xs
xsm
sm
md
lg

บายแล้วหนึ่ง! ‘อินเดีย’ ประกาศไม่ร่วมวิสัยทัศน์สร้าง ‘นาโตเอเชีย’ ของผู้นำญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินเดียระบุวานนี้ (1 ต.ค.) ว่า แดนภารตะไม่ได้ร่วมแชร์วิสัยทัศน์ในการสร้าง “นาโตเอเชีย” ตามที่นายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ ผู้นำญี่ปุ่นคนใหม่ได้เสนอขึ้นมา

ระหว่างร่วมปาฐกถาในงานอีเวนต์ซึ่งจัดโดยมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพสากล (Carnegie Endowment for International Peace) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สุพรหมณยัม ชัยศังกร รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินเดียระบุว่า อินเดียไม่เคยร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญากลาโหมกับประเทศอื่น

“เราไม่มีมุมมองเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเชิงยุทธศาสตร์ในลักษณะนั้น” ชัยศังกร ตอบเมื่อถูกถามถึงวิสัยทัศน์ของ อิชิบะ ในการตั้งกลุ่มพันธมิตรกลาโหมคล้ายๆ กับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ขึ้นในภูมิภาคเอเชีย

ปัจจุบันอินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มประเทศ Quad ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการต่อต้านอิทธิพลของจีน

ชัยศังกร ซึ่งได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และมีกำหนดเข้าพบรัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน รวมถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เคิร์ต แคมป์เบลล์ ของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (1) ยังกล่าวด้วยว่า “เรามี... ประวัติศาสตร์ที่แตกต่าง และแนวทางที่แตกต่างกัน”

อิชิบะ แถลงวานนี้ (1) ว่า เขาต้องการที่จะกระชับความสัมพันธ์กับบรรดาชาติที่เป็นมิตรกับญี่ปุ่น เพื่อร่วมกันต่อต้านภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

นายกฯ ผู้นี้เสนอให้มีการตั้งกลุ่มพันธมิตร “นาโตเอเชีย” และยังเสนอให้มีการส่งทหารญี่ปุ่นเข้าประจำการในดินแดนสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งแชร์การควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ของวอชิงตัน เพื่อส่งสัญญาณป้องปรามไปยังเพื่อนบ้านคู่อริที่เป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ อย่างเช่น จีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ

อิชิบะ ชี้ว่า ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะทำให้จีนไม่กล้าใช้กำลังทหารข่มขู่เพื่อนบ้านในเอเชีย

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงมีท่าที “ไม่เอาด้วย” กับวิสัยทัศน์ดังกล่าว

เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว เคยกล่าวไว้เมื่อปีที่แล้วว่า วอชิงตันไม่มีแนวคิดที่จะสร้างกลุ่มพันธมิตรแบบนาโตขึ้นในอินโด-แปซิฟิก และในเดือนนี้ แดเนียล คริเทนบริงก์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ก็ออกมาย้ำว่า “เร็วเกินไป” ที่จะพูดเรื่องดังกล่าว

อิชิบะ ยังเอ่ยในงานแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า (27 ก.ย.) “พลังอำนาจของสหรัฐฯ ที่ลดลง” ทำให้การก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาเอเชียมีความจำเป็น

ย้อนไปเมื่อวันที่ 21 ก.ย. นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ได้ร่วมประชุมซัมมิตกลุ่ม Quad กับประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ผู้นำญี่ปุ่นในขณะนั้น และนายกรัฐมนตรี แอนโทนี อัลบานีส แห่งออสเตรเลีย ซึ่งทั้ง 4 ชาติได้มีการประกาศมาตรการด้านความมั่นคงร่วมภายในน่านน้ำเอเชียเพื่อรับมือความท้าทายจากจีน

อย่างไรก็ตาม แม้ Quad จะเริ่มมีบทบาทในด้านความมั่นคงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่รัฐบาลอินเดียยังคงย้ำเตือนว่ามันไม่ได้ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลุ่มพันธมิตรด้านการทหาร (military alliance)

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น