โดย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้เตือนมาว่า ผู้ที่เกาะติดเหตุบ้านการเมือง หรือการเสพข้อมูลจากสื่อที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ไอแพด โทรศัพท์มือถือ ตลอดเวลาตั้งแต่หลังตื่นนอนตอนเช้า หรือแม้ขณะหลับก็ยังเปิดอุปกรณ์สื่อสารทิ้งไว้ เพื่อรับข้อมูลเข้ามา การเสพข้อมูลอย่างหนักเช่นนี้จะทำให้สมองทำงานต่อเนื่องตลอดเวลา และข้อมูลที่มากเกินไปมีผลทำให้สมองสำลักข้อมูล ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจตามมาจนเกิดอันตรายได้
นั่นก็เพราะสมองคนเรามีข้อจำกัดในการดูดซับข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูลที่รับเข้าไป หากข้อมูลไหลเข้าสมองต่อเนื่องจะเกิดปัญหาล้นเกิน เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเครียด และเกิดการลัดวงจรของระบบประสาท ในที่สุดจะเสียสมดุลในการจัดการข้อมูล แม้ในเวลาหลับสมองอาจจะยังพยายามจัดการข้อมูลที่ยังค้างติดอยู่
FOMO
สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นทันทีจากการเสพข้อมูลมากเกินไปนั้น ได้แก่
ความเหนื่อยล้า
นอนไม่หลับ
ปวดมึนศีรษะ
มีอาการปั่นป่วนมวนท้อง
คลื่นไส้
ผู้ที่ต้องระมัดระวังก็คือผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง จะทำให้เกิดภาวะหัวใจทำงานหนัก เสี่ยงหัวใจวาย ความดันโลหิตสูงขึ้น เสี่ยงเส้นเลือดแตก กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากขึ้น เสี่ยงเกิดโรคกระเพาะอาหาร
ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอยู่เดิม อาการจะกำเริบได้
ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ เช่น หอบหืด อาจทำให้เกิดการเกร็งของทางเดินหายใจ หายใจไม่ออก อาการแย่ลงได้
และนอกจากการรับข้อมูลมากเกินไปแล้ว ยังมีอีกเรื่องที่่น่าห่วงก็คือ การรับข้อมูลบางอย่างเป็นการขาดการกลั่นกรองข้อเท็จจริงด้วย อาจจะเป็นการซ้ำเติมให้เกิดความเครียดลงไปอีก หากเสพไปนาน ๆ อาจทำให้กลายเป็นผู้ที่มองโลกในแง่ลบ
โดยการเสพติดข้อมูลนั้นเป็นผลมาจากความรู้สึกว่าต้องการข่าวใหม่ ๆ เข้ามาเร้าความสนใจตลอดเวลา จนทำให้เกิดอาการอยากสร้างเรื่องที่ธรรมดาให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ น่าสนใจ เช่น การส่งต่อข้อความเดิม ๆ ซ้ำ ๆ จนเกิดความรู้สึกว่าชิ้นข่าวนั้นน่าสนใจ หรืออาจมีการต่อเติมข้อความจากความคิดของตนเอง ให้ข้อมูลธรรมดากลายเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ ปรากฏการณ์แบบนี้ ทำได้ง่ายขึ้นในยุคเทคโนโลยีปัจจุบัน
ปวดหัว
แล้วจะป้องกันข้อมูลล้นสมองได้อย่างไรล่ะ? พญ.พรรณพิมล ให้คำแนะนำต่อไปนี้
ควรจัดแบ่งเวลาในการรับข้อมูลที่พอประมาณ
หลีกเลี่ยงการสนทนาการเมืองบ้าง
แบ่งเวลาในการทำกิจกรรมอื่น ทั้งหน้าที่งานประจำ
พักผ่อนอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง เพื่อให้ชีวิตเกิดความสมดุล
ควรจัดเวลาออกกำลังกายด้วยอย่างน้อยวันละไม่ต่ำกว่า 30 นาที เนื่องจากการออกกำลังกายจะทำให้สมองหลั่งสารแห่งความสุขที่เรียกว่าสารเอนดอร์ฟีน (endorphine) สามารถขจัดความเครียดได้ตามธรรมชาติ ช่วยให้ร่างกายเกิดการผ่อนคลาย และนอนหลับได้ดีขึ้น