เมื่อพบคนตกน้ำ ต้องไม่กระโดดลงไปช่วย แม้จะว่ายน้ำเป็น เพราะอาจจะถูกกอดรัดและจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันได้ วิธีการช่วยให้ยึดหลัก 3 อย่างคือ 1.ตะโกน คือการเรียกให้คนมาช่วย และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ