xs
xsm
sm
md
lg

โฆษณาพันธุ์ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แน่นอนว่าดิจิตอลไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่รับรู้กันมาหลายปี แต่เป็น “โจทย์ใหญ่” ขึ้นเรื่อยๆ สำหรับนักโฆษณาและการตลาด ต้องปรับตัวกันสุดชีวิต กับการสร้างตัวเองให้เป็นนักโฆษณา และนักการตลาดพันธุ์ใหม่ ที่พร้อมจะขี่ไปบนคลื่นลูกใหม่นี้ ดูได้จากทุกเวทีงานสัมมนา และงานประกวดโฆษณาไทยที่มี “ดิจิตอล” เป็นโจทย์สำคัญ

ตามหาคำตอบได้จากคนในวงการโฆษณา และการตลาดระดับ “กูรู” ที่สะท้อนแง่คิดอย่างน่าสนใจ จากงานสัมมนา “โฆษณาไทย จากนี้ไปใครจะ Set trend“ จัดโดยสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ที่ได้ชี้ให้เห็นว่า หมดยุคโฆษณาผูกขาดการสร้างเทรนด์ เพราะอิทธิพลของสื่อดิจิตอลได้ทำให้ผู้บริโภคกลายเป็น “เทรนด์เซตเตอร์“

หากจำกันได้ หนังโฆษณา หนอนชาเขียว โฆษณาสมูทอี หรือโฆษณาจนเครียดกินเหล้าของ สสส. หรือหนังโฆษณาเศร้าสุดซึ้งของไทยประกัน หนังโฆษณาเหล่านี้เคยเรียกเสียงหัวเราะและน้ำตา เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ระดับทอล์กออฟเดอะทาวน์

แต่นั่นคืออดีต เมื่อทีวียังเป็นสื่อทางเดียวที่ทรงอิทธิพล เมื่อการมาของเทคโนโลยีส่งผลให้ผู้บริโภคยุคนี้เปลี่ยนพฤติกรรมมาสู่การเสพสื่อหลายทางทั้งสื่อดั้งเดิม ไปพร้อมๆ กับเสพสื่อใหม่ ผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เป็นยุคของ “มัลติสกรีน” หรือ “มัลติแพลตฟอร์ม”

“คนทำโฆษณาวันนี้ต้องพลิกตำรากันใหม่ เมื่อก่อนเราเรียนรู้เรื่องการสร้างหนังให้มีพลัง เพื่อให้คนมารักมาชอบแบรนด์ และซื้อสินค้า ต่อมาก็มีเรื่องของการทำอีเวนต์และพีอาร์ ตามมาด้วยรีเทลมาร์เก็ตติ้ง ชอปเปอร์มาร์เก็ตติ้ง แต่ศาสตร์ใหม่ในวันนี้ คือ เรื่องของโซเชียล ออนไลน์ เป็นเรื่องของการทำแบรนด์เดด เอนเตอร์เทนเมนต์ การสร้างคอนเทนต์ครีเอชั่น เพราะเวลานี้คนไม่ได้เชื่อโฆษณาทีวีอีกต่อไปแล้ว เขาเชื่อเพื่อนในโซเชียลเน็ตเวิร์ก” อ่อนอุษา ลำเลียงพล นายกสมาคมโฆษณาฯ สะท้อนความเห็น

เช่นเดียวกับ สุทธิศักดิ์ สุจริตตานนท์ ประธานและประธานกรรมการบริหารฝ่ายสร้างสรรค์ / บีบีดีโอ กรุงเทพ จำกัด ในฐานะครีเอทีฟไดเรคเตอร์ ที่คร่ำหวอดกับวงการโฆษณามา 30 ปี มองการเปลี่ยนแปลงวงการโฆษณาในรอบ 10 ปี จากหนังโฆษณาทีวีของไทยเคยสร้างผลงานในระดับเวทีโลก หนังโฆษณาที่เคยทรงอิทธิพล วันนี้นักโฆษณาต้องมาทำความเข้าใจกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ใหม่ ผู้บริโภคยุคนี้สมาธิสั้น ทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน อัพเฟซบุ๊ก ดูรูปอินสตาแกรม การทำโฆษณาจึงต้องก้าวให้ทันกับพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคยุคนี้ โดยต้องคิดหลายแพลตฟอร์ม และ “อินทิเกรต” ทุกสื่อเข้าด้วยกัน

“เวลานี้เราจะคิดแบบเดิม เคยทำหนังโฆษณากันปีละ 100 กว่าเรื่อง ทำเสร็จก็ใช้ เงินเรื่องหนึ่งไม่ต่ำกว่า20-30 ล้าน สาดลงไปในแมสมีเดีย เพื่อให้ผู้บริโภคติดหูติดตา มันเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว ไม่มีใครให้เงินเรามาทำแบบนี้อีกแล้ว เพราะผู้บริโภคเวลานี้เขาไม่ได้รับสื่อทางเดียว เวลานี้มีเรื่องของออนไลน์เข้ามา ผู้บริโภคมีทางเลือกเสพสื่อหลายทาง เราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลยว่า ทำไปแล้วผู้บริโภคเขาจะมีผลตอบรับ (รีแอค) กับโฆษณาชิ้นนั้นอย่างไร”

อำนาจอยู่ในมือของผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน อิทธิพลของโซเชียลทำให้เรื่องใดเรื่องหนึ่งฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง แต่เกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ บางกระแส 3 วันก็หายไปแล้ว เช่นเดียวกับโฆษณาทีวี จากในอดีตหนังบางเรื่องที่เคยสร้างทอล์กออฟเดอะทาวน์ กระแสอยู่ได้เป็นเดือน แต่เวลานี้อยู่ได้ 3 วันก็นับว่าเก่งแล้ว เพราะผู้บริโภคในยุคออนไลน์จะเสพข้อมูลจากทุกที่ทุกทาง จึงมีสิ่งใหม่ๆ มาสร้างความสนใจได้ตลอดเวลา

ในมุมของครีเอทีฟ มองว่า ไอเดียยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการคิดงานโฆษณา แต่ต้องปรับวิธีคิดใหม่รองรับกับแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่หลากหลาย และต้องปรับไปสู่การสร้าง “คอนเทนต์” เพื่อให้ผู้บริโภคไปเมนต์ หรือแชร์ต่อ

สังคมไทยต้อง “เดี๋ยวนี้”

ในฐานะของผู้ที่เคยซื้อสื่อรายใหญ่ ธนา เธียรอัจฉริยะ ผู้อำนวยการสถาบัน Academy of Business Creativity มองว่า โฆษณายังคงเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงพลังที่สุด เหมาะกับพฤติกรรมของคนไทยยุคนี้ที่อดทนต่ำ ทุกอย่างต้องตอบสนองทันที ไม่ชอบซับซ้อน ชอบดูอะไรสั้นๆ ยิ่งเมื่ออยู่ในสื่อดิจิตอล ก็ยิ่งตอบสนองความต้องการปัจจุบันทันด่วนได้มากขึ้น

อิทธิพลโซเชียลเน็ตเวิร์ก

อ่อนอุษา มองว่า เทรนด์ที่มาแรงที่สุด คือ โซเชียลเน็ตเวิร์ก คนไทยใช้ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม โหลดสติกเกอร์ไลน์ ดังนั้นการสื่อสารต้องไม่ใช่ทางเดียว หรือแมสคอมมูนิเคชั่น แต่ต้องเป็น “แมสคอนเวอร์เซชั่น” อาจเริ่มจากเล็กๆ จากนั้นถูกบอกต่อ และเกิดเป็นไวรัล

เธอยกตัวอย่าง “คลิปเด็กร้องไห้คิดถึงละครคุณชายแห่งวังจุฑาเทพ อยากให้กลับมาอีก พอสรยุทธ (สุทัศนะจินดา) นำมาออกอากาศ เกิดการบอกต่อ กลายเป็นไวรัลขึ้นมา เปรียบเป็นการสร้างแบรนด์ของละครเรื่องนี้

“เป็นผลมาจากวิถีของออนไลน์ พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เป็นการสื่อสารสองทาง ผู้บริโภคมีการพูดคุยและแชร์กัน การวัดผลของแบรนด์เวลานี้จึงไม่ได้แค่กดไลค์ แต่ต้องวัดผลกันที่การถูกพูดถึง หรือ Talk about และเป็นกลยุทธ์ของแบรนด์ที่ต้องให้คนพูดถึงในด้านบวก จรรยาบรรณเป็นเรื่องสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น