xs
xsm
sm
md
lg

เตือน! ระวังเด็กจมน้ำช่วงปิดเทอม สถิติภาคอีสานยอดตายสูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เตือนผู้ปกครองระวังเด็กจมน้ำเสียชีวิต ช่วงปิดเทอม ตั้งแต่ปี 2546-2556 พบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยวันละเกือบ 4 คน เฉพาะในช่วงปิดเทอมมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 442 คน จุดที่พบบ่อยคือ แหล่งน้ำธรรมชาติ หนองน้ำ คลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำ อ่างอาบน้ำ ย้ำผู้ปกครองช่วยกันป้องกัน อย่าปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง แนะหากเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ ต้องสวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงปิดเทอมเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เป็นช่วงอากาศร้อน เด็กๆ มักนิยมไปเล่นน้ำเพื่อคลายร้อน ทำให้พบสถิติการจมน้ำมากที่สุด ข้อมูลในรอบ 11 ปี ตั้งแต่ 2546-2556 พบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตแล้วถึง 15,495 คน เฉลี่ยปีละ 1,291 คน หรือวันละเกือบ 4 คน เฉพาะในช่วง 3 เดือนอันตรายซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมคือมีนาคม-พฤษภาคม มีเด็กเสียชีวิตจากตกน้ำ จมน้ำสูงถึง 442 คน โดยกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จะมีสัดส่วนการเสียชีวิตจากการตกน้ำจมน้ำสูงถึงร้อยละ 30 แหล่งน้ำที่พบบ่อยประมาณร้อยละ 50 คือ แหล่งน้ำธรรมชาติ หนองน้ำ คลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำ รองลงมาคือสระว่ายน้ำ พบร้อยละ 5 และอ่างอาบน้ำร้อยละ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีจำนวนการจมน้ำสูงสุด รองลงมาเป็นภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือ ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงต่อการจมน้ำตายในเด็กและผู้ใหญ่นั้น มีความแตกต่างกัน โดยในกลุ่มเด็กเล็กมีความสัมพันธ์กับการดูแลของผู้ดูแลเด็ก ส่วนในเด็กโตมีความสัมพันธ์กับการเล่นน้ำ

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาคนไทยร้อยละ 42 ยังมองเรื่องการตกน้ำ จมน้ำเสียชีวิตว่าเป็นเรื่องของเคราะห์กรรม ซึ่งข้อเท็จจริงนั้น การตกน้ำ จมน้ำเป็นเรื่องที่ช่วยกันป้องกันได้ ดังนั้น ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก อย่าปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง แม้ว่าจะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้าน หรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคยก็ตาม ควรให้ความรู้เด็ก สร้างรั้วล้อมรอบแหล่งน้ำและติดป้ายคำเตือน รวมทั้งการจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำ ส่วนในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อย่าปล่อยให้เด็กอยู่ลำพังแม้เสี้ยวนาที ต้องมองเห็น เข้าถึง และคว้าถึงง่าย เพราะเด็กวัยนี้จมน้ำง่าย เนื่องจากเด็กเล็กยังมีการทรงตัวไม่ดี ยังไม่มีความพร้อมในการป้องกันตนเอง จึงจมน้ำได้ง่าย แม้แหล่งน้ำมีน้ำเพียงเล็กน้อย หรือแม้แต่ในถังหรือกะละมังที่มีน้ำเพียง 1-2 นิ้วก็ตาม ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนผู้ปกครองและเตรียมทีมแพทย์ให้การช่วยเหลือ หากพบเห็นผู้จมน้ำสามารถโทร.แจ้งขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านนพ.สภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปี 2556 สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินผลการว่ายน้ำเป็นของเด็กไทย อายุ 5-14 ปี ซึ่งมีกว่า 8 ล้านคน พบว่า เด็กว่ายน้ำเป็นเพียงร้อยละ 24 หรือประมาณ 2 ล้านคน แต่สามารถว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้เพียงร้อยละ 4 หรือ 367,704 คน โดยเด็กที่เรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด จะมีทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนถึง 21 เท่าตัว และมีทักษะการช่วยเหลือคนตกน้ำ/จมน้ำ สามารถแก้ไขปัญหาและการเอาชีวิตรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนถึง 3 เท่าตัว ดังนั้นการเรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด เป็นมาตรการหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันการจมน้ำได้ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยเรียน

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้มีผู้จมน้ำเสียชีวิตมาก ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการช่วยเหลือผิดวิธี ซึ่งมี 2 ช่วงคือ ขณะอยู่ในน้ำ ซึ่งเด็กๆ จะเล่นน้ำเป็นกลุ่ม พอมีเพื่อนจมน้ำก็จะลงน้ำไปช่วยกันเอง โดยไม่มีความรู้ในการช่วยที่ถูกต้อง และอีกช่วงคือการช่วยเด็กหลังนำขึ้นมาจากน้ำแล้ว โดยประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 93 ยังเข้าใจผิด คิดว่าการอุ้มพาดบ่า และกระแทกเอาน้ำออกเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ซึ่งในความจริง เป็นวิธีที่ผิด เนื่องจากจะทำให้ผู้จมน้ำ ขาดอากาศหายใจนานขึ้น ควรรีบเป่าปากและนวดหัวใจ เพื่อให้หายใจได้เร็วที่สุด ถ้าพบว่าหายใจเองได้หรือหายใจเองได้แล้ว ให้จับผู้จมน้ำให้นอนตะแคง ให้ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก และใช้ผ้าห่มคลุมตัวผู้ป่วย เพื่อให้ความอบอุ่น งดน้ำและอาหาร และรีบส่งผู้ที่จมน้ำทุกราย ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

สำหรับเด็กที่ต้องเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ รวมทั้งผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็น แต่ต้องการลงเล่นน้ำคลายร้อน ควรสวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง ทั้งนี้ เมื่อพบคนตกน้ำ ต้องไม่กระโดดลงไปช่วย แม้จะว่ายน้ำเป็น เพราะอาจจะถูกกอดรัดและจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันได้ วิธีการช่วยให้ยึดหลัก 3 อย่างคือ 1.ตะโกน คือการเรียกให้คนมาช่วย และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น