กรมสุขภาพจิตห่วงข่าวลือ ข่าวปล่อยเรื่องภัยพิบัติว่อนโลกออนไลน์ หวั่นประชาชนรับสารแล้วเครียด ส่งผลเสียสุขภาพ ชี้ข้อมูลมีทั้งจริงและเท็จ ต้องกลั่นกรอง เสพข่าวอย่างมีสติ มีดุลพินิจก่อนแชร์ต่อแนะค้นหาข้อมูลความรู้ด้วยตนเอง สอบถามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อมูลข่าวสาร ข่าวลือ และคำทำนายต่างๆ เกี่ยวกับเหตุภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย แพร่สะพัดผ่านสื่อต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะทางอินเทอร์เน็ต อาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด และเกิดความเครียด วิตกกังวล ปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้น เช่น นอนไม่หลับ ปวดมึนศีรษะ ปั่นป่วนมวนท้อง คลื่นไส้ โดยผู้ที่ต้องระมัดระวัง คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง จะทำให้เกิดภาวะหัวใจทำงานหนัก เสี่ยงหัวใจวาย ความดันโลหิตสูงขึ้น เสี่ยงต่อเส้นเลือดแตก กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากขึ้น เสี่ยงเกิดโรคกระเพาะอาหาร รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ เช่น หอบหืด อาจทำให้เกิดการเกร็งของทางเดินหายใจ หายใจไม่ออก อาการแย่ลงได้
นพ.เจษฎา กล่าวว่า ช่วงนี้ขอให้พึงตั้งสติและระมัดระวังในการติดตามข้อมูลข่าวสาร สำหรับผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลจำเป็นต้องใช้ดุลพินิจ เพื่อป้องกันความตื่นตระหนกของประชาชน ขณะที่ผู้เสพข้อมูลข่าวสารควรใช้วิจารณญาณ เชื่อโดยมีพื้นฐานอยู่บนเหตุผล ข้อเท็จจริง ดูความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ และรับข่าวสารข้อมูลด้วยความระมัดระวัง มองสถานการณ์ให้รอบด้าน อย่าตื่นตระหนก แต่ให้ตื่นตัว โดยต้องวิเคราะห์ให้ดี เพราะข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏนั้น ย่อมมีทั้งข่าวจริง ข่าวลือ ข่าวปล่อย ค่อยๆ กลั่นกรอง อย่ารีบร้อน ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล มองโลกในแง่ลบมากขึ้น ควรเสพข้อมูลจากคนที่ไว้ใจได้ หรือตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง กระตือรือร้นในการหาความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติด้วยตนเอง หากมีข้อมูล หรือหาความรู้ด้วยตนเองก็จะไม่ตื่นกับข่าวลือ ข่าวลวง ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องให้ข้อเท็จจริง ทำความเข้าใจประชาชน รวมทั้งให้ความมั่นใจว่าจะจัดการกับเหตุการณ์ได้ จะช่วยลดความตื่นตระหนกจากข่าวลือ และข่าวลวงลงได้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่