ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุกรณีที่ไทยโดนภาษีนำเข้าสหรัฐฯในอัตรา 36% สูงกว่าประเทศเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตามหากไทยโดนภาษีที่ 36% ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเสียตลาดสหรัฐฯ ให้กับประเทศในภูมิภาคที่ได้รับภาษีต่ำกว่า และยังต้องติดตามผลกระทบจากภาษีรายอุตสาหกรรมตามมาตรา 232 ที่จะส่งผลกระทบเพิ่มเติม โดยอัตราภาษีนำเข้า 36% จะส่งผลให้การส่งออกไทยปี 2568 คาดว่าจะหดตัวลึกในช่วงครึ่งปีหลัง และมีความเสี่ยงที่ GDP ปี 2568 จะโตต่ำกว่า 1.4%
ขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะชะลอลงกว่าเดิม โดยอัตราภาษีนำเข้า 36% ที่ไทยถูกเรียกเก็บยังจะสูงกว่าหลายประเทศคู่แข่ง ส่งผลให้สินค้าไทยมีแนวโน้มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าหม้อแปลงไฟฟ้า ปริ้นเตอร์ เครื่องปรับอากาศ ปลาและกุ้งแปรรูป เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การ re-export ไปยังตลาดสหรัฐฯ ผ่านประเทศไทย โดยมีการใช้ local content ต่ำ มีแนวโน้มจะชะลอลงไปด้วย โดยเฉพาะสินค้าเครื่องจักรกลที่เห็นการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กับการส่งออกไปสหรัฐฯ สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้การนำเข้าสินค้าที่ใช้ไทยเป็นทางผ่านก็จะชะลอลงเช่นกัน
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าหลายประเทศในภูมิภาคยิ่งซ้ำเติมการส่งออก โดยค่าเงินบาทแข็งค่าจากระดับต้นปีที่ราว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 32.50 บาท ณ วันที่ 7 ก.ค. 2568 หรือแข็งค่าไปแล้วราว 5%YTD นับตั้งแต่ต้นปี ซึ่งเป็นอีกปัจจัยกดดันต่อความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทย
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการเจรจาของไทยหลังจากนี้ รวมถึงการเจรจาสหรัฐฯ - จีน หลังครบ 90 วันโดยอัตราภาษีฯ ที่ 36% ยังสามารถเจรจาได้ ขึ้นกับเงื่อนไขการค้าและที่ไม่ใช่การค้าที่สหรัฐฯ ยอมรับ โดยมีการระบุข้อความจากประธานาธิบดีทรัมป์ว่า "หากประเทศต่าง ๆ เปิดตลาดของตนเอง เราอาจพิจารณาปรับเปลี่ยนภาษีเหล่านี้ อาจมีการแก้ไขได้ ทั้งเพิ่มขึ้นหรือลดลง ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของเรากับประเทศของคุณ" ซึ่งหากการเจรจาระหว่างไทย-สหรัฐฯ เดินหน้าต่อไป ข้อตกลงสุดท้ายอาจจะต้องมีการเปิดตลาดสินค้าสหรัฐฯมากขึ้น รวมถึงข้อตกลงที่ไม่ใช่ภาษีอื่นๆ ซึ่งต้องมีการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม