MGR ออนไลน์ - ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีของกัมพูชาเตือนว่าอัตราภาษีนำเข้าใหม่ของสหรัฐฯ ที่ 36% สำหรับสินค้าส่งออกของกัมพูชา อาจขัดขวางแผนการโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน และผลักดันให้กัมพูชาอยู่ใต้อิทธิพลของเวียดนามมากขึ้น
เพ็ง บอริธ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวแคมโบเดียเดลีว่า ความเหลื่อมล้ำของภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่กัมพูชาถูกเรียกเก็บ 36% และเวียดนามถูกเรียกเก็บ 20% มีแนวโน้มที่จะบีบให้การส่งออกของกัมพูชาต้องพึ่งพาเวียดนามเป็นประตูสู่ตลาดอเมริกา และเขายังกล่าวว่ากัมพูชาจะประสบปัญหาในการส่งออกโดยตรง ถึงแม้จะผ่านคลองฟูนันเตโชก็ตาม
เพ็ง บอริธ ระบุว่า ความแตกต่างของภาษีไม่เพียงแต่จะทำให้กัมพูชาเสียเปรียบในการแข่งขันด้านการส่งออกเท่านั้น แต่ยังทำให้สถานะในการแข่งขันในตลาดแรงงานอ่อนแอลงด้วย ด้วยต้นทุนแรงงานของกัมพูชาสูงกว่าเวียดนามอยู่แล้ว และภาษีนำเข้าใหม่นี้จะยิ่งทำให้ช่องว่างดังกล่าวกว้างขึ้น
เขาอธิบายว่าหากกัมพูชาต้องการรักษาการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ด้วยอัตราภาษีที่ต่ำกว่า กัมพูชาอาจจำเป็นต้องนำสินค้าผ่านเข้าเวียดนาม โดยอนุญาตให้บริษัทเวียดนามทำหน้าที่เป็นตัวกลาง แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนน่าจะกำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนาม ที่ได้เปรียบส่วนต่างภาษีถึง 16%
ผู้เชี่ยวชาญยังเตือนอีกว่าหากสหภาพยุโรปตัดสินใจเพิ่มภาษีสินค้าส่งออกของกัมพูชาในปี 2569 จาก 20% เป็น 30% เศรษฐกิจของกัมพูชาอาจได้รับผลกระทบรุนแรงถึง 80%
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ออกจดหมายเกี่ยวกับการปรับแก้อัตราภาษีสำหรับหลายประเทศ รวมถึงกัมพูชา โดยในจดหมายฉบับดังกล่าว เขาประกาศว่าภาษีสินค้าส่งออกของกัมพูชาจะลดลงจาก 49% เหลือ 36% โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นไป
สุน จันทอล รองประธานสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชากล่าวถึงการตัดสินใจดังกล่าวว่าการลดภาษีถือเป็นผลลัพธ์เชิงบวกจากการเจรจาอย่างจริงใจระหว่างกัมพูชาและเจ้าหน้าที่การค้าของสหรัฐฯ และว่าอัตราภาษีใหม่นี้สะท้อนถึงการลดลงถึง 13%
เคซีย์ บาร์เน็ตต์ ประธานหอการค้าอเมริกันในกัมพูชา ได้โพสต์ความเห็นบนเฟซบุ๊กของเขาว่า อัตราภาษีที่ปรับเหลือ 36% ของกัมพูชานี้เป็นผลจากการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของกัมพูชากับตัวแทนการค้าของสหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่ากัมพูชายังคงตามหลังเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามสามารถเข้าถึงสินค้าสหรัฐฯ ได้โดยไม่ต้องเสียภาษี
บาร์เน็ตต์ระบุว่า แม้จะมีการปรับลดภาษี แต่โรงงานบางแห่งในกัมพูชากำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าและภาษีของสหรัฐฯ ที่เอื้อมากกว่า
คุน ธาโร ผู้จัดการโครงการศูนย์พันธมิตรแรงงานและสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าภาษีใหม่ 36% น่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตด้านการส่งออกและแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกัมพูชาในระยะสั้น
เขากล่าวว่าผลกระทบอาจยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ที่ปัจจุบันมีการจ้างงานมากกว่า 1 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบอัตราภาษี 36% กับคู่แข่งทั่วอาเซียน ธาโรเตือนว่ากัมพูชาอาจเผชิญกับความยากลำบากในการรักษาส่วนแบ่งการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ.