เอเอฟพี - คนงานชาวกัมพูชาหยุดพักจากการทำงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ร้อนอบอ้าว พวกเขาต่างรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับงานของพวกเขา หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ขู่ขึ้นภาษี 36%
“ฉันขอร้องให้สหรัฐฯ ลดภาษีลงเพื่อประโยชน์ของคนงานในกัมพูชา” อิม โสเทียริน อายุ 38 ปี กล่าวกับเอเอฟพี ขณะที่เธอพักผ่อนจากการทำงานในโรงงานชุดชั้นในในกรุงพนมเปญ
“ถ้าพวกเขาเรียกเก็บภาษีในอัตราสูง มีแต่คนงานที่จะต้องทุกข์ทรมาน โรงงานหลายแห่งอาจต้องปิดตัว หรือคนงานถูกลดค่าจ้างหรือถูกบังคับให้ทำงานเร็วขึ้น” แม่ลูกสามที่มีรายได้เพียง 300 ดอลลาร์ต่อเดือน กล่าว
กัมพูชา ประเทศผู้ผลิตเสื้อผ้าราคาถูกรายใหญ่สำหรับแบรนด์ตะวันตก เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากมาตรการภาษีตอบโต้ของทรัมป์ที่ประกาศในเดือนเม.ย.
เดิมนั้นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กำหนดภาษีไว้ที่ 49% หากกัมพูชาไม่สามารถทำข้อตกลงกับวอชิงตันได้ และเมื่อวันจันทร์ (7) เขาได้ปรับลดภาษีลงเหลือ 36% และขยายกำหนดเวลาการเจรจาไปจนถึงวันที่ 1 ส.ค.
แม้ว่าภาษีจะต่ำกว่าตัวเลขที่ประกาศไว้ในตอนแรก แต่ก็ไม่ได้ช่วยคลายความกังวลแต่อย่างใด
“หากภาษีสูงขนาดนั้น บริษัทต่างๆ ก็จะไม่มีเงินจ่าย” เสรยมัม คนงานหญิงอายุ 28 ปี ที่กำลังตั้งครรภ์กล่าวขณะซื้อผลไม้ในช่วงพักเที่ยง
“ฉันกังวลว่าเราจะไม่มีงานทำ ฉันต้องการให้ภาษีลดลงมามากกว่านี้” เสรยมัม กล่าว
หัวหน้าคณะเจรจาของกัมพูชาในการเจรจากับวอชิงตัน กล่าวว่าการปรับลดอัตราภาษีที่ถูกเสนอไว้ ซึ่งประกาศในจดหมายที่ส่งถึงประเทศคู่ค้ามากกว่า 10 ประเทศ ถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่
“เราประสบความสำเร็จอย่างมากในการเจรจา เรายังมีโอกาสที่จะเจรจาเพิ่มเติมเพื่อลดภาษีให้ได้มากขึ้น” สุน จันทอล รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงพนมเปญ
แต่เมื่อย้อนกลับไปในเดือนเม.ย. โฆษกกระทรวงพาณิชย์กัมพูชากล่าวกับเอเอฟพีว่า อัตราภาษีที่หนักหน่วงของสหรัฐฯ ต่อประเทศของเขานั้นไม่สมเหตุสมผล
กัมพูชาระบุว่าเมื่อปีที่ผ่านมา กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม
ในขณะที่ผู้เจรจาเร่งบรรลุข้อตกลง กัมพูชาจ่ายภาษีอยู่ที่ 10%
โรงงานหลายแห่งในกัมพูชามีจีนเป็นเจ้าของ ซึ่งก่อนหน้านี้ทำเนียบขาวได้กล่าวหาว่ากัมพูชาอนุญาตให้สินค้าจีนแวะหยุดระหว่างทางไปตลาดสหรัฐฯ เพื่อเลี่ยงอัตราภาษีที่สูงกว่าที่กำหนดใช้กับปักกิ่ง
คนงานอีกรายหนึ่งที่ทำงานในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มมานานกว่า 20 ปี ระบุว่าเธอรู้สึกกังวลว่าอาชีพนี้อาจสิ้นสุดลง หากกัมพูชาไม่สามารถบรรเทาผลกระทบที่สหรัฐฯ ขู่ไว้ได้
“ฉันกลัวว่าภาษีที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบกับโรงงานและจะทำให้คนงานมีงานทำน้อยลง จากนั้นค่าจ้างก็จะลดลงและไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้” คนงานอายุ 47 ปี กล่าว.