xs
xsm
sm
md
lg

สปส.จ่ายบำเหน็จชราภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันนี้ (13 ม.ค.) นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย.2556 มีผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 มายื่นเรื่องรับเงินสิทธิประโยชน์กรณีเงินชราภาพโดยเป็นเงินบำเหน็จชราภาพกว่า 1.6 แสนคน ใช้เงินกองทุนประกันสังคมกว่า 6.6 พันล้านบาท ซึ่ง สปส.ได้จ่ายเงินไปแล้ว ส่วนช่วงเดือน ธ.ค.2556 มีผู้ประกันตนมายื่นเรื่องรับเงินสิทธิประโยชน์กรณีเงินชราภาพทั้งเงินบำเหน็จชราภาพและเงินบำนาญชราภาพรวมกว่า 1.7 หมื่นคน แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นผู้ที่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพซึ่งส่งเงินสมทบมาไม่ครบ 180 เดือน หรือ 15 ปี มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเกษียณจากการทำงานแล้วจำนวนเท่าใด และผู้ที่มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพซึ่งส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน หรือ 15 ปี มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และเกษียณจากการทำงานแล้วจำนวนเท่าใด เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแยกจำนวนผู้ที่มีสิทธิและเงินชราภาพที่ต้องจ่ายโดยภาพรวมในแต่ละประเภท

รองเลขาธิการ สปส.กล่าวอีกว่า สปส.จะเริ่มจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพซึ่งเป็นเงินบำนาญชราภาพให้แก่ผู้ประกันตนที่มีสิทธิ ซึ่งที่มายื่นเรื่องในช่วงเดือน ธ.ค.2556 และเดือน ม.ค.2557 งวดแรกได้ในวันที่ 25 ก.พ.นี้ โดยผ่านบัญชีธนาคาร 9 แห่งที่ร่วมมือกับ สปส.ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารซีไอเอ็มบี และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

โดยกรณีผู้ประกันตนที่มีเงินเดือน 9,000 บาท จะได้รับเงินบำนาญชราภาพโดยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละประมาณ 1,800 บาท เงินเดือน 10,000 บาท ได้รับเดือนละประมาณ 2,000 บาท เงินเดือน 12,000 บาท ได้รับเดือนละประมาณ 2,400 บาท และเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไปได้รับเดือนละประมาณ 3,000 บาท อย่างไรก็ตาม ผู้ประกันตนแต่ละคนอาจจะได้รับเงินบำนาญชราภาพไม่เท่ากัน โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบและค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณการทำงานบวกกับเงินปันผลกำไรที่ สปส.นำเงินสมทบไปลงทุน ซึ่ง สปส.จะนำเงินบำนาญชราภาพเข้าบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนทุกวันที่ 25 ของแต่ละเดือนนับตั้งแต่เดือน ก.พ.นี้เป็นต้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น