xs
xsm
sm
md
lg

พม่าส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - แหล่งข่าวทางการทูตเผยว่าพม่าจะส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดระดับภูมิภาคเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีในสัปดาห์นี้ ขณะที่กองทัพกำลังดิ้นรนเพื่อยุติสงครามกลางเมือง

ความขัดแย้งดังกล่าวจะเป็นหัวข้อสำคัญในวาระการประชุม ขณะที่ผู้นำจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) พบหารือกันในลาวตั้งแต่วันพุธ (9) แม้ว่าความพยายามกว่า 3 ปี ในการหาทางออกทางการทูตต่อวิกฤตดังกล่าวจะไม่ส่งผลใดๆ ก็ตาม

อาเซียนห้ามผู้นำรัฐบาลทหารของพม่าเข้าร่วมการประชุมสุดยอด หลังเกิดการรัฐประหารในเดือน ก.พ.2564 และนายพลปฏิเสธที่จะส่งผู้แทนที่ไม่เกี่ยวข้องทางการเมืองมาแทน

อย่างไรก็ตาม พม่าที่เป็นหนึ่งใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศในฐานะผู้แทนเข้าร่วมการประชุมเป็นเวลา 3 วัน ที่นครหลวงเวียงจันทน์ นักการทูตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมดังกล่าวเปิดเผยกับเอเอฟพี

หลายสัปดาห์หลังยึดอำนาจ รัฐบาลทหารเห็นพ้องกับแผนฉันทมติ 5 ข้อ ที่มีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูสันติภาพ แต่ต่อมากลับเพิกเฉยต่อแผนดังกล่าวและดำเนินการปราบปรามผู้เห็นต่างและฝ่ายต่อต้านการปกครองของตนอย่างนองเลือด

“สิ่งสำคัญคือดูเหมือนว่าพวกเขากำลังยอมรับฉันทมติ 5 ข้อ พวกเขาอาจคิดว่าเป็นการดีกว่าถ้าเสียงของพวกเขาได้รับการรับฟังมากกว่าที่จะอยู่ข้างนอก” นักการทูตกล่าวกับเอเอฟพี

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนฉุกเฉินว่าด้วยวิกฤตในเดือน เม.ย.2564 แต่กลุ่มปฏิเสธที่จะเชิญเขาเข้าร่วมการประชุมตามปกตินับตั้งแต่นั้นมา

อ่อง จ่อ โม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของพม่า เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในวันอังคาร (8) ก่อนการประชุมสุดยอดหลัก แต่ปฏิเสธที่จะตอบคำถามผู้สื่อข่าว

การส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมเกิดขึ้น 2 สัปดาห์หลังจากกองทัพออกคำเชิญที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนไปยังฝ่ายตรงข้ามของพวกเขา เพื่อเจรจายุติความขัดแย้ง ที่ทำให้ประชาชนหลายพันคนเสียชีวิต และหลายล้านคนต้องอพยพออกจากบ้านของตนเอง

รัฐบาลทหารเผชิญกับความพ่ายแพ้ในสนามรบต่อกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์และกองกำลังพิทักษ์ประชาชนสนับสนุนประชาธิปไตย ที่ลุกขึ้นต่อต้านการรัฐประหาร

อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาเกี่ยวกับความขัดแย้งในพม่าเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยมีอาเซียน สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ เข้าร่วม รวมถึงกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารอีกจำนวนหนึ่ง

มาเลเซียจะรับหน้าที่ประธานอาเซียนหลังจากการประชุมสุดยอดครั้งนี้ และรัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียกล่าวว่า การพบหารือที่จาการ์ตาแสดงให้เห็นว่าทุกฝ่ายในพม่าต้องมีส่วนร่วมในการเจรจา

“สิ่งที่ได้คือเราต้องเข้าถึงทุกคนในพม่า และพม่าก็ต้องรับฟังอาเซียนด้วย” โมฮัมหมัด ฮาซัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียกล่าวกับผู้สื่อข่าวในเวียงจันทน์

อาเซียนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มายาวนานว่าเป็นเวทีพูดคุยไร้เขี้ยวเล็บที่ไม่สามารถดำเนินการอย่างชัดเจนหนักแน่นได้เนื่องจากหลักการของการตัดสินใจโดยฉันทมติของกลุ่มแทบไม่มีความคืบหน้าในความพยายามที่จะแก้ไขวิกฤตพม่า

วิกฤตพม่ากลายเป็นวาระสำคัญของการประชุมระดับสูงทุกครั้งนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร แต่กลุ่มภูมิภาคมีความเห็นแตกแยกกัน โดยอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นผู้นำในการเรียกร้องให้มีการดำเนินการที่เข้มงวดขึ้นกับนายพล

ส่วนไทย เพื่อนบ้านของพม่าเรียกร้องให้อาเซียนตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เลขาธิการอาเซียนกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ไทยจะจัดการเจรจาหารืออย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับวิกฤตพม่าในเดือน ธ.ค. โดยมีประเทศอดีต ปัจจุบัน และอนาคตประธานอาเซียน ซึ่งก็คืออินโดนีเซีย ลาว และมาเลเซีย เข้าร่วมด้วย

“นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่าการประชุมครั้งใหม่ที่จะทบทวนสถานการณ์ในพม่าเพื่อดูว่าสามารถทำอะไรได้อีก” เลขาธิการอาเซียน กล่าว

จีน เพื่อนบ้านและพันธมิตรสำคัญของพม่า ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอด

ปักกิ่งวิตกกังวลมากขึ้นต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่หน้าประตูบ้านของตนเองและต้องการเห็นข้อตกลง และเรียกร้องความปรองดองของประชาชนชาวพม่าทุกคน

ทะเลจีนใต้จะเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญสำหรับผู้นำ หลังการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงนานหลายเดือนระหว่างเรือจีนและฟิลิปปินส์ในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาท

ปักกิ่งอ้างสิทธิเกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ และปฏิเสธการอ้างสิทธิของหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งฟิลิปปินส์ และคำตัดสินของนานาชาติที่ระบุว่าการอ้างสิทธิของจีนไม่มีพื้นฐานทางกฎหมาย

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นจะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย รวมถึงนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย และผู้นำจากเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และแคนาดา.
กำลังโหลดความคิดเห็น