xs
xsm
sm
md
lg

เสพติดข่าวชุมนุม เสี่ยงสมองสำลักข้อมูล เหนื่อยเครียดมาเยือนแบบจัดเต็ม!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เตือนเสพติดข่าวชุมนุม สมองจะทำงานหนักจนสำลักข้อมูล ชี้ประสาทอาจลัดวงจรจนเครียด เหนื่อยล้า นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ชี้กลุ่มมีโรคประจำตัวเสี่ยงหัวใจวาย เส้นเลือดแตก หอบหืดแย่ลง ห่วงรับข้อมูลขาดข้อเท็จจริง ยิ่งทวีความเครียด แถมเกิดอาการอยากส่งต่อข่าวธรรมดาให้กลายเป็นข่าวใหญ่ น่าสนใจแนะพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกาย
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า การเกาะติดสถานการณ์การชุมนุมที่มากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ บางรายดูข้อมูลบนมือถือตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอน ทำกิจวัตรประจำวัน แม้ขณะหลับก็ยังเปิดอุปกรณ์สื่อสารทิ้งไว้เพื่อรับข้อมูลเข้ามา การเสพข้อมูลอย่างหนักเช่นนี้จะทำให้สมองทำงานต่อเนื่องตลอดเวลา และข้อมูลที่มากเกินมีผลทำให้สมองสำลักข้อมูลได้ เนื่องจากสมองมีข้อจำกัดในการดูดซับและจัดเก็บข้อมูล หากข้อมูลไหลเข้าสมองต่อเนื่องจะเกิดปัญหาล้นเกิน เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเครียด และเกิดการลัดวงจรของระบบประสาท ในที่สุดจะเสียสมดุลในการจัดการข้อมูล แม้ในเวลาหลับสมองอาจจะยังพยายามจัดการข้อมูลที่ยังค้างติดอยู่

ผลกระทบคือเกิดความเหนื่อยล้า นอนไม่หลับ ปวดมึนศีรษะ มีอาการปั่นป่วนมวนท้อง คลื่นไส้ ผู้ที่ต้องระมัดระวังคือผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง จะทำให้เกิดภาวะหัวใจทำงานหนัก เสี่ยงหัวใจวาย ความดันโลหิตสูงขึ้น เสี่ยงเส้นเลือดแตก กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากขึ้น เสี่ยงเกิดโรคกระเพาะอาหาร ส่วนผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอยู่เดิม อาการจะกำเริบได้ และผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ เช่น หอบหืด อาจทำให้เกิดการเกร็งของทางเดินหายใจ หายใจไม่ออก อาการแย่ลงได้ จึงต้องระมัดระวัง” โฆษก สธ.กล่าว

พญ.พรรณพิมลกล่าวอีกว่า ที่น่าห่วงคือการรับข้อมูลไม่เพียงแต่มากเกินไป ยังเป็นการรับข้อมูลที่ขาดการกลั่นกรองข้อเท็จจริงด้วย อาจจะเป็นการซ้ำเติมให้เกิดความเครียด หากเสพไปนานๆ อาจทำให้กลายเป็นผู้ที่มองโลกในแง่ลบ โดยการเสพติดข้อมูลนั้นเป็นผลมาจากความรู้สึกว่าต้องการข่าวใหม่ๆ เข้ามาเร้าความสนใจตลอดเวลา จนทำให้เกิดอาการอยากสร้างเรื่องที่ธรรมดาให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ น่าสนใจ เช่น การส่งต่อข้อความเดิมๆ ซ้ำๆ จนเกิดความรู้สึกว่าชิ้นข่าวนั้นน่าสนใจ หรืออาจมีการต่อเติมข้อความจากความคิดของตนเอง ให้ข้อมูลธรรมดากลายเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ ปรากฏการณ์แบบนี้ ทำได้ง่ายขึ้นในยุคเทคโนโลยี

พญ.พรรณพิมลกล่าวด้วยว่า การป้องกันข้อมูลล้นสมอง ขอให้ประชาชนจัดแบ่งเวลาในการรับข้อมูลที่พอประมาณ หลีกเลี่ยงการสนทนาการเมือง แบ่งเวลาในการทำกิจกรรมอื่น ทั้งหน้าที่งานประจำ พักผ่อนอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง เพื่อให้ชีวิตเกิดความสมดุล ควรจัดเวลาออกกำลังกายด้วยอย่างน้อยวันละไม่ต่ำกว่า 30 นาที เนื่องจากการออกกำลังกายจะทำให้สมองหลั่งสารแห่งความสุข หรือสารเอนดอร์ฟีน (endorphine) สามารถขจัดความเครียดได้ตามธรรมชาติ ช่วยให้ร่างกายเกิดการผ่อนคลาย และนอนหลับได้ดีขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น